โฆษณาบนรถไฟฟ้าใต้ดิน โอกาสการทำตลาดรูปแบบใหม่ในนครหนานหนิง
13 Nov 2020ไฮไลท์
- รถไฟฟ้าใต้ดินสาย 4 และส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดินสาย 2 ผ่านการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยก่อนเปิดให้บริการจริงแล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ภายในปลายปี 2563 หลังเปิดให้บริการ นครหนานหนิงจะมีรถไฟฟ้าใต้ดินวิ่งให้บริการรวมระยะทาง 108.2 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 87 สถานี ในจำนวนนี้ เป็นสถานีเปลี่ยนสายรถไฟ 9 สถานี
- หนังสือ Blue Book ปี 2562 ชี้ว่า รถไฟฟ้าใต้ดินในนครหนานหนิงมีปริมาณผู้โดยสารต่อวันหนาแน่นมากเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศจีน แซงหน้าเมืองขนาดใหญ่อย่างนครอู่ฮั่น นครหนานจิง นครฉางซา และนครฉงชิ่ง ปริมาณผู้โดยสารต่อวันเฉลี่ย 5.1 แสนคนครั้ง (เคยทำสถิติสูงสุด 1.16 ล้านคนครั้งต่อวัน) ซึ่งการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินมีสัดส่วน 41% ของการใช้ระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด
- ด้วยเหตุนี้ “สื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าใต้ดิน” ทั้งในตัวสถานีและในขบวนรถได้กลายเป็น “สื่อทางเลือก” ที่เจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าไทยสามารถใช้ประโยชน์ในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า เพราะเข้าถึงกลุ่มคนหมู่มากได้อย่างรวดเร็ว และเป็นโอกาสสำหรับมีเดียเอเจนซีไทยในการพัฒนาความร่วมมือและขยายตลาดโฆษณาร่วมกันมีเดียเอเจนซีท้องถิ่น โดยชูจุดแข็งด้านหัวคิดครีเอทีฟในการสร้างเนื้อหาโฆษณาที่แปลก แหวกแนว ทันสมัย และน่าดึงดูดของไทยได้อีกด้วย
รถไฟฟ้าใต้ดินสาย 4 และส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดินสาย 2 ของนครหนานหนิง พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว หลังผ่านการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของระบบรถไฟฟ้าใต้ดินก่อนเปิดให้บริการจริงเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ภายในปลายปี 2563
รถไฟฟ้าใต้ดินสาย 4 เป็นเส้นทางที่วิ่งให้บริการทางฝั่งทิศใต้ของนครหนานหนิง โดยเฉพาะเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง (Wuxiang New District) พื้นที่ที่รัฐบาลมณฑลกำลังพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของนครหนานหนิง/มณฑล โดยรัฐบาลได้โยกย้ายหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาชั้นนำ สถานพยาบาลที่ทันสมัย ห้างร้านขนาดใหญ่ พร้อมทั้งย่านธุรกิจชั้นนำ (CBD) ย่านที่พักอาศัย และระบบผังเมืองที่ทันสมัยเข้าไปไว้อย่างครบครันแล้ว
รถไฟฟ้าใต้ดินสาย 4 วิ่งเชื่อมฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกของนครหนานหนิง (คู่ขนานกับรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 1) โดยใช้ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นรถไฟที่วิ่งใต้ดินตลอดเส้นทาง มีระยะทาง 24.6 กิโลเมตร มีสถานีบริการทั้งหมด 19 สถานี เป็นสถานีเปลี่ยนสายรถไฟ (Interchange station) 3 สถานี เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนไปใช้เส้นทางรถไฟใต้ดินสาย 2 และสาย 3 ที่เปิดให้บริการแล้ว และสาย 5 ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ใช้เงินลงทุนรวม 17,300 ล้านหยวน
ขณะที่ส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดินสาย 2 ฝั่งตะวันออก ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร จำนวน 5 สถานี (เป็นสถานีเปลี่ยนสายรถไฟ 1 สถานี เชื่อมกันรถไฟใต้ดินสาย 3) ใช้เงินลงทุน 4,898 ล้านหยวน เป็นส่วนต่อขยายเพื่อเชื่อมพื้นที่ฝั่งตะวันตกของนครหนานหนิงกับพื้นที่ “เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง”
หลังจากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 4 และส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดินสาย 2 แล้ว นครหนานหนิงจะมีรถไฟฟ้าใต้ดินวิ่งให้บริการรวมระยะทาง 108.2 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 87 สถานี ในจำนวนนี้ เป็นสถานีเปลี่ยนสายรถไฟ 9 สถานี
นอกจากนี้ นครหนานหนิงกำลังเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 5 ที่วางแผนเปิดให้บริการในปี 2564 โดยรถไฟฟ้าสายนี้มีระยะทาง 20.2 กิโลเมตร 16 สถานี ใช้เงินลงทุนรวม 16,400 ล้านหยวน วิ่งให้บริการระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือกับตะวันตกเฉียงใต้ของนครหนานหนิง เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินไร้คนขับสายแรกของนครหนานหนิง
ปัจจุบัน การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากความสะดวกสบายในการเดินทาง ตรงต่อเวลา วิ่งผ่านจุด/สถานที่สำคัญ มีค่าใช้จ่ายที่ย่อมเยา (ตั้งแต่ 2-6 หยวน) ทันสมัย สามารถเลือกชำระค่าเดินทางได้หลายวิธี ทั้งบัตรโดยสารทั่วไป (บัตรเติมเงินและตู้แลกเหรียญโดยสาร) การสแกนใบหน้าและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หนังสือ Blue book เรื่องการพัฒนาพื้นที่ใต้ดินของเมืองในประเทศจีน ประจำปี 2562 ชี้ว่า ปริมาณผู้โดยสารต่อวันของรถไฟฟ้าใต้ดินนครหนานหนิงมีความหนาแน่นมากเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศจีน แซงหน้าเมืองขนาดใหญ่อย่างนครอู่ฮั่น นครหนานจิง นครฉางซา และนครฉงชิ่ง มีปริมาณผู้โดยสารสะสมมากกว่า 649 ล้านคน/ครั้ง ปริมาณผู้โดยสารต่อวันเฉลี่ย 5.1 แสนคน/ครั้ง (เคยทำสถิติสูงสุด 1.16 ล้านคนครั้งต่อวัน) การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินมีสัดส่วน 41% ของการใช้ระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมใช้รถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อการเดินทางของชาวนครหนานหนิง
ด้วยเหตุนี้ “สื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าใต้ดิน” ทั้งในตัวสถานีและในขบวนรถได้กลายเป็น “สื่อทางเลือก” ที่เจ้าของผลิตภัณฑ์และมีเดียเอเจนซีต่างให้ความสนใจและหันมาใช้สื่อประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักการตลาดมองว่าการทำสื่อโฆษณาดังกล่าวมีประสิทธิภาพและสามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้รวดเร็วที่สุด
ในแวดวงการตลาด แม้ว่า “สื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าใต้ดิน” จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับประเทศไทย แต่สำหรับเมืองเกิดใหม่ที่วิถีชีวิตของผู้คนกำลังเปลี่ยนอย่างนครหนานหนิง (และอีกหลายๆ เมืองในประเทศจีน) จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้รถไฟฟ้าใต้ดินเป็นอีกช่องทางทางเลือกหนึ่งในการประชาสัมพันธ์สินค้าไทย
นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของมีเดียเอเจนซีไทยในการพัฒนาความร่วมมือและขยายตลาดโฆษณาร่วมกันมีเดียเอเจนซีท้องถิ่น โดยชูจุดแข็งด้านหัวคิดครีเอทีฟในการสร้างเนื้อหาโฆษณาที่แปลก แหวกแนว ทันสมัย และน่าดึงดูดของไทย ผ่านรูปแบบสื่อโฆษณาต่างๆ เช่น ดิจิทัลมีเดีย ป็อปอัปโฆษณา จอโฆษณา โปสเตอร์หรือสติกเกอร์ที่บันไดขึ้น-ลง (Sticker Stair Step) สติกเกอร์บนพื้นสถานี (Sticker Floor Wrap) พื้นผนังทางเดินและในตัวสถานี กระจกรถไฟฟ้า และในตัวรถไฟฟ้า
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563
เว็บไซต์ www.nanning.gov.cn (南宁人民政府网) วันที่ 7 มิถุนายน 2563