“China Industry 4.0 : ตอนที่1 ไขรหัส Industry 4.0”
16 Dec 2016
ภูมิหลังของ “Industrial 4.0”
“Industry 4.0” คำนี้ เริ่มต้นมาจากประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่กล่าวถึงนโยบาย Germany Industry 4.0 โดยกล่าวขึ้นครั้งแรกในปี 2013 ในงาน Hannover Industrial Expo ณ ประเทศเยอรมัน ทำให้เกิดเป็นกระแส talk of the town ที่ทั่วโลกจับตามอง
ขณะนั้นเอง ก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่ประเทศจีนก็กำลังถกเถียงกันเรื่องความเป็นไปได้ของแผนนโยบาย China Industry 4.0 อยู่เช่นกัน โดยในช่วงต้นปี 2013 จีนมีการจัดตั้งกลุ่มวิจัยโครงการยุทธศาสตร์ในการก้าวสู่ประเทศแห่งการผลิตที่แข็งแกร่ง ซึ่งในระยะเวลา 1 ปีนั้น จีนได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการผลิตจากสถาบันชื่อดังต่างๆ ในประเทศจีนกว่า 50 แห่ง รวม 100 กว่าราย พร้อมทั้งสมาคม ผู้ประกอบการ ผู้นำท้องถิ่นจากมณฑลต่างๆ อาทิ กวางตุ้ง เจ้อเจียง เจียงซู อันฮุย ซานตง เทียนจิน เหลียวหนิง ส่านซี มานั่งสัมมนาวิจัยและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงลึกระหว่างกัน (Think Tank) แต่เมื่อเยอรมันประกาศนโยบาย Industry 4.0 ออกมาก่อน จึงทำให้จีนต้องหยุดชะงักแผน China Industry 4.0 ซึ่งเป็นแผนพัฒนาระยะสั้น และหันมาวางแผนพัฒนาระยะยาว พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น นโยบาย “Made in China 2025”
นิยามของ Industry 4.0
Industry 4.0 คือ “การใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต + อุตสาหกรรมการผลิต” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ Industry 4.0 มีจุดเด่นที่สำคัญ 5 ข้อ ได้แก่
1.) อินเทอร์เน็ต (Internet of Things) ใช้ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์เครื่องจักรกล สายการผลิต โรงงาน ซัพพลายเออร์ ผลิตภัณฑ์ และลูกค้า
2.) คลังข้อมูล (Big Data) เชื่อมต่อกับข้อมูลสินค้า ข้อมูลอุปกรณ์เครื่องจักรกล ข้อมูลวิจัยและพัฒนา ข้อมูล chain อุตสาหกรรม ข้อมูลการจัดการ ข้อมูลการจำหน่าย และข้อมูลผู้บริโภค
3.) การบูรณาการ มีระบบการใช้งานแบบบูรณาการ ระบบเครือข่ายอัจฉริยะ ควบคุม สั่งการอัตโนมัติด้วยอินเทอร์เน็ต ทั้งคนกับคน คนกับเครื่องจักร เครื่องจักรกับเครื่องจักร และ service กับ service
4.) นวัตกรรม ใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต ตัวสินค้า รูปแบบ และองค์กร
5.) ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างอุตสาหกรรมดั้งเดิมของจีน จากอุตสาหกรรม 2.0 เป็น 3.0 และเป็น 4.0 ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างในหลายด้าน เช่น รูปแบบการผลิต กระบวนการผลิตเชิงลึก ให้มีความยืดหยุ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
อุตสาหกรรม 9 ประเภท ที่เป็นเสาหลักสำคัญของ Industry 4.0 มีดังนี้
1. อุตสาหกรรมเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Networking)
2. อุตสาหกรรมคำนวณ (cloud computing)
3. อุตสาหกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ (big data industry)
4. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Industrial robot)
5. อุตสาหกรรมสามมิติ (3D printing)
6. อุตสาหกรรมการทำงานอัตโนมัติ (Automation of knowledge work)
7. อุตสาหกรรมเครือข่ายความปลอดภัย (Industrial network security)
8. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเสมือนจริง VR (virtual reality)
9. อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence
China Industry 4.0 คืออะไร
โดยแท้จริงแล้ว แผนยุทธศาสตร์ Industry 4.0 ของจีน ก็คือนโยบาย Made in China 2025 ซึ่งรัฐบาลจีนประกาศสู่สาธารณะชนเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 เป็นนโยบายที่ต้องการเปลี่ยนประเทศจีนจากประเทศการผลิตขนาดใหญ่ที่เน้นหนักด้านปริมาณ ให้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ที่เน้นศักยภาพเป็นสำคัญ แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่จีนยังคงตามหลังประเทศเยอรมันอยู่พอสมควร ก็อาจจะเป็นเรื่องที่จีนต้องเร่งกำลังสุดความสามารถ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจีนหลายท่านออกมาให้ความเห็นว่า ในขณะที่ประเทศเยอรมันยกระดับอุตสาหกรรมจากยุค 3.0 ก้าวเข้ายุค 4.0 นั้น โดยแท้จริงแล้ว จีนยังมีขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรรมอยู่ในระดับ 2.0 กำลังจะก้าวขึ้นเป็น 3.0 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายของจีนที่จะพัฒนาขีดความสามารถและปฏิวัติอุตสาหกรรมเชิงลึกในประเทศให้บรรลุแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ทั้งนี้เยอรมันได้กำหนดระยะเวลาที่จะบรรลุเป้ายุทธศาสตร์ Industry 4.0 ไว้ประมาณ 8-10 ปีข้างหน้า ซึ่งจีนเองก็กำหนดเวลาบรรลุเป้าในนโยบาย Made in China 2025 เพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ China Industry 4.0 อยู่ในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันด้วย
เหตุใดจีนจึงเลือก “มาตรฐานอุตสาหกรรมเยอรมัน” แทนที่จะเป็นอเมริกา
สาเหตุที่จีนเลือกที่จะดำเนินรอยตามการพัฒนาอุตสาหกรรมของเยอรมันนั้น มีนักวิชาการจีนออกมาให้ความเห็น ดังนี้
1. เป็นเพราะรัฐบาลจีนเห็นว่า แนวโน้มความสำเร็จของเส้นทางประเทศเยอรมันมีมากกว่าอเมริกา เนื่องจากอุตสาหกรรมของอเมริกาเป็นอุตสาหกรรมกลวง
2. “Industry 4.0” ถือเป็นความท้าทายของบริษัทไอทีจีน เนื่องจากจีนยังประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องจักรกลที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็นจุดแข็งประเทศเยอรมัน ในการเป็นแหล่งผลิตวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรกลที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จีนจึงต้องอาศัยเยอรมันในด้านนี้
3. ในการเลือกยุทธศาสตร์ของการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 รัฐบาลจีนได้เลือกนโยบายที่ว่าด้วยการจับตาเทรนด์การพัฒนาอุตสาหกรรมรุ่นใหม่อย่างใกล้ชิด โดยได้เลือกยุทธศาสต์อุตสาหกรรม 4.0 และผลักดันนโยบาย Made in China 2025 เพื่อหาโอกาสที่จะแซงหน้าเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรมของโลก
เพื่อบรรลุแผนยุทธศาสตร์ Industry 4.0 จีนจึงตัดสินใจร่วมมือกับเยอรมัน โดยได้ลงนามความร่วมมือ “The action outline of Sino German cooperation” เมื่อวันที่ 10 ต.ต. 2014 ว่าด้วย เนื้อหาหลัก 4 ด้าน คือ 1.) ความเสมอภาคไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการเมืองระหว่างจีน-เยอรมัน 2.) ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจและการเงิน 3.) สร้างอนาคตที่ดีร่วมกัน เพื่อการเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมยุคใหม่ที่มีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน 4.) การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกันในด้านวัฒนธรรมและการศึกษา
นโยบาย Made in China 2025 คืออะไร
เป็นนโยบายแผนพัฒนาอุตสาหกรรมระยะ 10 ปี (ค.ศ. 2015 – ค.ศ. 2025) ฉบับแรกของจีน เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการผลิตของโลก ซึ่งมีแนวทางพื้นฐานคือ “การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม คำนึงถึงคุณภาพอันดับแรก การพัฒนาสีเขียว และการเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้าง” โดยอาศัย 3 ก้าวย่างที่สำคัญ คือ ก้าวแรก ภายในปี ค.ศ. 2025 จีนจะเข้าสู่ list ของประเทศผู้ผลิตที่แข็งแกร่ง ก้าวที่สอง ในปี ค.ศ. 2035 จีนจะเป็นประเทศการผลิตที่มีศักยภาพในระดับกลางของโลก และก้าวที่สาม ในปี ค.ศ. 2045 ซึ่งอยู่ในช่วงทศวรรษที่จีนครบรอบการสถาปนาประเทศใหม่ครบ 100 ปี (ในปี ค.ศ. 2049) จีนจะก้าวเป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตที่แข็งแกร่งของโลก
อุตสาหกรรมหลัก 10 ประเภท ที่สอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 ได้แก่
1.) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่
2.) อุตสาหกรรมเครื่องจักร CNC (Computer numerical control) คุณภาพสูงและหุ่นยนต์
3.) อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์การบินและอวกาศ
4.) อุตสาหกรรมอุปกรณ์ด้านวิศวกรรมทางทะเลและเรือที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
5.) อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ติดตามการขนส่งและยานพาหนะขั้นสูง
6.) อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานทางเลือกและประหยัดพลังงาน
7.) อุตสาหกรรมอุปกรณ์พลังงานไฟฟ้า
8.) อุตสาหกรรมอุปกรณ์เครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร
9.) อุตสาหกรรมวัสดุใหม่
10.) อุตสาหกรรมการแพทย์ชีววิทยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ประสิทธิภาพสูง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2016 รัฐบาลจีนได้ประกาศให้เมืองหนิงโป (มณฑลเจ้อเจียง) เป็นเมืองนำร่อง ในการดำเนินนโยบาย Made in China 2025 แห่งแรกของจีน แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนออกมาอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี มณฑลต่างๆ ต่างออกมาขานรับกับนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยมีการชูนโยบายต่างๆ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นเมืองนำร่องในนโยบาย Made in China 2025 พร้อมยื่นเสนอต่อรัฐบาลกลางจีนเพื่อขอเป็นเมืองนำร่องในนโยบาย Made in China 2025 ตามเมืองหนิงโปแล้วกว่า 30 เมือง
ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนก็มีการขานรับต่อนโยบาย Made in China 2025 โดยได้ประกาศนโยบายสนับสนุนที่เอื้อต่อนโยบาย Made in China 2025 ออกมาหลายด้าน และมีแผนที่จะพัฒนามณฑลฝูเจี้ยนให้เป็นเมืองนำร่องในนโยบาย Made in China 2025 ด้วย ซึ่ง ศูนย์ BIC ณ เมืองเซี่ยเหมิน จะนำข้อมูลมาเสนอในบทความต่อไป โปรดติดตามได้ในบทความหัวข้อเรื่อง “China Industry 4.0 : ตอนที่ 2 มณฑลฝูเจี้ยน กับการขานรับนโยบาย Made in China 2025”
*************************