จีนก้าวเข้าสู่ยุคแรงงานขาดแคลน ผลักดันเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

6 Nov 2013

จีนเป็นประเทศที่มีแรงงานเหลือเฟือ คำกล่าวนี้ยังเป็นความจริงอยู่หรือ ? …

ทราบหรือไม่ว่า เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา จำนวนประชากรวัยแรงงานของจีน (ประชากรอายุ 15-59 ปี) มีจำนวนลดลง 3.45 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เกิดภาวะอัตราการขยายตัวติดลบ นอกจากนั้น พบว่า บริษัทในภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคตะวันตกได้เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนแรงงานปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ผลกระทบทางลบจากการเข้าสู่ยุคแรงงานขาดแคลนนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นแรงผลักดันให้บริษัทจีนเร่งดำเนินการปรับรูปแบบโครงสร้างเช่นกัน

จากสถิติผลสำรวจแรงงานชนบทพบว่า ในช่วงปี 2553 – 2555 จำนวนแรงงานที่อพยพจากชนบทเติบโตร้อยละ 5.4 4.4 และ 3.9 ตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดลงทุกปี ขณะเดียวกัน เนื่องจากชนบทจีนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แรงงานจากชนบทไม่สามารถมีบทบาททำหน้าที่เป็น “คลังแรงงาน” เช่นเคยอีกต่อไป โดยในปี 2553 จำนวนประชากรในชนบทที่อายุ 60 ปีขึ้นไปครองสัดส่วนร้อยละ 14.5 ของจำนวนประชากรในเขตชนบท ซึ่งสูงกว่าเขตเมืองซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.4

อีกทั้ง การจากสำรวจพบว่า เนื่องจากจีนจะเข้าสู่ยุคแรงงานขาดแคลน ความได้เปรียบในด้านต้นทุนแรงงานของจีนจะลดลงเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้นที่มีเทคโนโลยีในการผลิตที่ล้าหลัง ย่อมต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง พร้อมพัฒนาเทคนิคการผลิตเพื่ออยู่รอด นอกจากนี้ นายเหยน จื้อกาง คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฝู้ต้านกล่าวว่า สำหรับบริษัทการผลิตที่ประกอบกิจการส่งออกสินค้า เนื่องจากราคาส่งออกเป็นราคาทั่วไปในตลาดโลก จึงไม่สามารถปรับราคาสินค้าส่งออกให้เพิ่มขึ้นตามไปต้นทุนแรงงานด้วย บริษัทที่อยากจะอยู่รอดต้องมีการพัฒนาประยุกต์ใช้เครื่องจักรการผลิตที่ทันสมัย พร้อมเร่งการปรับโครงสร้าง หรือไม่ก็โอนย้ายฐานการผลิตไปสู่ภาคกลาง ภาคตะวันตก หรือต่างประเทศที่มีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจีนให้ความเห็นว่า มองในระยะใกลแล้ว มีโอกาสแฝงอยู่วิกฤตการเข้าสู่ยุคแรงงานขาดแคลนด้วย โดยการขาดแคลนแรงงานจะส่งผลปรับเพิ่มค่าแรงงาน ยกระดับกำลังซื้อของผู้บริโภค ลดอัตราการเติบโตเงินออมและการลงทุน ส่งเสริมให้การบริโภคกลายเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาของเศรษฐกิจ อีกทั้ง เป็นการชี้นำผลักดันให้บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ลดระดับการพึ่งพาแรงงานราคาถูก เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานสถิติแห่งชาติคาดว่า ใน 10 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรวัยทำงานจะอยู่ที่ราว 900 ล้านคน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน