4 ปีที่ผ่านมาต้นทุนแรงงานจีนเพิ่มร้อยละ 60 แซงไทยและมาเลเซีย
16 May 2013เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 56 หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจญี่ปุ่น (Nihon Keizai Shimbun) รายงานว่า ผลสำรวจจากองค์กรการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization หรือ JETRO) ชี้ว่า ต้นทุนแรงงานเฉลี่ยของบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินการธุรกิจในจีนมีการเพิ่มร้อยละ 60 ในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าต้นทุนในไทยและมาเลเซีย และได้กลายเป็นประเทศที่มีต้นทุนแรงงานสูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย
โดยการสำรวจครั้งนี้ดำเนินการในบริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก และได้มีการคำนวณต้นทุนแรงงานเฉลี่ยต่อปีจากค่าจ้างพื้นฐาน ค่าประกันสังคม ค่าล่วงเวลาและเงินโบนัสของลูกจ้าง ผลสรุปว่า ต้นทุนแรงงานของจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 6,734 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคนต่อปี ในปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 จาก 4 ปีก่อน ซึ่งทำให้ต้นทุนแรงงานของจีนมากกว่าไทยและมาเลเซียในปัจจุบัน ในปี 2552 ต้นทุนแรงงานในไทยและมาเลเซียอยู่ที่ 4,449 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคนต่อปี และ 4,197 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคนต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ต้นทุนแรงงานของจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2552 อยู่ที่ 4,107 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคนต่อปี
ผลสำรวจชี้ว่า แม้ว่าต้นทุนแรงงานของจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบันยังต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ สิงค์โป และฮ่องกง แต่สำหรับบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย ต้นทุนแรงงานของจีนในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งปัจจุบันต้นทุนแรงงานในเวียดนามอยู่ที่ 2,602 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคนต่อปี เท่ากับร้อยละ 40 ของจีนแผ่นดินใหญ่ และต้นทุนแรงงานในบังคลาเทศและพม่าอยู่ที่เพียงราว 1000 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับร้อยละ 20 ของจีนแผ่นดินใหญ่
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของบริโภคเนื่องจากต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นในจีน ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับบริษัทประสงค์ที่จะเจาะตลาดการบริโภคภายในของจีน แต่ขณะเดียวกัน ความได้เปรียบที่เป็นฐานการผลิตและการแปรรูปของจีนอาจลดลง ซึ่งบริษัทข้ามชาติต่างๆ อาจย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศเวียดนามและพม่า เพื่อแสวงหาต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่า โดยผลสำรวจจาก JETRO ชี้ว่า บริษัทญี่ปุ่นที่มีแผนขยายธุรกิจในจีนใน 1 – 2 ปีข้างหน้ามีสัดส่วนร้อยละ 52.3 ลดลงร้อยละ 9.6 เทียบกับ 3 ปีก่อน และต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 57.8 นักธุรกิจที่กำลังคิดจะย้ายฐานการผลิตมาที่จีน เพราะยังติดกับความคิดเดิมๆ ว่าต้นทุนค่าแรงของจีนต่ำอาจต้องเปลี่ยนความคิดใหม่กันแล้ว