11 มาตรการ เพิ่มขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมของกว่างซี
21 Sep 2018
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมของมณฑล รัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วงได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมกว่างซีให้มีคุณภาพสูงขึ้น ระหว่างปี 2561-2563” โดยมุ่งพัฒนาและต่อยอดธุรกิจของอุตสาหกรรมดั้งเดิม เร่งยกระดับและปรับโฉมธุรกิจ พร้อมส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเบาเพื่อเติมเต็มให้โครงสร้างอุตสาหกรรมเกิดความสมบูรณ์ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ในตลาด โดยแผนปฏิบัติการมี 11 มาตรการ ดังนี้
1. เร่งต่อยอดและส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น รถยนต์ เครื่องจักรกล อลูมิเนียม ถลุงโลหะและโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก (nonferrous metal) เคมีภัณฑ์ น้ำตาล สินค้าอุปโภคบริโภค และการแปรรูปสินค้าเกษตร
2. ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ที่มีพื้นฐานความพร้อมและเป็นจุดแข็งให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ การผลิตอุปกรณ์ขั้นสูง รถยนต์พลังงานทางเลือก และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) รวมทั้งบ่มเพาะอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ที่เริ่มมีพื้นฐานความพร้อมแล้ว เช่น วัสดุสมัยใหม่และการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3. ส่งเสริมการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพสูง 10 กลุ่ม พัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานระดับสูงให้สมบูรณ์ขึ้น ผลักดันการต่อยอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมไปสู่ระดับ Mid-High End และสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นจุดเด่น
4. ส่งเสริมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี บ่มเพาะวิสาหกิจที่มีนวัตกรรม สร้างแพลตฟอร์มเปิดด้านนวัตกรรมสำหรับภาคธุรกิจ พัฒนาเทคโนโลยีอเนกประสงค์ ถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
5. ปรับปรุงและยกระดับเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยเฉพาะโรงงานผลิตเครื่องจักรกลและรถยนต์ และพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Internet) และระบบคลาวด์เพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Cloud) ให้มีความสมบูรณ์ทั้งเครือข่าย แพลตฟอร์ม และความปลอดภัย
6. พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้อุตสาหกรรมการผลิตเร่งพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียว โรงงานสีเขียว นิคมสีเขียว พัฒนาอุตสหากรรมสีเขียวที่เป็นจุดแข็ง เช่น การประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การผลิตที่สะอาด พลังงานสะอาด และการรีไซเคิล
7. ส่งเสริมการลงทุนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเป้าหมาย มุ่งพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมให้สมบูรณ์ พัฒนากิจกรรมส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น การดึงดูดการลงทุนและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมของธุรกิจในห่วงโซ่อุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับภาคธุรกิจแบบ “หิ้วกระเป๋าเข้าลงทุนได้เลย” (เสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุริจ โดยไม่ต้องทุ่มเงินให้จมอยู่กับการลงทุนก่อสร้างโรงงานและที่ดิน)
8. พัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ระดับอำเภอ เพิ่มขีดความสามารถเพื่อรองรับการลงทุนของนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระดับอำเภอและผลักดันการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของอำเภอ
9. บ่มเพาะบุคลากรและส่งเสริมการเติบโตของภาคธุรกิจ บ่มเพาะนักธุรกิจและฝึกอบรมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ส่งเสริมการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ กระตุ้นตลาดให้มีพลวัตและให้ธุรกิจเกิดการปรับโครงสร้าง รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจเอกชน
10. สร้างแบรนด์และขยายตลาด สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแบรนด์และการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า และเร่งพัฒนาธุรกิจ e-Commerce เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า
11. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยการนำร่องการปฏิรูประเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจสอบอนุมัติโครงการการลงทุนให้มีความสะดวกและรวดเร็ว จัดทำระเบียบบริหารราชการเพื่อกำหนดขอบเขตอำนาจของหน่วยงานรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพในการอนุมัติโครงการการลงทุนด้านไฟฟ้าพลังน้ำและก๊าซ ลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้าและก๊าซของภาคธุรกิจ และสร้างหลักประกันและพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดสรรปัจจัยการผลิต อาทิ ถ่านหิน ไฟฟ้า น้ำมัน การขนส่ง ก๊าซธรรมชาติ เงินทุน และแรงงาน
จัดทำโดย นายชิว เจียเหว่ย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
แหล่งที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (中国新华网) ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2561
ภาพประกอบ www.pixabay.com