QA

การส่งออกสินค้าไปจีน

Qอยากทราบขั้นตอนการส่งออกกล้วยไม้จากไทยไปจีนอย่างละเอียด ตลอดจนโอกาสทางการตลาดของกล้วยไม้ไทยในจีน และข้อแนะนำที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้สนใจส่งออกกล้วยไม้จากประเทศไทย

A

Q&A การส่งออกสินค้าไปจีน

การเริ่มต้นส่งออกกล้วยไม้จากไทยไปจีนเป็นครั้งแรก มีข้อควรคำนึงที่สำคัญ ได้แก่ ขั้นตอนการจัดเตรียมกล้วยไม้สำหรับส่งออก ขั้นตอนส่งออกจากประเทศไทย ขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้ากล้วยไม้เข้ามาในจีน

ขั้นตอนการจัดเตรียมกล้วยไม้เพื่อการส่งออก

กล้วยไม้ที่เพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออก จะมีขั้นตอนหลังตัดดอกจนถึงบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างไปจากกล้วยไม้ทั่วไปที่ขายในประเทศ ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญตั้งแต่การขนส่งกล้วยไม้จากสวนมายังโรงบรรจุหีบห่อของบริษัท เพื่อดำเนินการคัดเลือก จัดเกรด และปฏิบัติการในขั้นตอนของการกำจัดแมลงศัตรูพืช และกระบวนการให้ความเย็นเพื่อทำให้ดอกไม้สด แข็งแรง ได้คุณภาพและปลอดแมลง ตลอดจนระบบการทำความเย็น ซึ่งมีการควบคุมทั้งอุณหภูมิและความชื้นมาใช้ทั้งในขั้นตอนของการบรรจุหีบห่อและการขนส่งไปยังสนามบิน

ขั้นตอนการส่งออกจากประเทศไทย

กล้วยไม้ที่ต้องการส่งออกไปต่างประเทศจะต้องมีขอ และ CITES จากกรมวิชาการเกษตร โดยนำต้นกล้วยไม้ที่จะส่งออกไปตรวจด้วย หากเป็นกล้วยไม้พันธุ์แท้ต้องไปขอ CITES ที่ สนง CITES ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สำหรับกล้วยไม้ลูกผสมสามารถขอได้ที่แผนกตรวจพืช Plant Quarantine ที่สนามบินได้เลย

ผู้ส่งออกจะต้องมีบัตรประจำตัวผู้ส่งออกกับกรมการค้าต่างประเทศ และกรมศุลกากร และจะต้องขอใบอนุญาตปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary Certificate) จากกรมวิชาการเกษตร หากกล้วยไม้ที่ต้องการส่งออกเป็นพันธุ์แท้ หรืออยู่ในบางสายพันธุ์ที่มีข้อกำหนดไว้ เช่น กล้วยไม้จัดอยู่ในวงค์ Orchidaceae ซึ่งยางชนิดอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora, CITES)

การขออนุญาตส่งออกพืชอนุรักษ์และซากพืชอนุรักษ์ตามวงค์และชนิดที่ระบุไว้ในบัญชีที่ต้องขออนุญาต ในกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอได้ที่กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ส่วนจังหวัดให้ยื่น ณ ด่านตรวจพืช 3 แห่ง เท่านั้น ได้แก่ ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานเชียงใหม่ ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานภูเก็ต ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานหาดใหญ่ รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ ฝ่ายนำพืชและอนุรักษ์พืชป่า กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร.02-940-6573, 02-940-6775 ต่อ112

– การขอจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ สามาระขอจดทะเบียนได้ที่ฝ่ายบริการส่งออก ศูนย์ผลักดันสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก (ศกอ.) กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2940-6320-1

– การขอใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary Certificate) การขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชกำกับไปกับสินค้าที่ส่งออก ไม่ได้เป็นการบังคับ เป็นความประสงค์ของผู้ส่งออกที่จะขอ หรือเป็นไปตามความต้องการของประเทศผู้นำเข้า ยกเว้นการส่งออกดอกกล้วยไม้ไปสหภาพยุโรป ผู้ส่งออกต้องขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชจากกรมวิชาการเกษตร และต้องไปแสดงต่อพนักงานศุลกากรในการส่งออกทุกครั้ง ผู้ใดประสงค์จะขอใบรับรองปลอดศัตรูพืช ให้ยื่นคำขอตามแบบ พ.ก.9 ส่วนกลางยื่นได้ที่

– งานมาตรฐานและบริการตรวจพืช ฝ่ายกักกันพืช กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร 02-579-1568, 02-579-6466-8

– งานมาตรฐานและบริการตรวจพืช สำนักงานคลังสินค้าที่ 2 บริเวณท่าอากาศยานกรุงเทพ โทร 02-504-2719-20, 02-535-1696 โทรสาร 02-504-2720 ส่วนภูมิภาคที่ด่านตรวจพืชทุกด่านทั่วประเทศ

ปัจจุบันมีบริษัทผู้ให้บริการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สามารถดูแลการขนส่งตั้งแต่สินค้ายังอยู่ที่โรงงาน/ฟาร์ม ดำเนินการขั้นตอนขออนุญาตเพื่อการส่งออกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทนผู้ส่งออกซึ่งมีความละเอียดในด้านเอกสารการส่งออกและขั้นตอนทางเทคนิคอื่นๆ เพื่อให้สินค้าออกจากประเทศได้โดยราบรื่น รวมทั้งจัดการกระบวนการขนส่งข้ามประเทศ ติดต่อกับสายการบิน/สายเรือ และเมื่อสินค้าส่งถึงประเทศปลายทางแล้วก็จะดำเนินการขออนุญาตนำเข้ากับหน่วยงานศุลกากรของประเทศปลายทางตามขั้นตอนที่ถูกต้องรวมทั้งขั้นตอนทางด้านการตรวจสอบสินค้าขาเข้า กระบวนการในการเสียภาษี เพื่อให้สินค้าส่งถึงมือผู้รับ/ลูกค้าปลายทาง ซึ่งขั้นตอนเพื่อให้สินค้าผ่านพิธีการนำเข้าของประเทศปลายทางได้นั้นมีความยุ่งยากเนื่องจากกฏระเบียบ การจัดเตรียมเอกสารภาษาท้องถิ่น และการดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของแต่ละพื้นที่ แต่ก็ควรเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์ หรือเป็นบริษัทที่มีพันธมิตรที่เป็นบริษัทจีนคอยดำเนินการในขั้นตอนย่อยในประเทศปลายทาง

ดังนั้นบริษัทผู้ให้บริการขนส่ง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าบริษัทชิปปิ้งนั้น เป็นส่วนสำคัญที่คอยช่วยเหลือให้กระบวนการขนส่งนั้นราบรื่นและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ส่งออกต้องใช้บริการเพื่อลดความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการเอกสารทั้งหมดเพื่อการส่งออกและลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการส่งออก ผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะมีบริษัทชิปปิ้งที่คอยให้บริการ บริษัทชิปปิ้งแต่ละแห่งก็อาจมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่แตกต่างกัน การเลือกบริษัทชิปปิ้งที่เชี่ยวชาญสามารถไว้ใจได้ สามารถแก้ไขปัญหาในการส่งออก/ปัญหาการขนส่งได้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง คุณวรฤกษ์อาจเลือกบริษัทชิปปิ้งโดยสอบถามว่าเคยมีการขนส่งสินค้าชนิดเดียวกันนี้ มายังประเทศจีนหรือไม่ หากบริษัทฯ มีประสบการณ์การขนส่งมากับสินค้าชนิดเดียวกันนี้ไปยังประเทศจีนอยู่ก่อนแล้วก็อาจพิจารณาเลือกใช้บริการเป็นอันดับต้นได้ รายชื่อบริษัทผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศนั้น สามารถเลือกรายชื่อได้จากเว็บไซต์ของทางสมาคมชิปปิ้ง (http://www.ctat.or.th เลือก”สมาชิก”) หรือเว็บไซต์ของสำนักโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (http://www.tradelogistics.go.th เลือก “รายชื่อ LSP”) ซึ่งบริษัทที่อยู่ในรายชื่อจากแหล่งข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นบริษัทที่ผ่านการคัดกรองจากหน่วยงาน/สมาคมและมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งหากพบปัญหาจากการให้บริการสามารถร้องเรียนกับสมาคมฯได้โดยตรง

การขออนุญาตนำเข้าไปยังประเทศจีน การส่งกล้วยไม้เข้าไปประเทศจีน (นำเข้าจีน) ผู้นำเข้าจะต้องมีการขออนุญาตการนำเข้า (Import permit) จากหน่วยงานจีนกล่าวคือสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) ก่อน รายละเอียดข้อกำหนดการนำเข้าสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ http://www.aqsiq.gov.cn หากผู้ที่ต้องการส่งออกมีผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าชาวจีนเพื่อนำสินค้าไปขายต่ออยู่แล้ว ผู้นำเข้าก็จะดำเนินการขออนุญาตการนำเข้าจากทางการจีนได้ หากยังไม่มีผู้นำเข้าจีนก็อาจพิจารณาติดต่อบริษัทตัวแทนนำเข้าเพื่อดำเนินการขั้นตอนการนำเข้าในประเทศจีนแทน หรือพิจารณาจัดตั้งบริษัทในจีนเพื่อยื่นขอนำเข้าด้วยตนเองแทน ทั้งนี้ ผู้ส่งออกควรศึกษาขั้นตอนและกฏระเบียบการนำเข้า การเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการขออนุญาตการนำเข้า โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

– สำนักงานที่ปรึกษาด้านการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ซึ่งเป็นหน่วยงานไทยที่มีหน้าที่โดยตรง (ติดต่อ Office of Agricutural Affairs, Royal Thai Embassy, No.11, Jian Guo Men Wai, Chaoyang District, Beijing 100600, P.R.China E-mail : [email protected] Tel : 8610 65323955 Fax : 8610 65323950) เว็บไซต์ www.thaifruits-online.com

– สำนักงานที่ปรึกษาด้านการเกษตรประจำนครกวางโจว (ติดต่อ Agriculture Section, Royal Thai Consulate-General, Room 1201-1202, Garden Tower, 368 Huanshi Dong Road, Guangzhou 510064, P.R.China E-mail : [email protected] Tel. 8620 83849778, 8620 83338999 Ext.1201,1202 Fax: 8620 83849787)

– สำนักงานที่ปรกึษาด้านการเกษตรประจำนครเซี่ยงไฮ้ (ติดต่อ Agriculture Section, Royal Thai Consulate-General, Shanghai ที่อยู่ Room 1008-1009 No. 158 Hanzhong Road, Shanghai 200070 P.R. China Tel: +86 21-63179965 Fax: +86 2163534146 E-mail [email protected]

การตลาดเพื่อการส่งออก ปัจจุบันจากข้อมูลสถิติอาจพบว่ากล้วยไม้ที่ส่งออกจากไทยนำเข้ามาในเซี่ยงไฮ้ในระยะหลังมีจำนวนค่อนข้างลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฏระเบียบมาตรการในการนำเข้าที่เข้มงวดและรัดกุมของหน่วยงานที่ตรวจสอบสินค้านำเข้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสินค้าดังกล่าวจะไม่มีอนาคตในการสร้างยอดขายในจีนโดยเฉพาะพื้นที่นครเซี่ยงไฮ้ อย่างไรก็ดี การศึกษาข้อมูลสภาพตลาดของสินค้าในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งนั้น อาจจำเป็นจะต้องเข้ามาศึกษาเพื่อสำรวจหาลู่ทางด้านการตลาดด้วยตัวเอง เช่น การเข้ามาสำรวจตลาดค้าส่งดอกไม้สด การสอบถามข้อมูลทางการตลาดกับผู้นำเข้า การสอบถามผู้ค้าที่อยู่ในวงการในพื้นที่นั้นๆ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เป็นต้น การเข้ามาสำรวจตลาดด้วยตนเองจึงมีความสำคัญไม่แพ้การศึกษาข้อมูลสถิติการนำเข้าซึ่งเป็นข้อมูลเชิงมหภาค เพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะนำสินค้ามาทำการตลาดในประเทศจีน หากต้องการส่งออกโดยจะเป็นผู้ดำเนินการนำเข้ามายังเซี่ยงไฮ้และกระจายสินค้าเองโดยตรง ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำศึกษาเพื่อวางแผนการตลาดส่งออกอย่างรอบด้าน แต่หากมีลูกค้าหรือได้รับการติดต่อกับผู้นำเข้าชาวจีนในเซี่ยงไฮ้ที่จะนำกล้วยไม้นำเข้าไปกระจายต่อยังผู้ซื้อโดยตรงนั้น กิจกรรมทางการตลาดในการเพิ่มยอดขายในเซี่ยงไฮ้อาจเป็นหน้าที่ของผู้นำเข้าที่จะนำสินค้าออกสู่ตลาด ในส่วนข้อมูลในส่วนของการตลาดเพื่อการส่งออกในรายสินค้าใดสินค้าหนึ่งนั้น อาจเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ตามความสามารถของแต่ละบริษัทเองที่จะสร้างรายได้ให้บริษัทได้ จึงอาจไม่มีสูตรสำเร็จหรือวิธีการเฉพาะที่ศูนย์ฯ จะแนะนำได้ดีเท่ากับผู้ที่เชี่ยวชาญในวงการส่งออกกล้วยไม้เอง สำหรับผู้ส่งออกรายใหม่ การทำการตลาดสำหรับกล้วยไม้เพื่อการส่งออกในจีน อาจะมาจากการเริ่มต้น ทดลองผิดถูก การศึกษาเรียนรู้ข้อมูลตลาดจากการได้สัมผัสกับลูกค้าโดยตรง และการสั่งสมประสบการณ์ในการเรียนรู้ เป็นต้น

ข้อแนะนำอื่นๆ

การพัฒนาการปลูกกล้วยไม้ให้ได้มาตรฐานกล้วยไม้เพื่อการส่งออก ถึงแม้ว่าไทยเป็นผู้ส่งออกกล้วยไม้รายสำคัญของโลก แต่ปัจจุบันการแข่งขันด้านการส่งออกกล้วยไม้ในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีคู่แข่งสำคัญ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกาที่มีการขยายการลงทุนปลูกกล้วยไม้เพิ่มมากขึ้น การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับต่างประเทศจึงควรให้ความใส่ใจกับมาตรฐานของกล้วยไม้ส่งออก ซึ่งปัจจุบันการผลิตกล้วยไม้ของไทยยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะคุณภาพผลผลิตยังไม่สม่ำเสมอ และสินค้าที่ได้มาตรฐานมีค่อนข้างน้อย ทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดโลกรวมทั้งตลาดจีนได้ ผู้ส่งออกกล้วยไม้ของไทยจึงควรยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานและตรงตามความต้องการของตลาดโดยให้ความสำคัญกับมาตรฐาน กล้วยไม้ที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1.มาตรฐานช่อดอกกล้วยไม้ หรือกล้วยไม้ตัดดอก 2.มาตรฐาน GAP กล้วยไม้ตัดดอก และ 3. มาตรฐาน GMP ของโรงคัดบรรจุดอกกล้วยไม้ ซึ่งประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศได้กำหนดมาตรการการนำเข้าที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่เฉพาะการกำหนดกำแพงภาษีนำเข้าเท่านั้น แต่ยังมีการกำหนดมาตรการสุขอนามัยพืช การตรวจสอบศัตรูพืชสำคัญ เช่น เพลี้ยไฟและไข่หอยที่ปะปนติดไปกับสินค้า ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือว่าเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ใม่ใช่รูปแบบภาษีรูปแบบหนึ่ง แม้ในปัจจุบันจีนอาจยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานการนำเข้ากล้วยไม้เข้มงวดเช่นเดียวกับมาตรฐานกล้วยไม้ที่ส่งออกไปยังประเทศยุโรป แต่ก็มีแนวโน้มการเพิ่มความเข้มงวดในกล้วยไม้ที่นำเข้ามาในจีน โดยเฉพาะกล้วยไม้ที่ส่งออกไปยังตลาดระดับบน ผู้ส่งออกไทยที่สนใจส่งออกกล้วยไม้มาจีนในระยะยาวจึงควรพิจารณาเรื่องมาตรฐานของกล้วยเพื่อการส่งออกดังกล่าวด้วย

การสนับสนุนการส่งออกกล้วยไม้ของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ สำหรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ นอกจากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนที่ให้คำปรึกษาปัญหาการค้าในประเทศจีนแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยอื่นๆ อีกหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและผลักดันการส่งออกกล้วยไม้ไทย เช่น

– สำนักงานที่ปรึกษาด้านการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) สามารถให้ข้อมูลด้านการตลาดและการนำเข้าของสินค้าเกษตรไทยในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสินค้ากล้วยไม้ด้วย โดยมีข้อมูลทั้งความเคลื่อนไหวของสินค้าเกษตรในประเทศจีน อุปสรรคการค้า มาตรการการค้า กฏระเบียบทางการค้าของสินค้าเกษตรแต่ละประเภท ข้อกำหนดในรายละเอียดของใบรับรองสุขอนามัยสินค้าเกษตรในประเทศจีน (ติดต่อ Office of Agricutural Affairs, Royal Thai Embassy, No.11, Jian Guo Men Wai, Chaoyang District, Beijing 100600, P.R.China E-mail : [email protected] Tel : 8610 65323955 Fax : 8610 65323950)

– กรมวิชาการการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถให้ข้อมูลและส่งเสริมการปลูกกล้วยไม้เพื่อการส่งออก อีกทั้งออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช และการรับรองการรมยาให้กับกล้วยไม้ส่งออกโดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และหนังสืออนุญาต CITES สำหรับกล้วยไม้หายากบางชนิดจาก สำนักคุ้มครองพันธุ์พืชแห่งชาติ ที่อยู่ในกรมวิชาการการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

– กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ http://www.ditp.go.th ให้ข้อมูลภาพรวมการส่งออก และข้อมูลด้านการตลาดเพื่อการส่งออก

– คณะกรรมการกล้วยไม้แห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะทำงานที่กำหนดนโยบายการผลิตและการตลาดกล้วยไม้ กำหนดแนวทางการพัฒนากล้วยไม้ไทย แก้ปัญหาการผลิตการส่งออก อีกทั้งดูแลงานวิจัยพัฒนา ส่งเสริมเผยแพร่พัฒนาการตลาดและระบบโลจิสติกส์กล้วยไม้โดยตรง นอกจากนี้ ยังภาครัฐยังได้มีโครงการจัดตั้งศูนย์บริการด้านการตลาดกล้วยไม้ ภายใต้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและให้บริการความรู้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก อีกทั้งเป็นศูนย์การจัดแสดงกล้วยไม้และเจรจาธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ การจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการตลาดกล้วยไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้ากล้วยไม้ รวมทั้งการบูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำระบบเครือข่ายข้อมูลกล้วยไม้ระดับโลก (World Orchid Net) อีกด้วย

อ่านคำถามอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน