กว่างซีเบนเข็มพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชน
7 Mar 2014เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ทางการกว่างซีกำลังเร่งผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด และผลักดันให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมเสาหลักเชิงยุทธศาสตร์ของมณฑล
จากแนวโน้มข้างต้น เมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทางการกว่างซีได้พิจารณาและผ่านความเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินการภายใต้ “กรอบแผนงานด้านการท่องเที่ยวและพักผ่อนของประชาชนจีน ระหว่างปี 2556-2563” (国民旅游休闲纲要(2013-2020), The Outline for National Tourism and Leisure (2013-2020)) ในบริบทของเขตฯ กว่างซีจ้วง
กรอบแผนงานฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของมณฑล ตลอดจนการกระตุ้นการใช้จ่ายในหมวดท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น โดยสาระสำคัญมีดังนี้
หนึ่ง ส่งเสริมระบบ “วันหยุด+เงินเดือน” ให้กับพนักงานลูกจ้าง กล่าวคือ ปัจจุบัน ฝ่ายนายจ้างส่วนใหญ่จะไม่จ่ายค่าตอบแทนเงินเดือนในวันลาหยุดของพนักงานลูกจ้าง (วันหยุดนักขัตฤกษ์ต้องจ่ายตามปกติ)
เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นการท่องเที่ยวดังกล่าวข้างต้น กรอบแผนงานฯ ระบุให้ฝ่ายนายจ้าง (ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน) ให้สิทธิการลาหยุดงานโดยได้รับค่าตอบแทนเงินเดือนระหว่างลาหยุดแก่พนักงานลูกจ้างของตน
นั่นหมายความว่า พนักงานลูกจ้างในเขตเมืองของกว่างซีสามารถเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนนอกเหนือจากวันหยุดนักขัตฤกษ์ได้โดยไม่ถูกหักค่าตอบแทน/เงินเดือน
ทั้งนี้ ทางการกว่างซีตั้งเป้าหมายว่า ภายในปีหน้านี้ (ปี 58) จะมีฝ่ายนายจ้างในเขตเมืองมากกว่าร้อยละ 50 สามารถปฏิบัติตามกรอบแผนงานดังกล่าว และสามารถใช้ครอบคลุมทั่วทั้งมณฑล ภายในปี 2563
ยอดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนของประชาชนทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทมีการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 40 จากปี 2555 และอัตราการเฉลี่ยของการออกไปท่องเที่ยวพักผ่อนของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยละ 1 เท่าจากปี 2555
อนึ่ง กรอบแผนงานดังกล่าวนับเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการออกไปเดินทางท่องเที่ยวและกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว
สอง เพิ่ม “สถานที่ท่องเที่ยวตัวเลือก” และวาง “ตำแหน่ง” (Positioning) ของเมืองท่องเที่ยว โดยกรอบแผนงานฯ ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน ดังนี้
(2.1) เมืองท่องเที่ยว “ตัวเก๋า” (เมืองกุ้ยหลิน นครหนานหนิง เมืองเป๋ยไห่ เมืองหลิ่วโจว และเมืองอู๋โจว) เน้นยกระดับแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนในพื้นที่รอบตัวเมือง ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะและขยายขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของสถานที่ท่องเที่ยว พัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวพักผ่อนระดับพรีเมี่ยม
(2.2) เมืองท่องเที่ยว “น้องใหม่” ที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยว (ที่เหลืออีก 9 เมือง) เน้นการเร่งส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนในพื้นที่รอบตัวเมือง ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและระบบคมนาคม สร้างไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวพักผ่อนให้กับคนในพื้นที่ สนับสนุนตัวเลือกด้านการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายสำหรับผู้รักการท่องเที่ยวพักผ่อน
(2.3) แนวทางอื่น ๆ ได้แก่ เร่งปรับปรุงพัฒนาจุดท่องเที่ยวพักผ่อนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว การเร่งบุกเบิกพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น เช่น นครหนานหนิงกับการท่องเที่ยวแบบ City Tour เมืองหลิ่วโจวกับการสัมผัสเสน่ห์ชนชาติ เมืองอู๋โจวกับอาหารเลิศรส พื้นที่ฝั่งตะวันออกของกว่างซีกับน้ำพุร้อน เมืองไป่เซ่อกับแหล่งรำลึกประวัติศาสตร์การปฏิวัติ เป็นต้น
(2.4) การพัฒนาและขยายพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มตัวเลือกให้กับประชาชน แบ่งเป็น 6 พื้นที่ ได้แก่ (1) เขตพื้นที่พักผ่อนเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรมของเมืองกุ้ยหลิน (2) เขตพื้นที่พักผ่อนทางทะเลและต่างประเทศของอ่าวเป่ยปู้ (หรืออ่าวตังเกี๋ย) (3) เขตพื้นที่พักผ่อนเชิงธุรกิจและนิทรรศการของนครหนานหนิง (4) เขตพื้นที่พักผ่อนเชิงสุขภาพของแม่น้ำซีเจียง (5) เขตพื้นที่พักผ่อนเชิงวัฒนธรรมและนิเวศของแม่น้ำหงสุ่ย (ต้นน้ำของแม่น้ำซีเจียง อยู่ทางตอนเหนือของกว่างซี) และ (6) เขตพื้นที่พักผ่อนเชิงวัฒนธรรม ธรรมชาติ และนิเวศบริเวณด่านชายแดน
สาม ส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว และกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว อาทิ
(3.1) การส่งเสริมผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวตามฤดูกาล/เทศกาล เช่น การท่องเที่ยวแบบ Self Drive การปั่นจักรยานท่องเที่ยว (Touring Bike) การท่องเที่ยวทะเล การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวด่านชายแดน การท่องเที่ยวเส้นทางปฏิวัติ การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงประเพณีวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวตกปลา (Fishing Travel)
(3.2) การกระตุ้นอุปสงค์ทางการตลาดท่องเที่ยวและพัฒนาศักยภาพของอุปทานทางการท่องเที่ยว เช่น การเปิดสถานที่ท่องเที่ยวให้เข้าชม “ฟรี” (สวนสาธารณะในเมือง พิพิธภัณฑ์ อนุสรณ์สถาน) ทั้งแบบกำหนดและไม่กำหนดเวลา การดำเนินนโยบาย “ลด/ยกเว้น” ค่าบัตรผ่านประตูสำหรับกลุ่มเป้าหมาย (บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ นักเรียนนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ครูอาจารย์ ผู้สูงอายุ ทหาร และผู้พิการ) และการส่งเสริมให้หน่วยงานผู้จ้างจัดกิจกรรมท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นรางวัลหรือสวัสดิการสำหรับพนักงานลูกจ้าง และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจัดโปรโมชั่นที่มีความคล่องตัวและมีความหลากหลายให้กับนักท่องเที่ยว
สี่ สร้างกลไกบริหารการจัดการท่องเที่ยวอื่น ๆ เช่น การพัฒนา “บัตรท่องเที่ยวพักผ่อนอัจฉริยะ” (มีบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อมูลการท่องเที่ยวพักผ่อน รายละเอียดการใช้บริการในสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อน การชำระเงิน และการสะสมคะแนน) โดยผู้ถือบัตรสามารถเข้าร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวพักผ่อนในกว่างซี และได้รับการอำนวยความสะดวกด้านการบริการและส่วนลดพิเศษที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังมีพัฒนาการบริการด้านข้อมูลสารสนเทศ การใช้สื่อประชาสัมพันธ์ประเภทต่าง ๆ การสร้างและพัฒนาฟังก์ชั่นระบบข้อมูลการท่องเที่ยวพักผ่อน และระบบบริการข้อมูลเตือน (สภาพอากาศ สภาพการจราจร) การสร้างเว็บไซต์ท่องเที่ยวออนไลน์ การพัฒนาสายด่วนร้องเรียนด้านการท่องเที่ยว (Hotline 12301) เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกหลอกลวงด้านการท่องเที่ยว การส่งเสริมความร่วมมือ (คลัสเตอร์) แบบช่องทางของกลุ่มธุรกิจระหว่างมณฑล