พาไปดูการเกษตรอัจฉริยะในจีน : ประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตร 4.0 ของไทย
7 Mar 2022
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสภาแห่งรัฐจีนออกประกาศ “แผนการส่งเสริมการฟื้นฟูชนบทในปี 2565 ” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านอัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการเกษตรแบบบูรณาการ ปัจจุบัน เขตชนบทในนครฉงชิ่งต่างนำเอาเทคโนโลยีไปปรับใช้กับการเกษตร เพื่ออำนวยความสะดวกในแต่ละขั้นตอน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำนครเฉิงตู ขอเสนอตัวอย่างการพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีในนครฉงชิ่ง ดังนี้
1. สวนผลไม้อัจฉริยะหมู่บ้านชิงหลง
สวนผลไม้ในหมู่บ้านชิงหลง อำเภอต้าเสิ้ง เขตยวี๋เป่ย นครฉงชิ่ง ใช้โดรนขนาดใหญ่ในการฉีดพ่นน้ำผสมธาตุสารอาหารผ่านการควบคุมระยะไกล แทนการรดน้ำใส่ปุ๋ยแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังมีสถานีตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีอุปกรณ์ตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม ปริมาณน้ำฝน ความเข้มของแสง และข้อมูลอื่น ๆ ในสวนตลอด 24 ชั่วโมง สามารถคำนวนสภาพภูมิอากาศได้ล่วงหน้า เพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก ข้อมูลสภาพอากาศดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังอาคารสำนักงาน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการเจริญเติบโตของต้นไม้ คาดการปริมาณผลผลิต ข้อมูลสภาพแวดล้อมในดิน และแสดงผลข้อมูลทั้งหมดบนหน้าจออัจฉริยะ
2. ฟาร์มโคนมเทียนเหอ เขตเหอชวน
ฟาร์มโคนมเทียนเหอ เขตเหอชวน นครฉงชิ่ง มีโคนมกว่า 600 ตัว โคนมจะต้องได้รับอาหารที่ถูกต้องแม่นยำเพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของนมโค ในอดีตเจ้าหน้าที่ฟาร์มจำเป็นต้องควบคุมส่วนผสมและปริมาณอาหารทุกวัน ซึ่งการควบคุมโดยมนุษย์อาจมีความคลาดเคลื่อน ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ ระบบสามารถผสมส่วนผสมอาหารตามอัตราส่วนที่กำหนด และให้อาหารโคนมตามเวลาที่ตั้งค่าไว้ มีระบบประมวลผลอย่างแม่นยำ ช่วยลดข้อผิดพลาดและความคลาดเคลื่อนจากการให้อาหารด้วยวิธีดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังมีระบบพ่นน้ำอัตโนมัติเพื่อลดอุณหภูมิของ โคนม ในช่วงที่มีอุณหภูมิสูงเกินกำหนด
3. Jutubao.com แพลตฟอร์มคอมมูนิตี้สำหรับเกษตรกรจีน
บนแพลตฟอร์ม Jutubao.com (聚土网) ผู้ใช้งานสามารถเปิดให้เช่าพื้นที่เพาะปลูก และลงประกาศคำสั่งซื้อสำหรับซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรในปริมาณมาก นอกจากนี้ ทางแพลตฟอร์มยังให้บริการข้อมูลในการเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลด้านเทคโนโลยีการเพาะปลูก ราคาตลาด และบริการการตรวจสอบผลผลิตทางไกล
แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นของบริษัทผู้ออกแบบแอปพลิเคชั่นในนครฉงชิ่ง ปัจจุบัน ผู้ใช้งานประกอบด้วย เกษตรกรรายใหญ่กว่า 300,000 ราย และเกษตรกรรายย่อยกว่า 3 ล้านราย ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมากกว่า 3,000 ชนิด เชื่อมโยงผู้ใช้ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ มีปริมาณการทำธุรกรรมกว่า 3 พันล้านหยวนต่อปี ครอบคลุมพื้นที่ 18 มณฑลทั่วประเทศจีน
4. ไร่ชาติ้งซิน เขตปาหนัน
ไร่ชาติ้งซิน ตั้งอยู่ในอำเภอเอ้อเสิ้ง เขตปาหนัน นครฉงชิ่ง รัฐบาลท้องถิ่นได้ร่วมมือกับ China Telecom และองค์กรอื่น ๆ ในการสร้าง “แพลตฟอร์มบล็อกเชนหมู่บ้านอัจฉริยะ” โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสถานที่ปลูก สถานที่ผลิต สถานที่ขาย ผลการทดสอบคุณภาพ และขั้นตอนการปลูก ฯลฯ ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ และช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจและเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้น
5. สวนผัก–บ่อปลา AI ของสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรนครฉงชิ่ง
เทคโนโลยีอัจฉริยะนำมาซึ่งความเป็นไปได้และสร้างโอกาสที่มากขึ้น ในอุทยานเทคโนโลยีทางการเกษตรขั้นสูงของสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรนครฉงชิ่ง มี ” สวนผัก-บ่อปลา AI ” ซึ่งปลูกผักและเลี้ยงปลาด้วยเทคโลยี AI ที่สามารถตรวจสอบศัตรูพืชและโรคในพืช-ปลา พฤติกรรมของปลา รวมถึงการให้อาหารปลา และบำบัดน้ำโดยนำมูลปลาหมุนเวียนไปเป็นปุ๋ยให้กับพืช เป็นการใช้ประโยชน์ของวงจรการเพาะปลูกพืชและการขยายพันธุ์สัตว์อย่างเต็มที่
การปลูกผักโดยใช้เทคโนโลยีการเพาะปลูกบนชั้นวาง ช่วยเพิ่มผลผลิตมากขึ้นหลายเท่าแต่ใช้พื้นที่น้อยลงเมื่อเทียบกับการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม กระบวนการทั้งหมดใช้หุ่นยนต์ AI ตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว
คณะกรรมการเกษตรและชนบทของฉงชิ่ง เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นครฉงชิ่งได้ดำเนินการโครงการ “การเกษตรอัจฉริยะ–หมู่บ้านดิจิทัล” อย่างจริงจัง ใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เช่น AI, 5G และหุ่นยนต์เพื่อการเกษตร บูรณาการเพื่อพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะ
ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน นครฉงชิ่งได้ลงทุน 110 ล้านหยวนในกองทุนเพื่อสร้างฐานสาธิตทดลองทำการเกษตรอัจฉริยะกว่า 200 แห่ง รวมถึงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการเพาะปลูก ปศุสัตว์ และการประมง
สรุป
การลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรได้เปลี่ยนรูปแบบเกษตรกรรมจาก “งานที่ต้องใช้แรงงาน” สู่ “งานที่ต้องใช้สมองและสติปัญญา” นครฉงชิ่งมีเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยซึ่งครอบคลุมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเพาะปลูก-เก็บเกี่ยว-ตรวจสอบคุณภาพ-จำหน่ายสู่ผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานตามนโยบายการฟื้นฟูชนบท เพื่อมิให้ชาวชนบทหรือเกษตรกรจีนกลับไปสู่ความยากจนอีก
สำหรับประเทศไทย การเกษตรกรรมของไทยได้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การเกษตร 4.0 หรือการเกษตรแม่นยำสูง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยแรงงานศักยภาพสูงที่มีทักษะ การออกแบบ ค้นคว้าและวิจัย และเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ ๆ ดังเช่นที่รัฐบาลจีน และรัฐบาลนครฉงชิ่งกำลังเร่งผลักดันอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำ เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำให้กับเกษตรกรในชนบท อีกทั้งทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และทำให้ประเทศไทยยังคงเป็น “ครัวของโลก” ต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักข่าวซินหัว (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565)
http://cq.news.cn/2022-03/01/c_1128422196.htm
ขอบคุณรูปภาพจากสำนักข่าวซินหัว และเว็บไซต์ Jutubao.com