บทเรียนจากฮ่องกง 5: 5 ทศวรรษบนเส้นทางการสนับสนุนธุรกิจของ HKPC
31 Jul 2018ในขณะที่ Cyberport เป็นองค์กรน้องใหม่ที่มีอายุเพียง 14 ปีและเน้นเรื่องการนำฮ่องกงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยเน้น startup ด้าน FinTech และ E-commerce เป็นหลักนั้น ปัจจุบันหลายคนอาจจะนึกไม่ค่อยออกแล้วว่าในอดีตฮ่องกงก็มีอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจเช่นกัน จนได้มีการตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของภาคการผลิตตั้งแต่เมื่อกว่า 50 ปีก่อน นั่นก็คือ Hong Kong Productivity Council (HKPC) ที่เราจะมาทำความรู้จักกันในบทความตอนนี้นั่นเอง
1. เส้นทางประสบการณ์
HKPC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2510 เพื่อให้การช่วยเหลือธุรกิจฮ่องกงในการเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายช่วยส่งเสริมความสามารถการแข่งขันและความยั่งยืนให้ธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถรับมือกับความท้าทายของปัจจัยภายนอก ได้แก่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ โดยทุกวันนี้ HKPC ให้บริการที่ปรึกษาทางธุรกิจอย่างครบวงจรตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่า รวมทั้งให้การสนับสนุนต่อการวิจัยและพัฒนาเชิงตลาด แก่ธุรกิจกว่า 1,000 รายในแต่ละปี
เส้นทางของ HKPC นั้นก็เรียกได้ว่าเดินควบคู่กับสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจและการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด โดยตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 70 HKPC ก็ตั้งหน่วย Low-Cost Automation ขึ้นเพื่อนำระบบอัตโนมัติมาใช้แก้ปัญหาให้แก่ผู้ผลิตท้องถิ่น พอมาถึงทศวรรษที่ 80 HKPC ก็หันมาส่งเสริมการบริหารจัดการคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management: TQM) และนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาสำหรับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งได้ส่งเสริมให้ผู้ผลิตเริ่มหันมาใช้การผลิตที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมตั้งแต่เรื่องนี้ยังไม่เป็นประเด็นสำคัญในฮ่องกงในยุคนั้น
เมื่อเข้าสู่ช่วงทศวรรษที่ 90 HKPC ก็เป็นเจ้าแรกที่ให้บริการคำปรึกษาสำหรับระบบบริหารจัดการคุณภาพอุตสาหกรรม ISO 9000 ซึ่งก็ได้ช่วยให้บริษัทท้องถิ่นได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมดังกล่าวสำเร็จไปหลายราย นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง (prototype) ด้วยความรวดเร็ว ขึ้นในช่วงนั้นด้วย
ต่อมาเมื่อเข้าช่วงเปลี่ยนสู่สหัสวรรษใหม่ บรรดาอุตสาหกรรมฮ่องกงต่างก็เผชิญกับความท้าทายหลายประการ รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในพื้นที่เขตปากแม่น้ำเพิร์ล และความจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่ง HKPC ก็ได้ตอบสนองอย่างรวดเร็วด้วยการริเริ่มเวทีสนับสนุนแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียวเพื่อช่วยให้ธุรกิจฮ่องกงปรับเปลี่ยนและพัฒนาการทำธุรกิจ รวมทั้งให้นำแนวทางการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ด้วย
2. HKPC ในวันนี้
จากวันเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2510 ที่มีเจ้าหน้าที่อยู่เพียง 12 คน ปัจจุบัน HKPC กลายเป็นองค์กรใหญ่ที่มีเจ้าหน้าที่รวมประมาณ 600 คน โดยในแต่ละปีจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลก้อนหนึ่งที่คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายการดำเนินการ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 70 จะมาจากค่าบริการที่คิดจากลูกค้า และเงินสนันสนุนโครงการวิจัยและโครงการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องสมัครขอรับจากรัฐบาลโดยแข่งขันกับโครงการจากหน่วยงาน อื่น ๆ โดยทุกปี HKPC จะกันงบไว้ 3 ล้านฮ่องกงดอลลาร์เพื่อใช้สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยี กระบวนการ บริการ และแนวปฏิบัติใหม่ ๆ ที่เสนอโดยเจ้าหน้าที่ภายในองค์กรเอง
ทุกวันนี้ สำนักงานใหญ่ HKPC ในเขตเกาลูนจะมีพื้นที่ให้บริการธุรกิจในมิติต่าง ๆ รวมถึง (1) Inno Space ระบบนิเวศธุรกิจที่เอื้อสำหรับ startup มีพื้นที่ทำงานให้ startup พร้อมด้วยเทคโนโลยีรองรับที่พร้อมจะเปลี่ยนไอเดียธุรกิจให้เป็นรูปธรรม (2) Smart Industry One ที่จะสาธิตเทคโนโลยีใหม่ให้ทันยุคอุตสาหกรรม 4.0 (3) 3D Printing One เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ล้ำสมัย มีซอฟต์แวร์ความถี่คลื่นสูงที่สุดในฮ่องกง และฮาร์ดแวร์ที่ขึ้นรูปได้บนวัสดุหลากหลายและสามารถพิมพ์ได้หลายสี (4) Automotive Parts and Accessory Systems R&D Centre ศูนย์วิจัยพัฒนาเกี่ยวกับยานยนต์อัจฉริยะ รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องชาร์จไฟฟ้า (5) Accredited Testing Facilities บริการทดสอบจำลองการผลิตจริงด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งสามารถตอบโจทย์หลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ เครื่องไฟฟ้า พลาสติก สิ่งทอและเสื้อผ้า นาฬิกา อัญมณี อะไหล่รถยนต์ ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ทางการแพทย์และยาจีน โดยเทคโนโลยีนี้จะสามารถตรวจสอบความปลอดภัยของวัสดุที่นำมาใช้ ความน่าเชื่อถือของสินค้า หรือมีแนวโน้มผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ที่ HKPC ยังมีพื้นที่จัดแสดงสินค้า มีการจัดอบรม การให้บริการด้านงานวิจัยเชิงลึกสำหรับ SMEs รวมถึงมี SME One ซึ่งเป็นศูนย์บริการช่วยเหลือ SMEs ด้านจัดหาโครงการสนับสนุนเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งในฮ่องกงและในเขต “พื้นที่อ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า” (Greater Bay Area: GBA) อีกทั้งยังให้บริการแบบครบวงจรเพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถของ SMEs เป็นต้น โดยปัจจุบัน HKPC ยังมีสำนักงานในจีนอีก 2 แห่ง คือที่เมืองตงก่วน และเมือง เซินเจิ้น เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของผู้ผลิตฮ่องกงสู่เขตเศรษฐกิจใน GBA
3. ก้าวข้ามความท้าทายในอนาคต
แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจฮ่องกงจะถือได้ว่ามีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและเติบโตได้ดี อีกทั้งยังมีแรงหนุนจากนโยบายระดับชาติของจีนอย่าง “ความริเริ่ม 1 แถบ 1 เส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) หรือ “พื้นที่อ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า” (Greater Bay Area: GBA) ซึ่งล้วนแต่จะเป็นโอกาสให้แก่ธุรกิจฮ่องกงมากขึ้นนั้น ปัจจุบันก็ยังมีความท้าทายอีกหลายประการที่ฮ่องกงต้องรับมือเพื่อให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุ การขาดเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ ๆ รวมทั้งการสร้างความหลากหลายและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างโอกาสงานที่ก่อให้เกิดรายได้และความชำนาญที่สูงขึ้น
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีความก้าวหน้ารวดเร็วด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และกระทบต่อโมเดลธุรกิจแบบเดิม ๆ ซึ่งในขณะที่เป็นความท้าทาย แต่อุตสาหกรรม 4.0 นี้ ก็เป็นโอกาสให้ฮ่องกงได้กลับมาปฏิวัติอุตสาหกรรมของตนเองอีกครั้ง โดยพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และเป็นโอกาสสร้างตำแหน่งงานคุณภาพสูงได้ ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนฮ่องกงให้เป็นเมืองอัจฉริยะก็จะช่วยรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุและการขยายตัวของเขตเมือง ทำให้ฮ่องกงสามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ภายใต้บริบทความเปลี่ยนแปลงนี้ HKPC ก็จะมีบทบาทสำคัญในการใช้เทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมใหม่ ๆ และแนวทางบริหารจัดการที่ดีที่สุด มาช่วยให้ธุรกิจฮ่องกงสามารถเข้าสู่ยุคใหม่แห่งอุตสาหกรรมและเมืองอัจฉริยะได้ ซึ่ง Inno Space ที่เพิ่งเปิดตัวไปที่ HKPC ก็เป็นหนึ่งในความริเริ่มใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมและการบริหารธุรกิจในฮ่องกงได้
4. โอกาสเข้าใช้บริการและความร่วมมือกับไทย
แม้ว่าการมาทำธุรกิจด้านการผลิตในฮ่องกงอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผู้ประกอบการไทยในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ควรลืมว่าฮ่องกงเองก็มุ่งเน้นเรื่องการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูงในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นประตูสำคัญสู่ภูมิภาค GBA และจีนทั้งประเทศ รวมถึงเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก โดย HKPC ก็สามารถเป็นตัวกลางเชื่อมธุรกิจไทยให้กับหุ้นส่วนต่าง ๆ ของ HKPC และสามารถให้การสนับสนุนทางออกด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีแก่ภาคธุรกิจได้ ซึ่งทางเลือกหนึ่งของความร่วมมือก็ได้แก่การสมัครเป็นสมาชิก Inno Space ของ HKPC เพื่อให้สามารถเข้าใช้พื้นที่และอุปกรณ์/ เทคโนโลยีต่าง ๆ ของศูนย์นี้ได้ โดยมีเมนูต่าง ๆ ให้เลือกตั้งแต่การใช้บริการ 1 วัน (ค่าใช้จ่าย 200 ดอลลาร์ฮ่องกง) ไปจนถึง 1 ปี (ค่าสมัคร 4,800 ดอลลาร์ฮ่องกง) โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก เว็บไซต์ ของ HKPC ตามลิงค์ https://www.hkpc.org/en/
ในขณะเดียวกัน กล่าวได้ว่า HKPC เองก็มีความสนใจร่วมมือกับประเทศไทยไม่น้อย จะเห็นได้จากที่ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท “ดูเรียน” (Durian Corporation Co., Ltd.) เมื่อช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ HKPC ได้ลงนามกับบริษัทเอกชนในอาเซียน โดยครอบคลุม (1) การแลกเปลี่ยน startup ระหว่างไทย – ฮ่องกง (2) การต่อยอดด้าน co-working space (3) การบริการด้านการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (prototype) ทั้งการพิมพ์ 3 มิติ และเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมทั้งการแนะนำคู่ค้าและพันธมิตรที่มีศักยภาพ และ (4) การแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญ สนับสนุนการขยายตลาดระหว่างไทย – ฮ่องกง ซึ่งก็กล่าวได้ว่าเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากโครงการนำผู้ประกอบการ startup ไทยเยือนฮ่องกงที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกงจัดขึ้นเมื่อปี 2560 โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งความร่วมมือระหว่าง HKPC กับ “ดูเรียน” นี้ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพจะสามารถเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และตลาดในฮ่องกง รวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ได้ต่อไปในอนาคต
ปรับปรุงล่าสุด : 31 กรกฎาคม 2561
โดย : น.ส. กัญญาพัชร ชัยเดช