เผย!! 3 ปัญหาคาใจต่างชาติในเซี่ยงไฮ้.. ธุรกิจไทยน่าเก็บเอาไปคิด
26 Jun 2013เป็นที่ทราบกันดีว่า เสน่ห์ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาเซี่ยงไฮ้ ได้แก่ ศักยภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โอกาสทางด้านหน้าที่การงาน ระบบความปลอดภัยในที่สาธารณะ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สีสันของชีวิตในด้านอาหารการกิน ฯลฯ ทว่า ในความน่าหลงใหลได้สอดแทรกเสียงสะท้อนของต่างชาติถึงปัญหาที่เซี่ยงไฮ้ยังคงมีอยู่
ที่มาภาพ www.diariodocentrodomundo.com.br
ต่างชาติยืนยัน.. ปัญหาสำคัญของเซี่ยงไฮ้ยังมี
ข้อมูลจากการสุ่มสำรวจข้อคิดเห็นของชาวต่างชาติช่วงอายุ 14 – 45 ที่พักอาศัยในเซี่ยงไฮ้มากกว่า 6 เดือนขึ้นไปจำนวน 220 ฉบับจาก นสพ. Oriental Morning Post พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตกและอยู่ในวัยทำงาน (อายุ 18 – 35 ปี) โดยชาวต่างชาติส่วนมากเห็นว่า ถึงแม้เซี่ยงไฮ้จะเป็นมหานครระดับนานาชาติที่มีจุดเด่นดึงดูดต่างชาติในหลายๆ ด้าน เช่น สภาพเศรษฐกิจที่พัฒนา สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น แต่ก็ยังคงมีปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในเซี่ยงไฮ้ และเป็นประเด็นที่ต่างชาติต้องการให้รัฐบาลช่วยปรับปรุงแก้ไข ซึ่งได้แก่
1) การสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งสามารถเห็นได้จากเจ้าหน้าที่หน่วยงานบริการด้านสาธารณะให้กับชาวต่างชาติโดยทั่วไปมีระดับมาตรฐานและความสามารถด้านภาษาต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ ตลอดจน
เว็บไซต์ของภาครัฐท้องถิ่นจำนวนมากยังไม่มีฉบับภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ แม้ว่าบางเว็บไซต์จะมีภาษาอังกฤษแล้ว แต่ก็มีเนื้อหาค่อนข้างน้อยและขาดการปรับปรุงอัพเดทอย่างสม่ำเสมอ
2) ค่าครองชีพสูงเกินไป ซึ่งสามารถเห็นได้จากค่าที่พักอาศัยที่ค่อนข้างสูง (สูงเป็นอันดับ 2 รองจากปักกิ่ง) ค่ารักษาพยาบาลแพง ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา (ค่าเล่าเรียน) สูงที่สุดในจีน
3) สภาพแวดล้อมทั่วไปบางส่วนมีคุณภาพค่อนข้างแย่ เช่น บริการสาธารณะของเจ้าหน้าที่ภาครัฐมีมาตรฐานค่อนข้างต่ำ คุณภาพด้านมารยาททางสังคมของพลเมืองยังค่อนข้างแย่ ระเบียบเกี่ยวกับการจราจรในเขตเมืองไม่สมเหตุผลมากนัก และคุณภาพอากาศในเมืองค่อนข้างแย่ เป็นต้น
อุปสรรคท้าทายรัฐบาลเซี่ยงไฮ้.. ธุรกิจไทยน่าจับตามอง
จากผลสำรวจข้อคิดเห็นของต่างชาติข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายของภาครัฐเซี่ยงไฮ้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของชาวต่างชาติยังมีไม่สมบูรณ์พร้อมในบางส่วน โดยเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับมหานครระดับนานาชาติของประเทศอื่นๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ที่หวังจะบรรลุเป้าหมาย 4 ศูนย์กลางนานาชาติของจีนที่เคยตั้งไว้ (เศรษฐกิจ การค้า การเงิน และการขนส่งทางน้ำ)
ทั้งนี้ การดึงดูดธุรกิจต่างชาติให้เข้ามาช่วยผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ คงไม่สามารถพิจารณาเฉพาะสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนหรือการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ปัจจัยที่สืบเนื่องกับการใช้ชีวิตของชาวต่างชาติก็เป็นประเด็นที่ภาครัฐเซี่ยงไฮ้ควรเร่งปรับปรุงแก้ไขด้วย เช่น การยกระดับระบบการทำงานและความสามารถของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการชาวต่างชาติ การปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องความเป็นระบบระเบียบด้านมารยาททางสังคมของพลเมือง เป็นต้น
สำหรับเสียงสะท้อนของกลุ่มชาวต่างชาติเรื่องปัญหาในเซี่ยงไฮ้นั้น ล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจไทยควรจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องค่าครองชีพที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของจีน ซึ่งปัจจุบันเซี่ยงไฮ้นอกจากจะมีอัตราการแข่งขันทางธุรกิจสูงแล้ว และต้นทุนการประกอบธุรกิจยังสูงด้วยเช่นกัน (อัตราค่าแรงงานขั้นต่ำสูงที่สุดในจีนเท่ากับเดือนละ 1,620 หยวน) ธุรกิจไทยที่สนใจเข้าลงทุนในเซี่ยงไฮ้จึงควรมีพื้นฐานทางธุรกิจที่เข้มแข็งและเงินทุนมากพอในระดับหนึ่ง พร้อมทั้งติดตามพัฒนาการเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติของรัฐบาลเซี่ยงไฮ้อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลเพิ่มเติม
(1) ปัจจุบัน มีคนจากนอกจีนแผ่นเดินใหญ่พักอาศัยในเซี่ยงไฮ้มากกว่า 200,000 คน โดยแบ่งเป็นบุคคลต่างชาติที่มีการขึ้นทะเบียนพำนักในเซี่ยงไฮ้รวม 143,200 คน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 ของทุกพื้นที่ในจีน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคนท้องถิ่นในเซี่ยงไฮ้พบว่า ทุกๆ 1,000 คนจะมีคนที่มาจากนอกจีนแผ่นดินใหญ่ 9 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ของจีน
(2) “The Economist Magazine” นิตยสารเศรษฐกิจของอังกฤษเผยผลสำรวจการจัดอันดับค่าครองชีพของเมืองต่างๆ ทั่วโลกประจำปี 2555 ว่า เซี่ยงไฮ้มีอัตราค่าครองชีพสูงกว่านิวยอร์กและปักกิ่ง (เซี่ยงไฮ้อันดับ 42 / นิวยอร์กอันดับ 47 / ปักกิ่งอันดับ 59)
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จะดีใจหรือเสียใจ? เมื่อค่าแรงงานในเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นแล้ว (อัตราสูงสุดในจีน)
——————————————–
จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง :
1) นสพ. Oriental Morning Post(东方早报)ฉบับวันที่ 25 มิ.ย. 2556 หัวข้อ“在沪外籍青年的生存与发展情况”
2) เว็บไซต์ www.8zh.net หัวข้อ“当上海的生活成本高过纽约”วันที่ 3 ม.ค. 2556