นักธุรกิจไทยต้องระวัง !!: เหยื่ออาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตของจีน 7 แสนคนต่อวัน !!

29 Jan 2013

เมื่อวันที่ 27 ม.ค.56 มหาวิทยาลัยสันติบาลแห่งประชาชนจีน (People’s Public Security University of China) ได้รายงานปัญหาอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตของจีนประจำปี 2555 พบว่าในปี 2555 หน่วยงานสันติบาลต่าง ๆ ของจีนได้รับการร้องเรียนคดีอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตทั้งสิ้นกว่า 1.18 แสนคดี และในช่วงเวลาระหว่างเดือนกรกฎาคมปี 2554 ถึงเดือนกรกฎาคมปี 2555 มีชาวจีนที่ประสบอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยถึง 7 แสนคนต่อวัน

รายงาน ฯ ได้สรุปประเภทอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตของจีนหลักๆ 10 ประเภท ได้แก่ การหลอกลวง การล้วงข้อมูลส่วนตัว การจำหน่ายสินค้าปลอมและด้อยคุณภาพ การกระทำอนาจาร การส่งเมล์ขยะ (Spam Mail) เป็นต้น ในช่วงเวลาระหว่างเดือนกรกฎาคมปี 2554 ถึงเดือนกรกฎาคมปี 2555 มีชาวจีนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตทั้งสิ้น 257 ล้านคน คิดเฉลี่ยเป็น 7 แสนคนต่อวัน รวมเป็นค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งสิ้นกว่า 289,000 ล้านหยวน

จากรายงาน ฯ พบว่า อาชญากรในโลกอินเตอร์เน็ตมักเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงและอายุไม่มาก เนื่องจากปัจจุบัน รัฐบาลจีนผ่อนคลายกฎระเบียบการใช้อินเตอร์เน็ต รวมทั้งระบบการป้องกันความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ตเองที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้อาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตของจีนมีแนวโน้มเพิ่มมากมากขึ้น

ไม่เพียงแต่ชาวจีนเท่านั้นที่ประสบอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต นักธุรกิจไทยหลายคนก็ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตของจีนด้วย นายเถลิงศักดิ์ วงศ์สามศร อัครราชทูตที่ปรึกษาของสำนักงานพาณิชย์ฯ ณ กรุงปักกิ่งได้กล่าวในฐานะวิทยากรที่มาให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนในการประชุมเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนประจำปี 2556 เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2556 ที่กรุงปักกิ่งว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่าน สำนักงานพาณิชย์ฯ ณ กรุงปักกิ่งได้รับการร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากบริษัทที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตทั้งสิ้นกว่า 50 บริษัท ซึ่งคิดเป็นค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้นกว่า 100 ล้านบาท โดยร้อยละ 90 ของอาชญากรรมที่ได้รับการร้องเรียน เป็นการถูกหลอกลวงในด้านคุณภาพสินค้าจากบริษัทจีนหรือไม่ได้รับสินค้าหลังจากชำระเงินแล้ว นอกจากนี้ ยังมีบางกรณีที่แฮคเกอร์ลักลอบเข้าไปอ่านเนื้อหาการโต้ตอบในอีเมลล์ แล้วหลอกลวงนักธุรกิจไทยให้โอนเงินเข้าไปในบัญชีของแฮคเกอร์

นายเถลิงศักดิ์ฯ กล่าวเสริมว่า “ก่อนที่นักธุรกิจไทยจะลงมือทำการค้าขายกับบริษัทจีน ขอให้ศึกษาประวัติการพัฒนาของบริษัท ข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัท ระยะเวลาการดำเนินธุรกิจและข้อมูลเชิงลึกอื่น ๆ ของบริษัทจีนโดยผ่านหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่อยู่ในพื่นที่ให้ดีเสียก่อน เพื่อศึกษาความน่าเชื่อถือของบริษัทและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น” … นักธุรกิจไทยทราบอย่างนี้แล้วโปรดใช้ความระมัดระวังให้มาก เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว การสืบสวนดำเนินคดีมีความซับซ้อน เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา และไม่ใช่ว่าจะเอาผิดได้เสมอไป…ป้องกันเสียตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุจะดีกว่าค่ะ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน