บทเรียนจากฮ่องกง 6: อวสานเศรษฐกิจแบ่งปัน?
10 Aug 20181. สมรภูมิเดือดระหว่าง Uber กับแท็กซี่ Uber นั้นเริ่มธุรกิจในฮ่องกงเมื่อ 4 ปีก่อน โดยได้ให้บริการผู้โดยสารถึงกว่า 1 ล้านราย และมีคนขับในสังกัดกว่า 3 หมื่นคน ซึ่งร้อยละ 80 เป็นการมาขับหาลำไพ่พิเศษจากงานประจำ หรือเป็นผู้ที่เกษียณอายุจากงานประจำแล้ว เนื่องจากสร้างรายได้เสริมที่ดี และเป็นทางเลือกที่ยืดหยุ่นสำหรับผู้ที่ไม่สามารถหางานประจำอื่นได้ แถมยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการฮ่องกงที่เอือมระอากับมารยาทและความปลอดภัยของแท็กซี่
อย่างไรก็ดี ที่ฮ่องกงก็เหมือนกับไทย กล่าวคือ Uber เป็นบริการที่ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ศาลฮ่องกงได้ตัดสินว่าคนขับ Uber ก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากแท็กซี่เถื่อนดี ๆ นี่เอง ซึ่งในครั้งนั้นก็ทำให้คนขับ Uber 5 รายโดนปรับไปรายละ 1 หมื่นดอลลาร์ฮ่องกง และถูกห้ามขับรถไปคนละปี ซึ่งถือเป็นการลงโทษครั้งแรกของฮ่องกง การตัดสินครั้งนั้นส่งผลให้จำนวนคนขับ Uber ลดลงถึงร้อยละ 30 แม้ว่าจะมีความต้องการใช้สูงอยู่ อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่กี่เดือนธุรกิจ Uber ก็เริ่มฟื้นตัวกลับมา
นับตั้งแต่ Uber เริ่มเข้าสู่ตลาดฮ่องกงก็ได้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับแท็กซี่แบบดั้งเดิมมาอย่างต่อเนื่อง โดยบรรดาแท็กซี่ก็ได้มีการจัดประท้วงอยู่เรื่อย ๆ ให้รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังกับ Uber ที่เข้ามาแย่งการทำมาหากิน และเมื่อเดือนเมษายน 2561 คนขับแท็กซี่ประมาณ 30 รายก็ได้นำรถ 10 กว่าคันไปจอดประท้วงหน้าที่ทำการรัฐบาลฮ่องกง หลังจากเกิดอุบัติเหตุที่ Uber ชนกับรถแท็กซี่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 4 ราย ซึ่งเป็นอุบัติเหตุรุนแรงครั้งแรกที่เกิดกับ Uber ในฮ่องกง ซึ่งก็ก่อให้เกิดคำถามเรื่องความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี Uber ได้มีความร่วมมือกับบริษัทประกันภัย AIG ตั้งแต่ปี 2560 สำหรับการประกันภัยบุคคลที่ 3 ตามกฎหมายอยู่แล้ว
จากนั้น เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา Uber ก็เจอมรสุมลูกใหญ่เข้าไปอีกรอบ นั่นก็คือศาลได้พิพากษาให้คนขับ Uber 28 รายมีความผิด และต่างก็โดนปรับกันไประหว่าง 3,800 – 4,500 ดอลลาร์ฮ่องกง ในข้อหาขับรถรับผู้โดยสารโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งถือเป็นการชนะคดีครั้งใหญ่ที่สุดต่อบริการลักษณะนี้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปฏิบัติการล่อซื้อโดยตำรวจ 22 ครั้ง และการร้องเรียนของผู้โดยสารอีก 6 ครั้ง ทั้งในเรื่องการส่งผิดจุดหมายปลายทาง และการคิดค่าบริการไม่ถูกต้อง ระหว่างเดือนเมษายน – สิงหาคม 2560 ซึ่งทางโฆษก Uber ก็ออกมาแสดงความผิดหวังต่อคำตัดสินครั้งนี้ ที่เป็นการปฏิเสธโอกาสทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นสำหรับคนขับรถ Uber โดยกล่าวว่าถือเป็นก้าวถอยหลังสำหรับเส้นทางไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะของฮ่องกง
ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายฮ่องกง การขับรถบริการผู้โดยสารโดยไม่มีใบอนุญาตถือเป็นความผิดทางอาญา ที่ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 ดอลลาร์ฮ่องกง และจำคุกไม่เกิน 3 เดือน สำหรับการกระทำผิดครั้งแรก และโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นดอลลาร์ฮ่องกง และจำคุกไม่เกิน 6 เดือนสำหรับการกระทำผิดครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2561 ได้มีรถถูกดำเนินคดีและระงับใบอนุญาตรถโดยทางการฮ่องกงแล้ว 46 คัน
ทั้งนี้ ในฮ่องกงมีห้องพักประมาณ 9,000 ห้อง จากเจ้าของประมาณ 5,000 รายขึ้นทะเบียนไว้กับ Airbnb โดยเจ้าของห้องพักแต่ละรายได้รายได้เฉลี่ยประมาณปีละ 25,000 ดอลลาร์ฮ่องกง และในปี 2560 ที่ผ่านมา เจ้าของห้องแต่ละรายมีผู้เข้าพักโดยเฉลี่ยประมาณ 40 คืน ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวใช้บริการ Airbnb ถึง 450,000 คน และก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง
ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับแก้ไข องค์การที่พักอาศัยประเภทโรงแรมและเกสต์เฮาส์จะมีอำนาจขอหมายค้นเพื่อบุกเข้ายังห้องพักที่ต้องสงสัยว่าให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ เพื่อปราบปรามการให้เช่าบ้านระยะสั้น ตลอดจนโรงแรมและเกสต์เฮาส์ที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มค่าปรับสำหรับการประกอบการเกสต์เฮาส์โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็น 5 แสนดอลลาร์ฮ่องกง (จากเดิม 2 แสนดอลลาร์ฮ่องกง) รวมทั้งเพิ่มโทษจำคุกจาก 2 ปีเป็น 3 ปีด้วย
ในขณะเดียวกัน ผู้บริหาร Airbnb ได้ออกมาเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติฮ่องกงทบทวนร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับแก้ไขนี้ เนื่องจากจะเป็นการจำกัดโอกาสของคนฮ่องกงในการแชร์ห้องพักของตน รวมทั้งจำกัดทางเลือกของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาฮ่องกงด้วย จึงทำให้เป็นเรื่องที่มีแต่เสียกับเสีย โดยได้อ้างถึงผลการสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ที่แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 77 ของผู้ตอบการสำรวจทั้งหมด 800 คนคัดค้านร่างกฎหมายฉบับแก้ไขนี้ และร้อยละ 65 ของชาวฮ่องกงมีความสนใจที่จะแชร์ห้องพักของตนผ่าน Airbnb หากกฎหมายอนุญาต
ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ห้องพักที่ให้บริการที่พักอาศัยเป็นระยะเวลาสั้นกว่า 28 วันโดยคิดค่าบริการจะต้องมีใบอนุญาต ซึ่งฝ่าย Airbnb ก็มองว่าการสมัครขอรับใบอนุญาตที่ใช้เวลากว่า 400 วันถึงจะได้นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งน่าดึงดูดสำหรับโมเดลการแชร์ห้องพักของตนสักนิด ส่วนร่างกฎหมายฉบับแก้ไขนี้ก็เขียนขึ้นโดยอิงจากผลประชาพิจารณ์ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งก็ไม่น่าจะสามารถนำมาใช้ได้กับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมากในปัจจุบัน รัฐบาลจึงน่าจะพิจารณาทำประชาพิจารณ์ครั้งใหม่ รวมทั้งแก้ไขระเบียบให้การแชร์ห้องพักกลายเป็นที่พักประเภทใหม่ที่ถูกต้อง
ในทางตรงกันข้าม การดำเนินการของรัฐบาลก็เรียกเสียงเชียร์ได้อย่างกึกก้องจากบรรดาผู้ประกอบการโรงแรมที่พยายามเรียกร้องให้จัดการกับ Airbnb อย่างเด็ดขาดเสียที โดยสมาพันธ์เจ้าของโรงแรมฮ่องกง ซึ่งประกอบไปด้วยร้อยละ 90 ของธุรกิจโรงแรมในฮ่องกง ชี้ว่า Airbnb นั้นผิดกฎหมายอย่างชัดเจน และก็ต้องคัดค้านไปตามหลักการ ในขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยว ออกมาให้ความเห็นว่าฮ่องกงอาจไม่เหมาะสำหรับธุรกิจการแชร์ห้องพักเนื่องจากความแออัดของประชากร โดยห้องพักจะต้องมีการติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยและระบบความปลอดภัยสำหรับการให้เช่าระยะสั้น แต่การจะปฏิบัติตามระเบียบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเจ้าของห้องจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของห้องคนอื่น ๆ ในตึกเดียวกัน นอกจากนี้ การแชร์ห้องพักยังอาจเป็นการรบกวนเพื่อนบ้าน และก่อให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยอีกด้วย
3. สงครามส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจแชร์จักรยาน ในขณะที่ Airbnb กับ Uber เจออุปสรรคขวากหนามจากข้อกฎหมาย บรรดาธุรกิจแชร์จักรยานในฮ่องกงกลับประสบปัญหาที่ต่างออกไป นั่นก็คือการแข่งขันที่สูงจนประสบกับภาวะขาดทุน เป็นเหตุให้ Gobee ผู้บุกเบิกธุรกิจนี้เจ้าแรกในฮ่องกงประกาศพับเสื่อเลิกกิจการไปเรียบร้อย
เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 Gobee ได้ออกมาประกาศว่าจะปิดตัวธุรกิจในฮ่องกงลงตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2561 เนื่องจากต้นทุนค่าบำรุงรักษาที่มหาศาล จนส่งผลให้ขาดทุนต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่เริ่มธุรกิจเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว โดยเริ่มจากการนำจักรยานอัจฉริยะ 400 คันมาใช้ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเขต New Territories ซึ่งนักปั่นจะสามารถปลดล็อคได้โดยใช้โทรศัพท์มือถือแสกน QR code โดยไม่ต้องไปรับและคืนจักรยานจากสถานที่ที่กำหนดเหมือนระบบเช่าจักรยานแบบเดิม
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ Gobee ก็เพิ่งถอนตัวออกมาจากตลาดยุโรปหลังจากที่จักรยานถูกขโมยไปนับพันคัน แถมอีกกว่า 3 พันคันก็ยังเสียหายภายในช่วงเวลาเพียง 4 เดือนที่ดำเนินกิจการในฝรั่งเศส ส่วนจักรยานในฮ่องกงเองก็เกิดความเสียหายไม่น้อยเช่นกัน แถมวันดีคืนดียังไปพบจมอยู่ในแม่น้ำทั้งคันอีกต่างหาก
ความล้มเหลวของ Gobee เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงข้อจำกัดของธุรกิจนี้ในฮ่องกง ซึ่งบรรดานักปั่นจะใช้จักรยานปั่นเล่นในช่วงวันหยุดมากกว่าจะใช้สำหรับปั่นไปทำงานจริง ๆ จัง ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ภายในช่วงเวลาปีเศษก็มีบริษัทให้บริการแชร์จักรยานผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดถึง 7 เจ้า โดยมีจักรยานสำหรับแชร์ทั้งหมด 25,000 คัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นของ Gobee ไปแล้ว 17,000 คัน ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนเมษายน 2561 บริษัทคู่แข่งจากจีนอย่าง Ofo ก็พยายามจะเข้าเทคโอเวอร์ Gobee มาแล้ว แต่ Ofo เองก็เพิ่งถอนธุรกิจออกมาจากอิสราเอลเหมือนกัน
สำหรับผู้บริหาร Ketch’Up Bike บริษัทคู่แข่งน้องใหม่มองว่าตลาดฮ่องกงยังใหญ่พอสำหรับผู้ประกอบการหลายรายแข่งขันกัน แต่การที่ Gobee ต้องเลิกกิจการไปครั้งนี้ก็เนื่องจากไม่สามารถนำเทคโนโลยีที่จำเป็นมาใช้กับบริการดังกล่าวได้ต่างหาก โดยแม้ว่า Gobee จะใช้เงินถึง 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 เพื่อลงทุนในการวิจัยและพัฒนา แต่กลับไม่ได้มีการทดลองวิ่งก่อนทำให้เกิดปัญหาทางเทคนิคตามมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องแบตเตอรี่ไม่เพียงพอทำให้ร้อยละ 90 ของจักรยานไม่สามารถปลดล็อคได้ ทำให้บริษัทต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปชาร์จแบตทุกวัน แต่ก็ทำได้เพียงวันละ 8 – 10 คันเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ผู้บริหาร Ketch’Up ยอมรับว่าการแชร์จักรยานยังไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไร โดย Ketch’Up เอง ก็เป็นบริษัท startup ที่ลงทุนไป 4 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในการจัดจักรยาน 1 พันคันสำหรับผู้ใช้ประมาณ 1 หมื่นคนในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์เท่านั้น ซึ่งนอกจากต้องมานั่งปวดหัวกับการถูกขโมย การทำลายหรือสร้างความเสียหายให้จักรยาน รวมทั้งการจอดทิ้งไม่เป็นที่เป็นทางแล้ว ปัญหาสำคัญที่สุดก็ได้แก่การบริหารจัดการจักรยาน บริษัทฯ จึงได้นำโมเดลธุรกิจใหม่มาใช้ โดยเชิญชวนให้ผู้ใช้กลายมาเป็นเจ้าของจักรยานเอง โดยคนที่ซื้อจักรยานของ Ketch’Up ราคา 1,600 ดอลลาร์ฮ่องกง จะได้รับกำไรครึ่งหนึ่งจากการแชร์จักรยานดังกล่าว และสามารถใช้ฟรีวันละชั่วโมง ซึ่งบริษัทฯ ก็หวังว่านโยบายนี้จะช่วยให้บรรดาผู้ใช้จอดจักรยานเป็นที่เป็นทาง และง่ายต่อการบริหารจัดการมากขึ้น โดยล่าสุด Ketch’Up ได้ขายหุ้นร้อยละ 60 ให้บริษัท JNU ของเกาหลีใต้เพื่อนำเทคโนโลยีบล็อคเชนมาใช้ผ่าทางตันความท้าทายที่ธุรกิจแชร์จักรยานในฮ่องกงกำลังประสบอยู่และก็หวังจะอาศัยโอกาสนี้ขยายตลาดเข้าสู่เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์
อย่างไรก็ดี การปิดตัวลงของ Gobee ก็ถือได้ว่าเป็นก้าวถอยหลังอีกก้าวของธุรกิจแชร์จักรยาน ในขณะที่ในจีนเองจากที่เคยมีผู้ประกอบการแข่งขันกันถึงประมาณร้อยเจ้าในช่วงบูมที่สุด ปัจจุบันก็เหลืออยู่เพียงหยิบมือที่ยังรอดมาได้จากการแข่งขันรุนแรงและต้นทุนประกอบการที่สูงลิบลิ่ว แต่ขณะเดียวกัน บรรดาผู้เล่นรายใหญ่ก็มองธุรกิจนี้ว่าเป็นมากกว่าการแชร์จักรยาน โดยใช้เป็นช่องทางส่งเสริมธุรกิจชำระเงินออนไลน์ของตน ขายโฆษณาให้แก่ธุรกิจภายนอก รวมทั้งใช้เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์แบบแผนพฤติกรรมของลูกค้าได้อีกด้วย
4. บทส่งท้าย ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 ข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชนฮ่องกงล้วนแล้วแต่บ่งชี้ไปยังอนาคตอันมืดมนของเศรษฐกิจแบ่งปันในภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั้งเรื่องการแชร์รถยนต์ การแชร์ห้องพัก จนมาถึงการแชร์จักรยาน ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามถึงความฝันที่ฮ่องกงจะเป็นเมืองอัจฉริยะระดับโลก ว่ายังจะเป็นจริงได้อยู่หรือไม่ โดยบรรดานักวิจารณ์ก็ออกมาตำหนิว่ารัฐบาลเน้นแต่เอาใจกลุ่มผลประโยชน์และปกป้องผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการคุกคามของเศรษฐกิจแบ่งปัน ในขณะที่ฝ่ายตรงกันข้ามก็ออกมาสวนกลับว่าบริการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัย แถมยังไม่มีความเป็นไปได้เชิงเศรษฐกิจอีกด้วย
นักวิชาการบางรายมองว่าไม่ควรด่วนสรุปว่าความล้มเหลวของ Gobee จะเป็นการดับอนาคตของเศรษฐกิจแบ่งปันไปเสียทีเดียว ส่วนการเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมธุรกิจที่ Airbnb และ Uber ต้องเผชิญก็ไม่เกี่ยวกับการสร้างเมืองอัจฉริยะ แต่เป็นเรื่องของการสร้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขันมากกว่า เนื่องจากธุรกิจสองเจ้านี้เรียกได้ว่าจับเสือมือเปล่าโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรนอกจากจัดเวทีออนไลน์ให้เท่านั้น ในขณะที่แท็กซี่ปกติต้องเสียค่าขอใบอนุญาตในอัตราสูงมาก จึงอาจจะเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลจะมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนกฎกติกามารยาทต่าง ๆ เพื่อสนองตอบต่อธุรกิจของเศรษฐกิจแบ่งปันเหล่านี้ ในขณะที่กลุ่มผลประโยชน์ที่คอยคัดค้านก็ยังมีเสียงดังฟังชัดอยู่ นอกเสียจากว่าจะเป็นที่แน่ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม
ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการธุรกิจเศรษฐกิจแบ่งปันก็มีความเห็นว่าเศรษฐกิจแบ่งปันเป็นแนวโน้มสำคัญที่เศรษฐกิจที่มีการพัฒนาสูงอย่างฮ่องกงควรจะรีบคว้าโอกาสไว้ เนื่องจากโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาของฮ่องกงและประชาชนในฮ่องกงได้อย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแชร์รถ แชร์ห้องพัก แชร์จักรยาน หรือกระทั่งแชร์บุคลากรก็ตาม
ปรับปรุงล่าสุด : 10 สิงหาคม 2561
โดย : น.ส. กัญญาพัชร ชัยเดช