ขั้นตอนการเตรียมการ

PR
ประชาสัมพันธ์

ข้อมูลที่น่าสนใจก่อนการเดินทาง

โดยทั่วไปแล้วการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศล้วนแต่มีค่าใช้จ่ายซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่คิดเป็นเงินจำนวนไม่น้อย การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในจีนของผู้ประกอบการไทยนอกเหนือจากการเตรียมพร้อมทางด้านเอกสารและสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่ายแล้ว
การเตรียมพร้อมทางด้านภาษาและการทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับวัฒนธรรม ธรรมเนียมการค้ากับชาวจีนล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การติดต่อซื้อขายเป็นไปอย่างราบรื่นและได้รับมิตรภาพจากเพื่อนคู่ค้าใหม่กลับไป

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกเดินทาง

ประเทศจีนถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีรูปแบบสังคม วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การติดต่อและดำเนินธุรกิจกับชาวจีนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบถึงรูปแบบขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมในการทำธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอนำเสนอเกร็ดความรู้แก่ “ผู้ประกอบการไทย”ที่ต้องการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในจีน ดังนี้

1.รู้จักประเภทของงานแสดงสินค้าและงานแฟร์ในประเทศจีน

1.1 งานแฟร์ที่หน่วยงานจีนเป็นผู้จัด
ส่วนใหญ่เป็นงานแสดงสินค้าที่จัดมานานและมีชื่อเสียงเป็นที่ เช่น งาน Canton Fair ที่กว่างโจว เป็นต้น

1.2 งานแฟร์ที่หน่วยงานไทยหรือจีนจัดขึ้น แบ่งเป็น

  • 1.2.1 งานแฟร์ที่ภาครัฐไทยได้รับการประสานงานจากฝ่ายจีนให้จัดผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมออกงาน (เช่น งาน CAEXPO ที่หนานหนิง งาน CISMEF ที่กว่างโจว)
  • 1.2.2 งานแฟร์ที่หน่วยงานไทยจัดเองโดยเฉพาะและต้องการผู้ประกอบไทยเข้าร่วมงาน อาทิ เทศกาลไทย งานออกร้านแสดงสินค้าที่ร่วมกับหอการค้าจังหวัดต่างๆ ของไทยประสานงานขอให้ภาครัฐไทยในจีนจัดขึ้น

– งานแฟร์ที่หน่วยงานรัฐบาลไทยได้รับการประสานงานจากหน่วยงานผู้จัดจีน

อาทิ งาน China International SME Fair (CISMEF) ที่นครกว่างโจว งานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน” (CAEXPO) ณ นครหนานหนิง งาน The China International Fair for Investment and Trade (CIFIT)ที่เมืองเซี่ยเหมิน งาน Investment and Trade Forum for cooperation between East and West China(ITFCEW) ณ นครซีอาน เป็นต้นซึ่งในแต่ละปีรูปแบบและลักษณะงานอาจเปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากเดิมตามความต้องการของเจ้าภาพผู้จัด

งานประเภทดังกล่าวเป็นงานที่มักได้รับสิทธิพิเศษจากทางผู้จัดอาทิ ส่วนลดหรือการยกเว้นค่าพื้นที่จัดแสดง สิทธิพิเศษด้านภาษี ซึ่งในแต่ละงานจะมีข้อมูลในส่วนนี้ต่างกันออกไป ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอรวบรวมเอาข้อมูลน่าสนใจดังนี้

1. การศึกษาข้อมูล รายละเอียดและประเภทของงานแฟร์

ก่อนการเข้าร่วมงานแฟร์จำเป็นต้องข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อคัดเลือกงานที่ตรงตามประเภทของสินค้า ตรงกลุ่มลูกค้า ตรงตามเป้าหมายทางการตลาดที่กำหนดไว้แม้ว่างานแฟร์ที่หน่วยไทยได้รับการประสานงานจากทางผู้จัดจีนจะช่วยคัดกรองข้อมูลของผู้สมัครเข้าร่วมงานแล้วก็ตาม แต่ผู้ประกอบการเองก็ควรที่จะศึกษารายละเอียดของงานแฟร์ที่จะเข้าร่วมในแต่ละครั้งอย่างละเอียดด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้วสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์หรือสื่อประชาสัมพันธ์ของงานแฟร์หรือข้อมูลที่ทางการจัดส่งให้ โดยปกติแล้วควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญ ได้แก่

  1. ขนาดและลักษณะของงานแฟร์
  2. ประเภท สัดส่วน และจำนวนตัวเลขรวมของผู้เข้าชมงานแฟร์ในครั้งที่ผ่านมา(ผู้นำเข้า ผู้ซื้อ ผู้กระจายสินค้า ผู้บริโภคทั่วไป ฯลฯ)
  3. ชื่อเสียงและความสำเร็จในปีที่ผ่านมาของงานแฟร์
  4. ข้อมูลอื่นๆ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก หรือค่าใช้จ่ายในส่วนของพื้นที่จัดแสดง เป็นต้น
  5. ที่ตั้ง การคมนาคม แผนที่การเดินทาง
  6. การเข้าร่วมของผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยในการจัดงานครั้งที่ผ่านๆมา

2. การเตรียมความพร้อมในส่วนของเอกสาร

การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริษัทถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมให้พร้อมเช่น

  1. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสมัครเข้าร่วมงานแฟร์ ได้แก่ ทะเบียนพาณิชย์,หนังสือรับรองบริษัท(Company Profile),เอกสารของบริษัท(ประทับตราบริษัท),หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือหนังสือบริคณห์สนธิ,สำเนาหนังสือเดินทางของผู้สมัครเข้าร่วมงาน, เอกสารอื่นๆ ตามที่แจ้งในใบสมัคร เพื่อประกอบการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมงาน เป็นต้น
  2. เอกสารเพื่อสำแดงสินค้าแก่ศุลกากร ได้แก่ หลักฐานการชำระภาษีนำเข้าสินค้า,ภาษีมูลค่าเพิ่ม,ภาษีสรรพสามิต (งานมหกรรมบางแห่งให้สิทธิพิเศษในเรื่องการปลอดภาษีนำเข้า ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลของงานนั้นๆอย่างละเอียด เพื่อสิทธิประโยชน์ของตัวท่านเอง)
  3. เอกสารรับรองการตรวจสอบควบคุมคุณภาพสินค้า
  4. เอกสารการรับรองสิทธิบัตร,ลิขสิทธิ์,สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาใดๆ สินค้าของบริษัทซึ่งจะนําไปจัดแสดงในงาน
  5. เอกสารใบรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  6. แคตตาล็อกหรือ ภาพถ่ายสินค้าของบริษัทแต่ละชนิด พร้อมจำนวนและราคา

3. ศึกษาระเบียบการนำเข้า สิทธิและข้อยกเว้นที่เป็นประโยชน์จากผู้จัดงาน

การศึกษาคู่มืองานแฟร์อาจยังไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลกฎระเบียบการค้าของจีนในเบื้องต้นด้วย เช่น

  • ระเบียบศุลกากร ขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออกสินค้า
  • มาตรการทางการค้า
  • ภาษีอื่นๆ
  • ข้อมูลพืชและสัตว์ที่ห้ามนำเข้าส่งออก
  • การรับรองมาตรฐานอาหารและยา เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสินค้าถูกกักกัน ณ ด่านจีน

ดังเช่นกรณีที่ผู้เข้าร่วมงานแฟร์ในจีนบางรายไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่นำมาจัดแสดงต้องมีฉลากภาษาจีนระบุส่วนประกอบ ปริมาณ ชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต วันหมดอายุ เป็นต้น

และถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้เริ่มจำหน่ายสินค้าในจีนอย่างเป็นทางการ แต่การนำสินค้ามาจัดแสดงในงานแฟร์ของจีนก็จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนขออนุญาตนำเข้าสินค้าและเสียภาษีขาเข้าให้ถูกต้อง โดยในงานแฟร์แต่ละงานสิทธิทางด้านภาษีนำเข้าที่ทางการให้แก่ผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านั้นต่างกัน ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูล สิทธิพิเศษที่ทางการจีนให้ในแต่ละงานนั้นๆโดยละเอียด ตัวอย่างเช่น ในงานมหกรรมแสดงสินค้างานหนึ่งที่จัดขึ้นในปีที่ผ่านมา ผู้จัดงานให้สิทธิพิเศษในการยกเว้นค่าพื้นที่จัดแสดงสินค้าแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนและการยกเว้นภาษีนำเข้าแก่สินค้าจัดแสดงที่มีการจำหน่ายในงานตามรายการสินค้าที่กำหนดซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำการศึกษาถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

การตรวจสอบรายการสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยควรทราบก่อนการเข้าร่วมงาน หรือ การศึกษาข้อมูลการยกเว้นภาษีแก่สินค้าที่ส่งไปจัดแสดงชั่วคราว ที่สามารถใช้สิทธิ์พิธีการส่งของออกชั่วคราวในลักษณะที่กำหนดในอนุสัญญาแบบ A.T.A. Carnetได้ โดยผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมเอกสารใบขนสินค้าสำหรับนำของเข้าหรือส่งของออก เพื่อส่งออกสินค้าชั่วคราวและนำกลับมา

*** ข้อแนะนำ *** ปัจจุบันในหลายๆ กระบวนการนำเข้าสินค้า ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้บริการจากบริษัทตัวแทนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ต้องดำเนินการด้วยตนเอง แต่ก็ควรจะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย ผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่กรมศุลกากรและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการส่งออกกำหนดไว้ให้ครบถ้วนเช่นเดียวกับการนำเข้า โดยมีคำแนะนำในการจัดเตรียมเอกสาร และปฏิบัติตามขั้นตอนพิธีการศุลกากรในการส่งออกสินค้า

สำหรับข้อมูลด้านกฎระเบียบดังกล่าวสามารถศึกษาเบื้องต้นได้จากเว็บไซต์หลายแห่งทั้งของไทยและต่างประเทศ เช่น ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (www.wordpress-348433-3180049.cloudwaysapps.com) สำนักมาตรการทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ (www.dft.go.th/exportcontrol หรือ www.thaiexporthelp.com) สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ (www.dft.go.th) หรือสำนักส่งเสริมธุรกิจ SMEs เพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก (www.depthai.go.th) เป็นต้น

4. ตรวจสอบสถานะงานแฟร์

แม้ว่าการเข้าร่วมงานแฟร์ในประเทศจีนผ่านทางหน่วยงานภาครัฐนั้น จะสามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการในแง่ของสถานะงานได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเองควรที่จะศึกษาวิธีการตรวจสอบสถานะความเป็นมาของงานแฟร์ที่จะเข้าร่วม โดยผ่านทางเว็บไซด์หลักของผู้จัดงานหรือ www.biztradeshows.com/china , www.expo-china.com เพื่อตรวจสอบแหล่งข้อมูลให้ชัดเจน

5.ติดตาม ตรวจสอบรายการสินค้าไทยที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีนำเข้า กฎระเบียบจากเว็บไซด์ดังนี้

www.customs.go.th ตรวจสอบประเภทสินค้าว่าจัดอยู่ไหนหมวดหมู่ไหน พิกัดไหน ได้สิทธิ์ในการลดภาษีหรือไม่

www.dft.moc.go.th หน่วยงานหลักในการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form E) และกำกับดูแลการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง FTA

igtf.customs.go.th/igtf/th/main_frame.jsp ตรวจสอบพิกัดสินค้าจากกรมศุลกากรไทย

– งานแฟร์ที่หน่วยงานไทยจัดเองโดยเฉพาะและต้องการผู้ประกอบไทยเข้าร่วมงาน อาทิ เทศกาลไทย งานออกร้านแสดงสินค้าที่ร่วมกับหอการค้าจังหวัดต่างๆ ของไทยประสานงานขอให้ภาครัฐไทยในจีนจัดขึ้น

อาทิ งานเทศกาลไทย ที่มีการจัดในหลายพื้นที่ นอกเหนือจากการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย การสาธิตอาหารและผลไม้ไทยแล้ว ในงานเทศกาลไทยมักมีการออกบูธจำหน่ายสินค้าไทยด้วยเช่นกันอาทิ สินค้าOTOPสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย สินค้าหัตถกรรมและตกแต่งบ้าน สินค้าไทยต่างๆ โดยสามารถดำเนินการผ่านตัวแทนบริษัทชิปปิ้งที่สามารถช่วยอำนวยความสะดวกในด้านพิธีการศุลกากรให้แก่ผู้ประกอบการได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซด์สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทยในส่วนของบริษัทชิปปิ้งที่ทำการนำเข้าสินค้าไปยังประเทศจีน www.ctat.or.th

บทส่งท้าย

การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศจีนถือเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่นักธุรกิจไทยจะได้สัมผัสและติดต่อโดยตรงกับผู้ค้า รวมไปถึงนำเสนอสินค้าของตนให้แก่ผู้ซื้อชาวจีนที่ปัจจุบันมีกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็เช่นเดียวกันที่งานแสดงสินค้าเป็นงานที่รวบรวมเอาผู้ค้าจากนานาประเทศเข้าไว้ด้วยกัน ผู้ซื้อมีตัวเลือกที่หลากหลาย ทำให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้นเพราะฉะนั้นนักธุรกิจไทยที่สนใจจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศจีนจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนเพื่อประเมินศักยภาพและคำนวณงบประมาณที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความพร้อมมากที่สุดในการเข้าร่วมงานเพราะโอกาสมักตกอยู่ในมือของผู้ที่เตรียมความพร้อมอยู่เสมอ

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน