QA

การทําธุรกิจในจีน

Qสนใจต้องการเข้ามาตั้งบริษัทในจีนเพื่อขายสินค้าจากประเทศไทย อยากทราบแนวทางการเริ่มต้นการเปิดบริษัทในจีนว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ต้องใช้เงินทุนจดทะเบียนเท่าไร รูปแบบกิจการของต่างชาติที่สามารถตั้งได้ในจีนมีกี่ประเภทและมีข้อแตกต่างอย่างไรบ้าง การจ้างงานสามารถทำได้อย่างไรบ้าง

A

Q&A การทำธุรกิจในจีน

การเริ่มต้นจัดตั้งธุรกิจในจีน ผู้ประกอบการควรมีความรู้เบื้องต้นถึงข้อพิจารณาที่สำคัญในการเริ่มต้นกิจการ อาทิ ลักษณะการประกอบกิจการ ทำเลที่ตั้ง รูปแบบประเภทของกิจการที่สามารถจัดตั้งได้ การดำเนินการเตรียมเอกสารเพื่อจัดตั้ง ขั้นตอนการขออนุญาตที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ซึ่งล้วนรายละเอียดที่มีการเตรียมเอกสารหลายขั้นตอน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ต้องการจัดตั้งธุรกิจในจีนมักจะใช้บริการของบริษัทที่ปรึกษาด้านกฏหมายที่มีความชำนาญ เพื่อช่วยยื่นจดทะเบียนบริษัท

ต่อคำแนะนำการจัดตั้งธุรกิจในจีนนี้ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน นครเซี่ยงไฮ้ ได้จัดทำคู่มือการจัดตั้งธุรกิจในจีนเกี่ยวกับคู่มือการนำเข้าสินค้าไทยและการจัดตั้งบริษัทเทรดดิ้งในจีนที่รวบรวมสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการควรทราบก่อนจัดทั้งบริษัท ตลอดจนขั้นตอนการจัดตั้งบริษัทเบื้องต้นที่สามารถใช้เป็นคู่มือประกอบการตัดสินใจในช่วงเริ่มแรกได้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้โดยตรงจากเว็บไซต์ ThaiBizChina.com
หัวข้อย่อย “BIC Publication” หรือลิงค์ http://tbc.tan.cloud/thaibizchina/th/article

สำหรับรายละเอียดในเรื่องทุนจดทะเบียนของบริษัทในจีน แต่ละท้องถิ่นของจีนมิได้กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่ชัดเจน จำนวนเงินทุนจดทะเบียนจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานจีนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะดูจากแผนการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียนบริษัทมา (รายละเอียดเพิ่มเติมในคู่มือการจัดตั้งธุรกิจในจีน หน้าที่ 9 ของหน้ารวม 75 หน้า)

รูปแบบของกิจการต่างชาติสามารถจัดตั้งได้ ธุรกิจต่างชาติสามารถเลือกรูปแบบของกิจการได้ 4 ประเภท ตามความเหมาะสมของลักษณะธุรกิจตนเอง ดังนี้

  • Representative office; RO (สำนักงานตัวแทน)
  • Wholly foreign-owned enterprise; WFOE (กิจการประเภทเจ้าของเป็นชาวต่างชาติเป็นทั้งหมด)
  • Joint venture; JV (กิจการร่วมทุน)
  • The foreign-invested commercial enterprise: FICE

รูปแบบธุรกิจทั้ง 4 แบบมีข้อดี – ข้อเสียที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถศึกษาเปรียบเทียบได้ตามตารางต่อไปนี้

ประเภทกิจการ สถานะทางกฏหมาย จุดประสงค์ ข้อดี ข้อเสีย
สำนักงานตัวแทน Representative office (RO) ไม่มีสถานะทางกฏหมาย – วิจัยตลาด
– วางแผนการเข้ามาดำเนินการในอนาคต
– ประสานงานอำนวยความสะดวกให้บริษัทแม่
– ใช้เงินทุนจัดตั้งน้อย
– มีความคล่องตัวในการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการตลาดและการประสานงาน
– ไม่สามารถออกใบแจ้งหนี้สกุลเงินหยวนได้
– จะต้องจัดจ้างเจ้าหน้าที่ผ่านตัวแทนจัดหางานในท้องถิ่น
กิจการประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด Wholly foreign-owned enterprise (WFOE) จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดตามกฏหมาย – ผลิตสินค้า (สำหรับขายในจีนหรือส่งออก)
– ให้บริการทางธุรกิจ
– เจ้าของเป็นต่างชาติทั้งหมด
– สามารถดำเนินกิจกรรมตามขอบเขตธุรกิจได้ยืดหยุ่น
– สงวนกรรมสิทธิ์ในด้านเทคโนโลยี และทรัพยสินทางปัญญาได้
– รักษาวัฒนธรรมองค์กรดั้งเดิม
– สามารถโอนผลกำไรจากเงินสกุลหยวนกลับไปยังต่างชาติได้
– ใช้เงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนตลอดโครงการ
– ต้องสร้างยอดขายในตลาดจีนด้วยตัวเอง
กิจการร่วมทุน Joint venture (JV) จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดตามกฏหมาย – เพื่อเป็นไปตามข้อกำหนดที่ต้องมีคนท้องถิ่นถือหุ้นด้วย
– เมื่อหุ้นส่วนท้องถิ่นยื่นข้อเสนอ ที่ลงตัวให้ได้ เช่น ผลกำไร ยอดขาย ช่องทางการกระจายสินค้า ฯลฯ
– สามารถต่อยอดโรงงานและแรงงานจากเดิมที่มีอยู่ได้
– สามารถต่อยอดช่องทางขายและกระจายสินค้าจากเดิมได้
– การดำเนินงานล่าช้า
– การปรับขยายสินทรัพย์หรือยอดขายร่วมกันระหว่างหุ้นส่วนที่อาจมีตัวเลขเกินจริงได้
– การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันและการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกัน
– ความเสี่ยงในการบริหารงานร่วมกัน
วิสาหกิจการค้าที่ลงทุนโดยต่างประเทศ Foreign-invested commercial enterprise (FICE) จำกัดจำนวนหนี้ที่รับผิดตามกฏหมาย สำหรับกิจการประเภทชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมดหรือกิจการร่วมทุนที่ประกอบกิจการด้านการค้า การกระจายสินค้า และการค้าส่ง – เอื้อต่อกิจการประเภทการค้าและการกระจายสินค้า – ใช้เงินทุนจดทะเบียนสูง

ด้านการจ้างแรงงาน ตามกฎระเบียบของทางการจีนนั้น ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าจะต้องจ้างลูกจ้างจีนหรือต่างชาติในสัดส่วนเท่าใด โดยบริษัทสามารถเลือกจ้างได้ตามที่ต้องการ อย่างไรก็ดี จีนค่อนข้างให้ความสำคัญกับแรงงานต่างชาติที่มีทักษะระดับสูง หากเป็นแรงงานทักษะทั่วไปก็มักจะอนุมัติวีซ่าทำงานให้ค่อนข้างยาก เนื่องจากจีนไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้าแย่งงานกับคนจีนท้องถิ่นเท่าใดนัก (รายละเอียดเพิ่มเติมในคู่มือการจัดตั้งธุรกิจในจีน หน้าที่ 71 ของหน้ารวม 75 หน้า โดยดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของศูนย์ฯ ตามลิงค์ข้างต้น) เกี่ยวกับข้อมูลการจัดตั้งเป็นบริษัทเทรดดิ้งในจีน รวมทั้งข้อบังคับหุ้นส่วนของชาวต่างชาติ และการจ้างแรงงานต่างชาติ (แรงงานไทย) ในจีน

อ่านคำถามอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน