หมอกควันมลพิษกับความมืดมัวของเศรษฐกิจจีน

16 Jan 2013

ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.56 พื้นที่หลายแห่งทางภาคเหนือและภาคกลางของจีนได้ประสบภาวะหมอกควันหนาปกคลุมเมืองติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงปักกิ่งและนครสือเจียจวงของมณฑลเหอเป่ยเกิดปัญหามลภาวะทางอากาศเป็นพิษในระดับที่เป็นอันตราย เทศบาลกรุงปักกิ่งและนครสือเจียจวงได้ออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยนักวิเคราะห์เตือนว่ามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นรวมทั้งมาตรการฉุกเฉินเพื่อลดปัญหามลพิษของกรุงปักกิ่งและนครสือเจียจวงจะทำลายเศรษฐกิจและธุรกิจการท่องเที่ยวของพื้นที่ทั้ง 2 แห่งนี้

ทางการกรุงปักกิ่งได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งสั่งให้โรงงานอุตสาหกรรม 58 แห่งที่มีการปล่อยควันพิษในปริมาณสูงจะต้องลดการปล่อยลงให้ได้ร้อยละ 30 และระงับการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง ยุติการผลิตในโรงงานฮุนไดในกรุงปักกิ่งเป็นเวลา 1 วัน รวมถึงปิดโรงงานซีเมนต์และโรงงานด้านเคมี การหลอมโลหะและอุปกรณ์การก่อสร้าง เป็นต้น ทางการนครสือเจียจวงก็ได้ดำเนินมาตรการใกล้เคียงกัน อาทิ ระงับการก่อสร้างกว่า 700 จุด

อนึ่ง โรงเรียนหลายแห่งในกรุงปักกิ่งต้องยกเลิกกิจกรรมกลางแจ้ง หน่วยงานราชการกำหนดให้ลดการใช้รถยนต์ลงร้อยละ 30 ขณะที่มีรายงานว่า มีการยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศและภายในประเทศที่จะมาลงที่สนามบินนานาชาติปักกิ่งอย่างน้อย 25 เที่ยวบิน วิกฤติหมอกพิษยังส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินที่ไปยังมณฑลเหอเป่ย หูหนาน หยุนหนาน กุ้ยโจว เจ้อเจียง เจียงซู จี๋หลิน เฮยหลงเจียง และเสฉวน โดยสนามบินบางแห่งมีระยะมองเห็นเพียงประมาณ 100 เมตรเท่านั้น

เมื่อวันที่ 12 ม.ค.56 ทางการจีนได้ประกาศตัวเลขระดับของฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่พุ่งสูงถึง 900 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นับว่าเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ทางการกรุงปักกิ่งเริ่มเปิดเผยตัวเลขฝุ่นละอองขนาดเล็กเมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าระดับ 25 ไมโครกรัมซึ่งเป็นระดับที่องกรค์อนามัยโลกระบุเป็นมาตรฐานที่ปลอดภัยต่อสุขภาพกว่าหลายสิบเท่า

การปล่อยมลพิษจากการเผาถ่านหินและรถยนต์เป็นเหตุผลหลักของมลภาวะครั้งนี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่า ปัญหามลพิษและมาตรการแก้ไขปัญหาของกรุงปักกิ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจการท่องเที่ยวของกรุงปักกิ่ง อาทิ ความผันผวนในตลาดการเงิน การระงับหรือเลื่อนโครงสร้างการก่อสร้าง เป็นต้น อีกทั้ง ภาพลักษณ์ของกรุงปักกิ่งก็จะได้รับผลกระทบด้วย

เหตุการณ์ครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของจีนมีความจำเป็นและความเร่งด่วนเป็นอย่างมาก เชื่อว่าหลังจากบทเรียนนี้ รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยอาจมีมาตรการเร่งรัดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ละทิ้งอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมากและปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี สำหรับท่านที่กำลังประกอบธุรกิจในจีน อาจต้องคอยติดตามและปรับตัวให้ทันกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของจีนด้วยนะคะ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน