ศูนย์ขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงแห่งที่ 2 ของจีน อยู่ที่ “นครหนานหนิง” คาดเปิดใช้กลางปี 2565

22 Nov 2021

ไฮไลท์

  • ปัจจุบัน โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยระยะทางรวม 37,900 กิโลเมตร (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2563) และกำลังก่อสร้างอยู่อย่างต่อเนื่อง หัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยรถไฟความเร็วสูง โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายว่าภายในปี พ.ศ. 2578 รางรถไฟในจีนจะมีระยะทางรวม 200,000 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นรางรถไฟความเร็วสูงราว 70,000 กิโลเมตร
  • ณ วันนี้ บทบาทของรถไฟความเร็วสูงในจีนไม่ได้จำกัดที่การเดินทางของผู้โดยสารเท่านั้น จีนได้พัฒนาฟังก์ชันของรถไฟความเร็วสูงไปถึงการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ ด้วยพื้นที่ประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล การใช้รถไฟความเร็วสูงที่มีเครือข่ายครอบคลุมเกือบทั่วประเทศจึงเป็นตัวช่วยรองรับการเติบโตของการขนส่งในจีน โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งซื้อผ่านระบบ e-Commerce รวมถึงสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการจัดส่งให้ถึงมือผู้รับ อาทิ กลุ่มสินค้าสดและมีชีวิต และพัสดุด่วน
  • นครหนานหนิงกำลังก่อสร้างโปรเจกต์ “ฐานโลจิสติกส์ด้วยรถไฟความเร็วสูงหนานหนิง” แห่งแรกของมณฑล และเป็นแห่งที่ 2 ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในประเทศจีนด้วย โดยคาดหมายว่าโครงการก่อสร้างเฟสแรกจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564 ซึ่งจะช่วยสร้างแบรนด์โลจิสติกส์ระดับพรีเมี่ยมด้วยรถไฟความเร็วสูง ช่วยเติมเต็มระบบบริการด้านการขนส่งพัสดุด่วนในภูมิภาค และเปิดมิติใหม่ให้กับการพัฒนาระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (NWLSC)
  • เทรนด์การขนส่งและกระจายสินค้าทางรถไฟในประเทศจีนเป็นประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับผู้ค้า(ไทย) โดยเฉพาะในมิติของการค้าระหว่างประเทศ ที่จะทำให้ผู้ค้าเข้าถึงตลาดในพื้นที่ใหม่ ๆ ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และใช้ต้นทุนต่ำ ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด อาทิ การพัฒนาโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ หรือ ILSTC (International Land and Sea Trade Corridor) ในการลำเลียงสินค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออก โดยมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อของอ่าวตังเกี๋ย) เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจุดหลักในการค้าของมณฑลในภาคตะวันตกของจีนกับต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

 

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเปิดตัวโปรเจกต์ก่อสร้าง “ฐานโลจิสติกส์ด้วยรถไฟความเร็วสูงหนานหนิง” (Nanning Hi-speed Rail Logistics Base/南宁高铁物流基地) เป็นแห่งแรกของมณฑล และเป็นฐานโลจิสติกส์ด้วยรถไฟความเร็วสูงแห่งที่ 2 ที่กำลังก่อสร้างในประเทศจีนด้วย โดยคาดหมายว่าโครงการก่อสร้างเฟสแรกจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในต้นปี 2565

“ฐานโลจิสติกส์ด้วยรถไฟความเร็วสูงหนานหนิง” คืออะไร หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ศูนย์ขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณียด้วยรถไฟความเร็วสูงนั่นเอง ปัจจุบัน โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยระยะทางรวม 37,900 กิโลเมตร (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2563) และกำลังก่อสร้างอยู่อย่างต่อเนื่อง หัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยรถไฟความเร็วสูง

ณ วันนี้ บทบาทของรถไฟความเร็วสูงในจีนไม่ได้จำกัดที่การเดินทางของผู้โดยสารเท่านั้น จีนได้พัฒนาฟังก์ชันของรถไฟความเร็วสูงไปถึงการขนส่งสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ ด้วยพื้นที่ประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล การใช้รถไฟความเร็วสูงที่มีเครือข่ายครอบคลุมเกือบทั่วประเทศจึงเป็นตัวช่วยรองรับการเติบโตของการขนส่งในจีน โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งซื้อผ่านระบบ e-Commerce รวมถึงสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการจัดส่งให้ถึงมือผู้รับ อาทิ กลุ่มสินค้าสดและมีชีวิต และพัสดุด่วน

ทุกฝ่ายคาดหมายว่า “ฐานโลจิสติกส์ด้วยรถไฟความเร็วสูงหนานหนิง” จะช่วยสร้างแบรนด์การให้บริการด้านโลจิสติกส์ระดับพรีเมี่ยมด้วยรถไฟความเร็วสูง ช่วยเติมเต็มระบบบริการด้านการขนส่งพัสดุด่วนในภูมิภาค และจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor/NWLSC) สู่มิติใหม่

การขนส่งพัสดุไปรษณีย์ด้วยรถไฟความเร็วสูง เป็นการใช้ประโยชน์จากขบวนรถไฟความเร็วสูงขนส่งผู้โดยสาร ขบวนรถไฟเปล่า และขบวนรถไฟความเร็วสูงเฉพาะที่ใช้สำหรับขนส่งสินค้า โดยให้บริการขนส่งในเส้นทางหลักได้ในปริมาณมาก รวดเร็ว ตรงต่อเวลา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัย

“ฐานโลจิสติกส์ด้วยรถไฟความเร็วสูงหนานหนิง” ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟหนานหนิงตะวันออก 3.1 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 1,280 หมู่จีน (ราว 533.33 ไร่) พื้นที่ปลูกสร้าง 3 แสน ตร.ม. มีมูลค่าการลงทุน 1,970 ล้านหยวน แบ่งพื้นที่เป็น 5 ฟังก์ชัน คือ โซนปฏิบัติการขนถ่ายขึ้น-ลง โซนปฏิบัติการเปลี่ยนถ่าย โซนโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น โซนบริการแบบครบวงจร และโซนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า

สำหรับโครงการก่อสร้างฐานโลจิสติกส์ด้วยรถไฟความเร็วสูงหนานหนิง (เฟสแรก) จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในต้นปี 2565 ประกอบด้วยรางรถไฟสำหรับปฏิบัติการขนถ่าย 4 ทาง โดยสามารถให้บริการแบบ one stop service ได้ทั้งการรวบรวม การขนถ่าย การตรวจสอบความปลอดภัย และการจัดส่งสินค้าและพัสดุไปรณีย์

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อปลายปี 2563 ประเทศจีน โดยบริษัท CRRC Tangshan Co.,Ltd (บริษัทลูกของ China Railway Rolling Stock Corp. ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงขนาดใหญ่สุดของจีน) ได้เปิดตัวรถไฟความเร็วสูงรุ่นใหม่ที่ใช้สำหรับบรรทุกสินค้า วิ่งด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (คิดง่ายๆ ระยะทางจากแม่สาย-สุไหงโกลก ใช้เวลาไม่ถึง 6 ชั่วโมง) น้ำหนักบรรทุกได้เที่ยวละ 110 ตัน แต่ละเที่ยวมีตู้รถไฟ 8 ตู้ ตู้รถไฟแต่ละตู้มีความกว้าง 2.9 เมตร พื้นที่ใช้สอยคิดเป็น 85% ของพื้นที่บรรทุกบนรถไฟ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง และระบบอัจฉริยะ) มีความรวดเร็ว ปลอดภัยสูง และได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศน้อยกว่าทางรถยนต์และเครื่องบิน

ในแผนการพัฒนากิจการรถไฟแห่งชาติ (ฉบับล่าสุด) ของ China State Railway Group รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านการรถไฟของจีน ระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2578 รางรถไฟในจีนจะมีระยะทางรวม 200,000 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นรางรถไฟความเร็วสูงราว 70,000 กิโลเมตร เมืองที่มีประชากรมากกว่า 200,000 คนจะมีทางรถไฟวิ่งเชื่อมต่อถึงกัน และเมืองที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คนจะมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงวิ่งเชื่อมต่อถึงกัน

บีไอซี ขอเน้นย้ำว่า เทรนด์การขนส่งและกระจายสินค้าทางรถไฟในประเทศจีนเป็นประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับผู้ค้า(ไทย) โดยเฉพาะในมิติของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าสามารถเจาะตลาดในพื้นที่ใหม่ ๆ ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว ประหยัดทั้งระยะเวลาและต้นทุน ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัด อาทิ การพัฒนาโมเดลการขนส่ง “เรือ+ราง” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ หรือ ILSTC (International Land and Sea Trade Corridor) เพื่อใช้ในการลำเลียงสินค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออก โดยมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อของอ่าวตังเกี๋ย) เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจุดหลักในการค้าของมณฑลในภาคตะวันตกของจีนกับต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือพิมพ์ Nanning Evening (南宁晚报) วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน