“ไท่จ่งฟีเวอร์” ผลักดันกระแสท่องเที่ยวไทยให้ไม่ “จ่ง” แล้วไทยจะต่อยอดจาก “ไท่จ่ง” สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่ให้ “จ่ง” ได้หรือไม่ (ตอนจบ)
26 Feb 2013นอกจาก 9 ปัจจัยข้างต้นที่มีผลต่อความสำเร็จของภาพยนตร์แล้ว “ไท่จ่ง” ยังสามารถสะท้อนทัศนคติของผู้ชมในอีกหนึ่งมุมที่แฝงเร้นอยู่ในเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้
การสะท้อนการยกระดับสถานภาพของคนจีนแผ่นดินใหญ่
ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของจีนส่วนใหญ่นั้นเป็นภาพยนตร์จากฮ่องกง ทั้งผู้สร้าง ผู้กำกับ รวมถึงตัวนักแสดงเองก็เป็นคนฮ่องกงที่บางเรื่องแม้จะสวมบทบาทแสดงเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ จึงขาดความสมจริงและความเป็นธรรมชาติแห่งความรู้สึก ทำให้คนจีนแท้ๆ ที่ดูเข้าไม่ถึงอรรถรสถึงเรื่องราวอย่างแท้จริง
ต่างจาก “ไท่จ่ง” ที่ทั้งผู้สร้าง ผู้กำกับ และนักแสดงเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่แท้ๆ อีกทั้งหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของคนจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยกันเอง กอปรกับการกำหนดพล็อตเรื่องที่สามารถดึงดูดคนดูให้สนุกไปกับการท่องเที่ยวผจญภัยในประเทศไทยภายใต้อารมณ์ของนักแสดงที่มีการพูดภาษาท้องถิ่นในเรื่อง ทำให้คนดูเกิดความรู้สึกลึกซึ้งและ “อิน” ไปกับเรื่องราว ในทางกลับยังสร้างความรู้สึกให้กับคนดูในทางอ้อมว่า การไปท่องเที่ยวประเทศไทยของคนจีนแผ่นดินใหญ่นั้นกลายเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งไม่ว่าคนระดับสูง ระดับกลาง ระดับชนชั้นกรรมาชีพในสังคมจีนก็สามารถทำได้ ไปเที่ยวได้ เหมือนดั่งตัวละครในเรื่องไท่จ่ง
ความรักเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แม้เงินมากมายก็ไม่สามารถบันดาลได้ทุกสิ่ง
“สวีหล่าง” เป็นนักธุรกิจผู้คิดค้นสารเพิ่มปริมาณน้ำมันแบบเป็นทวีคูณได้และต้องการทำ R&D เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว “เกาปั๋ว” เพื่อนที่กลายมาเป็นคู่ปรับและต้องการขายสิ่งที่สวีหล่างคิดค้นให้กับนักธุรกิจฝรั่งเศส เหตุที่ว่าทั้งคู่ถือหุ้นส่วนของบริษัทที่เท่ากัน จึงต้องหาผู้ถือหุ้นรายใหญ่นามว่า “โจวหยาง” เป็นผู้ตัดสิน ซึ่งบุคคลนั้นได้มาปฏิบัติธรรมที่เมืองไทย เรื่องราวการเดินทางจึงได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อสวีหล่างได้พบ “หวังเป่า” ผู้ที่เป็นเสมือนตัวแทนคนชั้นกรรมาชีพในสังคมจีนที่เต็มไปด้วยความรักความห่วงใยและต้องการสานความฝันของแม่ที่เป็นแฟนของ “ฟ่านปิงปิง” ที่กำลังป่วย ทำงานเก็บเล็กผสมน้อยจนมีโอกาสเดินทางไปไทย เพื่อนำตะบองเพชรตัวแทน “ต้นไม้แห่งสุขภาพ” ไปปลูกและอธิษฐานให้มารดาของตนพ้นจากโรคภัยและท่องเที่ยวประเทศไทยตามที่ได้วางแผนไว้
เรื่องราวที่เต็มไปด้วยการแข่งขันแย่งชิ่งผลประโยชน์ระหว่างทั้งสองได้เริ่มขึ้น โดยสวีหล่างใช้หวังเป่าเป็นเครื่องมือเพื่อหยุดการติดตามของเกาปั๋ว ทั้ง 3 คนจึงต้องเผชิญปัญหาหลากหลายด้านตลอดช่วงเวลาที่มาไทย ในท้ายที่สุดสวีหล่างได้ค้นพบสัจธรรมที่แท้จริงของชีวิตที่เมืองไทยนี้เอง และเห็นคุณค่าแห่งมิตรภาพสำคัญยิ่งกว่าทรัพย์สิน และที่สำคัญบทบาทของหวังเป่า กำลังบอกและเตือนสติคนในสังคมจีนที่มุ่งแต่จะแสวงหาผลประโยชน์จนลืมนึกถึงคุณธรรมและคนสำคัญที่อยู่ข้างๆ จนสามารถพิสูจน์ได้ว่า เงินไม่ได้บันดาลความสุขเสมอไป มิตรภาพและความจริงใจ ทำให้ทริปท่องเที่ยวไทยครั้งแรกในชีวิตของหวังเป่าสำเร็จบริบูรณ์ และสุดท้ายก็ได้พบได้ถ่ายรูปกับดาราดังสาวสวยในดวงใจอย่างใกล้ชิดหลังจากที่เธอทราบเรื่องความรักของหวังเป่าที่มีต่อแม่ที่กำลังป่วยเพื่อเป็นกำลังใจ จึงเป็นรางวัลตอบแทนสูงสุดตามที่หวังเป่าได้หวังไว้ ข้อคิดดั่งกล่าวกำลังบ่งบอกคนจีนในสังคมปัจจุบันว่าถึงแม้จะมีเงินมากมายก็มิอาจสานฝันแทนความรักที่ยิ่งใหญ่นี้ได้

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐของจีนต่างทึ่งกับ ปรากฏการณ์กระแสนิยมออกไปชมภาพยนตร์เรื่องเดียวกันทั่วประเทศ และได้กลายเป็นประเด็นสนทนาของสังคมในวงกว้าง
นักวิจารณ์กล่าวว่า แท้จริงแล้วคอหนังชาวจีนส่วนใหญ่อยู่ในวันหนุ่มสาว เป็นคนมีระดับในสังคม มีกำลังซื้อ ส่วนใหญ่เติบโตมากับการดูภาพยนตร์ต่างประเทศ ทว่าครั้งนี้ ปรากฎกระแสผู้ชมกว่า 38 ล้านคนพร้อมใจกันซื้อตั๋วหนังไปดูเรื่อง “ไท่จ่ง” ภาพยนตร์ที่สร้างกำกับและแสดงโดยคนจีนเอง และสามารถกอบโกยรายได้อย่างมหาศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในวงการแผ่นฟิล์มแดนมังกร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะมีเหตุผลหลายอย่างแฝงอยู่
ด้านผู้กำกับและนักแสดงนำของภาพยนตร์เรื่องนี้ กล่าวว่า “ความจริงแล้วไม่ได้คิดอะไรมากมายเพียงแค่อยากสร้างหนังแนวคอมเมอดี้ (ในเซ้นส์ของคนจีนเอง) มีแนวคิดง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และมีเรื่องราวที่เป็นกันเองไม่วิลิศมาหรามากเกินความจริงของชีวิตคนในสังคมจีน ถึงจะสามารถเข้าถึงความรู้สึกของผู้ชมส่วนใหญ่ของประเทศได้

ภาพ สัมภาษณ์ “สวีเจิง” ในงานแถลงข่าวเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องไท่จ่ง ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
สำหรับภาพยนตร์แนวแนวตลกคอมเมอดี้ เริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากวิถีชีวิตผู้คนในสังคมจีนทุกวันนี้เต็มไปด้วยความรีบเร่งเคร่งเครียด รอยยิ้มและเสียงหัวเราะกลายเป็นสิ่งที่หายากขึ้นในสังคมอย่างชัดเจน ทว่าภาพยนตร์เรื่อง “ไท่จ่ง” ปลุกให้คนในสังคมจีนกลับมามีความสดใสอีกครั้งด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มที่สามารถแลกมาได้ด้วยตั๋วภาพยนตร์เพียงราคาไม่กี่สิบหยวน ซึ่งความสุขที่ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก คนธรรมดาๆ คนหนึ่งก็สามารถสัมผัสถึงอารมณ์นี้ได้เช่นกัน
อานิสงส์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแผ่ขยายไปยังผู้สร้างหนังที่มีทุนจำกัดทำให้เกิดความหวังและกำลังใจในการสร้างภาพยนตร์และล้มทัศนคติเดิมๆ ที่ว่า
ภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างมหาศาลมิอาจเป็นตัวชี้วัดคำตอบของผลสำเร็จเสมอไป ทว่าการสร้างภาพยนตร์สไตล์ “ไท่จ่ง” นั้นแม้จะลอกเลียนแบบได้ แต่ความสำเร็จนั้นลอกเลียนแบบไม่ได้
นักวิจารณ์มองทิศทางวงการภาพยนตร์จีนต่อไปอีกว่า ภาพยนตร์ที่ลงทุนสร้างมหาศาล ผนวกกับความเป็นรายละเอียดที่สามารถเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มได้ซึ่งเป็นจุดแข็งของภาพยนตร์ที่สร้างด้วยทุนน้อย กำเนิดเป็นคอนเซ็ปท์ใหม่ของการสร้างภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดจีนในปัจจุบันและต่อจากนี้ไปได้
สำหรับสถานการณ์ด้านการภาพยนตร์ทั่วไปของจีนนั้น ผอ.กรมวิทยุกระจายเสียงภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งชาติ กล่าวว่า วงการภาพยนตร์สร้างรายได้รวมในบ็อกซ์ออฟฟิตจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2555 ที่มูลค่า 17,073 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันกับปีก่อนถึง 30.18%
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ที่ทำรายได้บ็อกซ์ออฟฟิตจีนมากกว่า 200 ล้านหยวน ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ส่วนภาพยนตร์จีนฟอร์มใหญ่เองยังมีจำนวนน้อย จึงไม่สามารถแข่งขันกับภาพยนตร์นำเข้าได้
ทว่าภาพยนตร์ฟอร์มกลางที่ทำรายได้บ็อกซ์ออฟฟิตจีนระหว่าง 50 ล้านหยวน-200 ล้านหยวน แน่นอนว่าภาพยนตร์จีนนั้นได้เปรียบกว่า แต่ฟีดแบ็คของคนดูยังประเมินให้อยู่ในระดับธรรมดาหรือส่วนใหญ่วิจารณ์ในด้านลบ ทำให้ยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพสู่การเป็นหนังคลาสสิคติดตลาดได้ รวมถึงภาพยนตร์ที่เน้นการโปรโมทตัวดารานำที่มีชื่อเสียงมากเกินไปเพียงแค่หวังจะกระตุ้นรายได้ในบ็อกซ์ออฟฟิตเท่านั้น แต่บทภาพยนตร์รวมถึงการถ่ายทำที่ไม่ดี ก็จะก่อให้เกิดการวิจารณ์ในด้านลบกับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ตามมา ฉนั้น ยังคงต้องพัฒนากระบวนการผลิตภาพยนตร์ให้มีหลากหลายรูปแบบ มากประเภท เพื่อเรียนรู้ ปรับปรุงให้สามารถสร้างภาพยนตร์หนังให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นไป
ไท่จ่ง หนังจีนแนวตลกที่ถ่ายทำในประเทศไทย ที่สามารถสร้างกระแสสะท้อนกลับจากภาพยนตร์ต่อเนื่องสู่กระแสการอยากเดินทางไปท่องเที่ยวไทยเพื่อสัมผัสมนต์เสน่แห่งวัฒนธรรมและเรื่องราว สถานที่ที่ถ่ายทำเรื่องไท่จ่ง รวมถึงสถานที่ที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ของไทยโดยมีไท่จ่ง เป็นโมเดลพื้นฐานของการเดินทาง

ภาพ "ไท่จ่ง" ขณะถ่ายทำในกรุงเทพฯ ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
กระแสภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวที่กำลังโหมกระพือแรงในช่วงสัปดาห์ก่อน ได้จุดประกายความคิด ความมั่นใจของใครต่อใครหลายคนในสังคมจีนปัจจุบันให้อยากจะลองเดินทางออกไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศ โดยที่ไม่จำกัดอยู่แค่เพียงคนมีสตางค์เท่านั้น
เว็บไซต์ให้บริการด้านการท่องเที่ยวชื่อดังของจีน Ctrip ทำการสำรวจแนวโน้มการท่องเที่ยวจีนในช่วงตรุษจีนปี 2556 พบว่า นักท่องเที่ยวจีนที่วางแผนไปเที่ยวเมืองไทยมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน เห็นได้จากการเปิดเที่ยวบินแบบเหมาลำบินตรงสู่ประเทศไทยเกิดขึ้นในหลายเส้นทาง อีกทั้ง ยังมีการสอบถามเข้ามาเกี่ยวกับการไปเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้นจากปกติถึง 65% และนับวันยิ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสอบถามเกี่ยวกับสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ซึ่งอยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวจีน อาทิ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และเชียงใหม่ ปัจจุบัน มียอดนักท่องเที่ยวได้ซื้อทัวร์พร้อมเดินทางไปกับ Ctrip ในช่วงตรุษจีน 56 แล้วเกินกว่า 10,000 ราย
ด้านสโมสรท่องเที่ยวคาราวาน นครเฉิงตู ยังได้รวมกลุ่มผู้รักการท่องเที่ยวแบบขับรถยนต์กว่า 100 คน ขับรถท่องเที่ยวผ่าน 3 ประเทศ จีน-ลาว-ไทย โดยออกเดินทางจากเฉิงตูมุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่ จ.เชียงใหม่ ในช่วงตรุษจีนที่จะถึงนี้
ด้านบริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวชั้นนำในประเทศหลายแห่งใช้โอกาสที่กระแสไท่จ่งกำลังมาแรงโปรโมชั่นกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบฉบับพิเศษ ตอบรับความต้องการไปเที่ยวเมืองไทยของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงตรุษจีนปี 56 ที่กำลังมาถึง อาทิ บ.ไชน่าอันฮุย ยูธ แทรเวล เกาะกระแสความดังของภาพยนตร์เรื่องนี้โปรโมทกิจกรรม “บินตรงลัดฟ้า เหอเฝย-กรุงเทพฯ พานักท่องเที่ยวอันฮุย ชื่นชมความงามแดนสยาม สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบฉบับ “ไท่จ่ง” ด้วยตัวคุณเอง”
บริษัทฯ เผยว่า มีนักท่องเที่ยวอันฮุยจำนวนกว่า 3,000 คน เดินทางไปเที่ยวไทยในเส้นทางบินตรงดังกล่าวโดยสายการบินไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์แบบเหมาลำตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 55 จนถึงปัจจุบัน (31 ม.ค. 56) แล้วเป็นจำนวนถึง 20 เที่ยวบิน (6 วัน/เที่ยว) สำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 56 บริษัทฯ ได้เพิ่มอีก 4 เที่ยวบิน เพื่อตอบสนองจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น
อิทธิพลของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้คนดูมีเสียงหัวเราะ สนุกสนาน มีความสุขไปพร้อมๆ กับการซึมซับบรรยากาศ สถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตและสังคมไทย อาหารไทย อื่นๆ ทุกอย่างที่ปรากฏในภาพยนตร์ ส่งผลโดยตรงต่อประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวของไทยที่เติบโตขึ้นชัดเจนหลังจากช่วงที่หนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เส้นทางท่องเที่ยวหลายเส้นทางถูกจองเต็ม ทั้ง กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.เชียงใหม่ ที่ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำเกือบทั้งเรื่อง กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตน้องใหม่ “ตามรอยไท่จ่ง” ของคนจีนไปแล้วในขณะนี้

ภาพ บ.ไชน่าฉงชิ่ง ยูธ แทรเวล ได้อาศัยช่วงมาแรงของกระแสไท่จ่ง โปรโมทท่องเที่ยวไทยด้วย
แหล่งภาพ http://www.023ql.com/news/21205
ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปเที่ยวไทยเป็นจำนวนกว่า 2.5 ล้านคน กลายเป็นประเทศที่มาเยือนไทยมากที่สุดนำหน้ามาเลเซีย และคาดว่าช่วงตรุษจีนที่จะถึง จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนไปเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน เป็นรายได้เข้าประเทศไทยสูงถึง 840 ล้านหยวน มีอัตราเพิ่มขึ้นเกิน 100% โดยเชียงใหม่ เป็นสถานที่จุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวจีนในปีนี้ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันราว 10 เท่า
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า ตลอดปี 2556 ตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะเดินทางมาไทยจะเพิ่มขึ้นจนถึง 3 ล้านคน สำหรับปัจจัยที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยเหมาะสำหรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวจีนนั้น เป็นผลมาจากการเมืองไทยมีความสงบ ไม่มีภัยธรรมชาติร้ายแรง มีการเปิดเส้นทางบินตรงสู่ประเทศไทยและมีเที่ยวบินราคาถูกเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวจีนเลือกเดินทางมาเที่ยวไทยแทนการไปเที่ยวยังประเทศที่เกิดกรณีพิพาทกับจีนในช่วงก่อนหน้านี้ การโปรโมทโปรแกรมเที่ยวไทยร่วมกันระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกับหน่วยงานการท่องเที่ยวจีนท้องถิ่นอย่างเต็มกำลัง รวมถึงการได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ไทยและละครไทย ที่กำลังเริ่มเป็นที่นิยมในจีน มีส่วนช่วยดึงดูดให้คนจีนอยากเดินทางมาเที่ยวไทยและกระทบไหล่ดาราที่ตนชื่นชอบเพิ่มขึ้นอย่างมาก
หยิบยืมภาพยนตร์ สร้างโอกาส สร้างมูลค่าเพิ่มการท่องเที่ยวไทย ต่อยอดการสร้างรายได้เข้าประเทศ
เมื่อ 3-4 ปีก่อน ภาพยนตร์จีนเรื่อง Go LALA Go! (杜拉拉升职记) ยกคณะไปถ่ายทำที่ประเทศไทยและได้สร้างกระแสให้คนจีนรู้จักไทยเพิ่มขึ้นอย่างทันตาเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัทยา จนทำให้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีนที่ต้องมาเยือนเมื่อมาถึงเมืองไทย และครั้งนี้กระแสฟีเวอร์ของภาพยนตร์จีนเรื่อง “ไท่จ่ง (泰囧)” หรือ “Lost in Thailand” ยิ่งทำให้คนจีนอยากไปเที่ยวไทยมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ กทม. ภูเก็ต พัทยา ที่ถือว่าได้รับความนิยมอยู่แล้วก็ยิ่งเพิ่มคะแนนนนิยมให้อยากไปเยือนเพิ่มขึ้นอีก

ภาพยนตร์จีนเรื่อง Go LALA Go! (杜拉拉升职记) ในขณะที่ถ่ายทำที่พัทยาช่วงเดือน ก.ย. 2552
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่ภาพยนตร์จีนเลือก ประเทศไทย เป็นสถานที่ถ่ายทำนั้น เสมือนเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งนอกจากเรื่องราว “จ่งๆ” ที่เกิดขึ้นจะให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมอย่างเต็มอรรถรสครบหมดทุกความรู้สึกแล้ว ยังสามารถสร้างอิมแพคทางอ้อมให้กับเศรษฐกิจไทยได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซึ่งถือได้ว่ารับประโยชน์โดยตรง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวจีนวิเคราะห์ว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2556 ที่กำลังมาถึง น่าจะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนไปเยือนไทยไม่น้อยกว่า 100,000 คน สร้างรายได้เข้าไทยมากกว่า 800 ล้านหยวน ซึ่งกระแสภาพยนตร์ดังกล่าวส่งอิทธิพลต่อการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไปไทยในช่วงนี้อย่างเห็นได้ชัด
ปรากฏการณ์ดังกล่าวกำลังบ่งบอกอะไรบางอย่างให้กับประเทศไทย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ การรุกเข้ามามีบทบาทในตลาดมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนโดยใช้ “ซอฟท์พาวเวอร์” ที่ครอบคลุมถึงเรื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ (เฉกเช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง “ไท่จ่ง” ที่สามารถสร้างรายได้บ็อกซ์ออฟฟิตจีนทะลุ 1,200 ล้านหยวน เป็นเครื่องการันตี) น่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือนำทางสำคัญที่สามารถผลักดันให้ธุรกิจไทยมีมาร์เก็ตแชร์ได้ในตลาดจีนมากขึ้นและมากยิ่งขึ้น
อุตสาหกรรมภาพยนตร์นอกจากเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนจีนภายในประเทศรู้จักความเป็นไทยให้เกิดการยอมรับแล้ว ยังสามารถนำไปสู่ใบเบิกทางความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม สังคม จนถึงการค้า การลงทุน สู่ระดับเศรษฐกิจมหภาค การใช้โอกาสที่เหลือเพื่อสานต่อกระแสไทยในจีนนั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อพัฒนาการของวงการภาพยนตร์และบันเทิงไทยในยุคสมัยใหม่อย่างยิ่ง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของไทยในประเทศจีนเองนั้นได้เล็งเห็นศักยภาพดังกล่าวแล้วและมีแนวคิดในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในประเทศจีนโดยการนำร่องชี้ช่องทาง เร่งประสานแลกเปลี่ยนความร่วมมือต่างๆ ในด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนที่กำลังโตวันโตคืนและโตไปพร้อมกับกำลังบริโภคในตลาดจีน
ถึงเวลาแล้วที่ไทยก็ควรสร้างโอกาสและต่อยอดแห่งความสำเร็จนี้ด้วยตัวเองต่อจากนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและต่อๆ ไป ในขณะที่กระแสความต้องการรู้จักไทย (ที่สามารถนำไปสู่ความนิยมไทย) ยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมจีน
แหล่งข้อมูล
นสพ.หนันฟางรื่อเป้า วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555, www.qianlong.com วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556, http://companies.caixin.com วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556, http://msn.ijie.com วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556, www.nbd.com.cn วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556, http://www.cmc.gov.cn วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556, นสพ.ฉางเจียงซังเป้า วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556, http://news.china.com.cn วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556, http://culture.people.com.cn วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556, www.cnta.gov.cn วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556, http://news.xinhuanet.com วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง “ไท่จ่ง” สะท้อนโอกาสที่ไม่ “จ่ง” ของการท่องเที่ยวไทยที่สามารถต่อยอดสู่กระแสนิยมไทยในจีนได้ https://wordpress-575750-3524419.cloudwaysapps.com/thaibizchina/th/articles/detail.php?IBLOCK_ID=70&SECTION_ID=515&ELEMENT_ID=11956
สามารถสอบถามข้อมูลทั่วไปกับศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนได้โดยผ่านทางอีเมล์ [email protected]