“วิถีชีวิตบนปลายนิ้ว” การบริโภคสารสนเทศของชาวจีนเติบโต 10,000 ล้านหยวนต่อปี
5 Apr 2013ปัจจุบัน การใช้โปรแกรม Weibo และ Wechat ในการติดต่อสื่อสารกลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของชาวจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รูปแบบการใช้บริการด้านสารสนเทศของชาวจีนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก การรับส่งอีเมลล์ สื่อสังคมออนไลน์และธุรกิจออนไลน์ได้พัฒนากลายเป็นรูปแบบการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญที่สุด ขณะที่ Mobile Internet ก็ได้กลายมาเป็นช่องทางยอดฮิตในการเข้าถึงบริการต่างๆในโลกออนไลน์ พร้อมทั้งยังช่วยกระตุ้นความต้องการการบริโภคของตลาดภายในของจีน
ยกตัวอย่างเช่น วิถีชีวิตของนางหวัง สุภาพสตรีอายุ 50 ปีที่ทำงานในกรุงปักกิ่ง เธอมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับการเชื่อมต่อสารสนเทศผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นอย่างมาก ทุกวันหลังจากตื่นเช้าขึ้นมา สิ่งแรกที่เธอทำคืออ่านข่าวจากมือถือ เล่น Weibo และเช็คสภาพอากาศ จากนั้น ก็จะใช้โปรแกรมในมือถือเพื่อค้นหาเพื่อนที่ร่วมเดินทางไปทำงาน โดยในระหว่างการเดินทางนั้น เธอจะฟังเพลงที่ดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ต และสั่งซื้อผักและอาหารสำหรับมื้อเย็นผ่านทางอินเตอร์เน็ต ถึงแม้ว่าจะเสียค่าใช้จ่ายในการเล่นอินเตอร์เน็ตทางโทรศัพท์มือถือในแต่ละเดือน แต่เธอก็พอใจกับชีวิตที่สะดวกสบาย เห็นได้ว่า การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้อำนวยความสะดวกต่อชีวิตของชาวจีนเป็นอย่างมาก
จีนมีจำนวนประชากรที่ใช้มือถือถึง 1.1 พันล้านคนในปี 2555 โดยการบริโภคสารสนเทศผ่านมือถือได้พัฒนากลายมาเป็นแฟชั่นในการบริโภค นายเหมียว เหวย รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของจีนได้ระบุว่า หากการบริโภคสารสนเทศเพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านหยวน จะส่งผลให้ GDP ของจีนเติบโต 3.38 หมื่นล้านหยวน ทั้งนี้ การบริโภคสารสนเทศในเขตชนบทของจีนยังคงมีศักยภาพสูงมาก
การให้บริการการพูดคุยโทรศัพท์และการส่งข้อความแบบเดิมไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ของจีนได้อย่างเพียงพอ จากสถิติของศูนย์สถิติอินเตอร์เน็ต ในปี 2555 การส่งข้อความของมือถือได้ลดลงร้อยละ 20 การพูดคุยทางโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์บ้านลดลงร้อยละ 5 ในทางกลับกัน จำนวนผู้ใช้การบริการ Mobile Apps อาทิ Weibo และ Wechat ได้เติบโตอย่างพุ่งกระฉูด มีความพยายามสร้างสรรค์รูปแบบการบริการใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเรียกแท็กซี่ผ่านทาง Wechat เป็นต้น ดังนั้น จึงเชื่อว่า รูปแบบเศรษฐกิจจีนจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆในการบริโภคสารสนเทศที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้