ปัญหาแรงงานขาดแคลนในจีนอาจมาเร็วกว่าที่คาด

21 Jan 2013

ปัญหาขาดแคลนแรงงานกำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจีน จากการสำรวจของสื่อจีน พบว่า ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มประสบกับภาวะแรงงานไม่เพียงพอ ขณะเดียวกัน ตัวเลขจากฝ่ายต่าง ๆ ต่างชี้ตรงกันว่า ตัวเลขประชากรในวัยทำงานของจีนน่าจะเติบโตในอัตราที่ลดลงในอนาคตอันใกล้ และปัญหาขาดแคลนแรงงานจะเกิดขึ้นไม่เพียงแต่ตามเมืองชายฝั่ง แต่บริเวณพื้นที่ภาคกลางซึ่งมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าก็อาจประสบปัญหาเดียวกัน

จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการในเมืองอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญตามชายฝั่ง อาทิ คุนซาน ไท่อัน ไหวอันและซูโจว ต่างได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันถึงปัญหาแรงงานที่หายากขึ้นกว่าปีก่อนหน้า แม้จะมีการเพิ่มค่าตอบแทนและปรับปรุงสภาพของที่พัก หรือแม้แต่พื้นที่ภาคกลาง เช่น เมืองหวงกังและเมืองตังหยาง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของมณฑลหูเป่ย ก็ประสบปัญหาเดียวกัน โดยจากการสำรวจในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า เมืองหวงกังมีความต้องการแรงงาน 1.16 แสนคน แต่แรงงานในเมืองมีเพียง 9.2 หมื่นคน ขาดแคลนแรงงานกว่า 2.4 หมื่นคน หรือที่เมืองตังหยาง ทั้งเมืองมีแรงงาน 1.9 แสนคน ในจำนวนนี้ แม้จะมีประชากรในวัยทำงานว่างงานอยู่ราว 6.9 หมื่นคน แต่ก็ได้ย้ายไปทำงานที่อื่นแล้วราว 6.4 หมื่นคน เหลือผู้ว่างงานจริงเพียงประมาณ 4 พันคน ขณะที่ทั้งเมืองยังมีตำแหน่งงานว่างอยู่ถึงราว 4,900 ตำแหน่ง

ตามรายงานด้านจำนวนประชากรของรัฐบาลที่ประกาศในปี 2549 ได้คาดการณ์ว่า ประชากรจีนในวัยทำงานจะเพิ่มสูงสุดในปี 2559 ขณะที่ รายงานของสหประชาชาติชี้ว่า ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงสุดในปี 2558 อย่างไรก็ดี การสำรวจจำนวนประชากรในปี 2554 แสดงว่า จำนวนแรงงานของจีนได้เพิ่มถึงระดับสูงสุดในปี 2555 และจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงหลังจากนั้น

สำหรับสาเหตุการขาดแคลนแรงงานนั้น หลายฝ่ายชี้ตรงกันว่า เกิดจากสภาพความเป็นอยู่ในชนบทที่ดีขึ้นและนโยบายที่เอื้อภาคการเกษตร ทำให้แรงงานจากภาคการเกษตรไม่หลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองมากเหมือนแต่ก่อน ขณะที่ การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและความเป็นเมืองก็เริ่มกระจายตัวไปยังภูมิภาคต่างๆ ทำให้แรงงานที่หลั่งไหลเข้าไปยังเมืองใหญ่มีปริมาณลดลง นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน ลู่ หมิง ยังชี้ว่า ปรากฏการณ์แรงงานขาดแคลน สะท้อนให้เห็นถึงความบิดเบือนของโครงสร้างเศรษฐกิจจีน

“โดยหลักการแล้ว ค่าแรงในการทำงานควรขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการผลิต แต่ในช่วงที่ผ่านมา ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานจีนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าไรนัก ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเกิดจากต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นมากแต่ประสิทธิภาพการผลิตไม่เปลี่ยนแปลง บริษัทก็เริ่มไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าแรงได้” ลู่ หมิงวิเคราะห์ ดังนั้น จีนควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ยกระดับการศึกษาในเขตชนบท ตลอดจนควรยกเลิกกฎเกณฑ์ในระบบทะเบียนบ้าน (户口) ที่ทำให้การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานระหว่างมณฑลเป็นไปอย่างยากลำบาก

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน