กว่างซีชงขึ้นเงินเดือนพนักงานปี 58 เฉลี่ย 11%
24 Sep 2015เว็บไซต์ข่าวหนานหนิง : ทางการกว่างซีใช้กลไก "เงินเดือน" เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างความสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม และนำพากว่างซีเข้าสู่ “สังคมเสี่ยวคัง” (สังคมกินดีอยู่ดี)
ปีนี้ (ปี 2558) กรมทรัพยากรมนุษย์และหลักประกันสังคมเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Human Resources and Social Security Department, 广西人力资源和社会保障厅) ได้ประกาศเกณฑ์การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2558 เพื่อให้วิสาหกิจใช้เป็นฐานอ้างอิงการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานลูกจ้าง
ตามประกาศฯ นายจ้าง (บริษัทเอกชน สมาคม รัฐวิสาหกิจ) สามารถพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่พนักงานลูกจ้างตามสภาพผลประกอบการ โดยเกณฑ์อ้างอิงขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 3 แต่ไม่เกินร้อยละ 16 และเกณฑ์ค่าเฉลี่ยมาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 10 ในกรณีที่กิจการไม่มีผลกำไร นายจ้างควรคงอัตราเงินเดือนเดิมของพนักงานลูกจ้างไว้
ทางการกว่างซีจะมีการปรับปรุงและประกาศ "เกณฑ์อ้างอิงการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานลูกจ้าง" ตามความเหมาะสมเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกว่างซี
หลักการพิจารณาจะประเมินผลจากภาวะเศรษฐกิจและสังคม ภาวะเงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) รายได้เฉลี่ยของพนักงานลูกจ้างของปีก่อน รวมถึงเป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจประจำปีนั้น ๆ เป็นองค์ประกอบหลัก
ขณะเดียวกัน ยังมีการนำปัจจัยอื่นมาประกอบการพิจารณาด้วย อาทิ สถานการณ์การจ้างงานโดยรวม ต้นทุนแรงงานวิสาหกิจ (Labor Cost) และผลประการการธุรกิจ (Benefit) เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์อ้างอิงฯ ปีก่อน (ปี 57) พบว่า เกณฑ์อ้างอิงเฉลี่ยลดลงร้อยละ 1 จุด (ปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 11) เกณฑ์อ้างอิงสูงสุดลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 2 จุด (ปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 18) ขณะที่เกณฑ์อ้างอิงต่ำสุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จุด (เดิมร้อยละ 2)
ดัชนี |
ปี 2556 |
ปี 2557 |
ปี 2558 |
เกณฑ์ต่ำสุด |
0% |
2% |
3% |
เกณฑ์เฉลี่ย |
12% |
11% |
10% |
เกณฑ์สูงสุด |
19% |
18% |
16% |
เกณฑ์อ้างอิงดังกล่าวของกว่างซีมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าในหลายมณฑลของจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเข้ามาลงทุนในกว่างซียังคงมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานเหนือมณฑลแห่งอื่น
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เกณฑ์อ้างอิงฯ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ "กลไกการเจรจาเงินเดือน" (Collective salary negotiation system) ระหว่าง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล วิสาหกิจ และแรงงาน ที่รัฐบาลจีนกำลังผลักดันเพื่อกำหนดกรอบมาตรฐานด้านอัตราค่าจ้างเงินเดือน สวัสดิการ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน
อย่างไรก็ดี การเจรจาเพื่อผลักดันกลไกดังกล่าวยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก เนื่องจากกลุ่มนายจ้าง (วิสาหกิจ) ยังสงวนท่าทีต่อมีการส่วนร่วมเพื่อจัดตั้งกลไกดังกล่าว ด้วยความ "กลัว" ว่าสหภาพแรงงานบริษัทจะยื่นขอเรียกร้องเงินเดือนที่สูงเกินไป