5 อันดับการลงทุนด้วยสกุลเงินหยวนนอกประเทศจีนที่ได้รับความนิยมที่สุด
21 Oct 2014เงินหยวนนับวันยิ่งก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น หลายประเทศใช้เงินหยวนในการชำระสินค้า (RMB Trade Settlement) และสะสมเงินหยวนเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยเมื่อปี 2013 เงินหยวนได้กลายเป็นเงินที่ใช้ในการชำระเงินระหว่างประเทศมากเป็นอันดับแปดของโลก
เมื่อปลายปี 2013 มียอดเงินฝากสกุลเงินหยวนที่เกาะฮ่องกงสูงถึง 135 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวของเม็ดเงินจำนวนมหาศาลนอกประเทศจีน ทั้งนี้ ถึงแม้ฮ่องกงจะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนแต่ก็อยู่ภายใต้การปกครองแบบหนึ่งประเทศสองระบบ ดังนั้น สินค้าที่เคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจีนและเกาะฮ่องกงถือเป็นการนำเข้าและส่งออก เศรษฐกิจแยกออกจากกันอย่างชัดเจน
เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีน ความกระตือรือล้นของรัฐบาลในการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศ และขั้วอำนาจของโลกที่เริ่มมีเค้าลางในการเปลี่ยนทิศ ทำให้เศรษฐกิจจีนและสกุลเงินหยวนกลายเป็นที่จับตามองของนักลงทุนชาวต่างชาติ ในปัจจุบัน การลงทุนนอกประเทศจีนด้วยเงินหยวนเริ่มเป็นที่นิยมขึ้น กฏหมายจีนจำกัดการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยตรงของชาวต่างชาติ การลงทุนผ่านกองทุนจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ การลงทุนนอกประเทศด้วยเงินหยวน ยังเพิ่มความหลากหลายในการบริหารการลงทุนสำหรับชาวจีนเองอีกด้วย
รูปแบบการลงทุนด้วยเงินหยวนนอกประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมี ดังนี้
อันดับ 1 พันธบัตรติ่มซำ (Dim sum bond)
เป็นพันธบัตรที่ขายนอกประเทศจีน แต่ใช้เงินหยวนในการตีมูลค่า เปิดขายครั้งแรกเมื่อปี 2007 โดยยอดรวมของแปดเดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 426 พันล้านหยวน ธนาคาร Standard Chartered ประเมินยอดรวมทั้งหมดของปีนี้อยู่ที่ 550-580 พันล้านหยวน
อันดับ 2 การเชื่อมตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้-ฮ่องกง
ในปัจจุบัน ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นต้องผ่านกองทุน QFII และ RQFII เท่านั้น ดังนั้น การเชื่อมตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกงเข้าด้วยกันจะเป็นการปูทางสำหรับตลาดทุนของจีนแผ่นดินใหญ่และเป็นการยกระดับความเป็นสากลของสกุลเงินหยวน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ในช่วงเตรียมการ
อันดับ 3 กองทุน RQFII
Renminbi Qualified Foreign Institutional Investors (RQFII) เป็นช่องทางที่เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น พันธบัตร และตลาดเงินของประเทศจีน โดยช่องทางที่ได้รับความนิยมที่สุดคือการลงทุนในกองทุน ETF
จนถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มูลค่าของ RQFII อยู่ที่ 283.3 พันล้านหยวน โดยรวมจาก 86 สถาบันการเงินของฮ่องกง ลอนดอน และสิงค์โปร และยังมีอีกหลายประเทศที่เตรียมเข้าร่วมกองทุนดังกล่าว
อันดับ 4 RMB currency futures
ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเปิดตัวสัญญาณซื้อขายล่วงหน้าสกุลเงินหยวน โดยในแต่ละวันมีการซื้อขายถึง 6,000 กว่าสัญญา โดยมูลค่าต่อสัญญาอยู่ที่ 100,000 ดอลลาห์สหรัฐ อายุสัญญาตั้งแต่ 8 เดือนถึง 16 เดือน
อันดับที่ 5 การซื้อขายหลักทรัพย์สองระบบ
ในปี 2012 บริษัทสัญชาติจีน Hopewell Highway Infrastructure เปิดตัวการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินหยวนนอกประเทศจีน (แผ่นดินใหญ่)เป็นครั้งแรก โดยใช้สกุลเงินหยวนและฮ่องกงดอลลาห์ในการซื้อขาย
โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch คาดการณ์ว่า ความต้องการในพันธบัตรระยะกลางและระยะยาวจะเพิ่มขึ้นอย่างมากตามความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อสินทรัพย์ในรูปเงินหยวนและสกุลเงินที่ใช้ในการค้า
ถึงแม้ว่านักลงทุนชาวไทยจะไม่สามารถเข้าร่วมตลาดทุนในประเทศจีนได้โดยตรง แต่ยังมีอีกหลายช่องทางที่สามารถเข้าไปแสวงหาโอกาสได้ ตลาดทุนมาพร้อมกับผลตอบแทนและความเสี่ยง หากท่านเกาะติดสถานการณ์เศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลเป็นประจำ ก็จะช่วยให้ประเมินแนวโน้มของตลาดทุนและหาโอกาสใหม่ๆได้เสมอ