28/01/2014ทิศทางนโยบายการเงินจีนและสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลก
29 Jan 2014เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 57 เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ Neue Zürcher Zeitung รายงานข่าวเรื่อง “เงินทุนสำรองที่ขยายตัวมากเกินเกินไป” ซึ่งได้วิเคราะห์ถึงทิศทางนโยบายการเงินของจีนและสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
(1) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังมาหลายปี เฟดได้ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน โดยลดปริมาณการซื้อพันธบัตร รวมทั้งลดปริมาณเงินทุนไหลเวียนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจโลก และเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันค่อนข้างเข้มแข็ง ถึงแม้จะลดเงินทุนไหลเวียนแล้วก็ยังสามารถเติบโตอย่างมีเสถียรภาพได้ ซึ่งแท้จริงแล้วจะเป็นไปตามที่เฟดคาดการณ์หรือไม่ยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป แต่แน่นอนว่า ผลกระทบที่เห็นชัดเจนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐฯ คือไม่ส่งผลในเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม แต่กลับส่งผลกระทบเชิงลบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการก่อให้เกิดปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
(2) ความคาดหวังต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนค่อย ๆ ลดลง โดยหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนเป็นที่จับตามองของทั่วโลก และส่งผลต่อการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยในช่วงวิกฤตการเงินครั้งล่าสุด จีนก็ถูกมองว่าเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจโลกและจีนก็สามารถฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆ แต่ปัจจุบันนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า จีนประสบปัญหาทางด้านโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยวิสาหกิจบางแห่งไม่มีความโปร่งใสและแทบไม่มีความสามารถมีผลกำไรจากการประกอบการได้เลย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเงินของจีน
รายงานข่าวดังกล่าวยังระบุว่า การพึ่งพาการส่งออกมากเกินไปของเศรษฐกิจจีน ได้ก่อให้เกิดดุลการค้ามหาศาล บวกกับเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรในจีน ก่อให้เกิดแรกกดดันให้เงินหยวนต้องปรับค่าสูงขึ้น รวมทั้งกดดันให้ธนาคารกลางจีนแทรกแซงตลาด ขณะเดียวกัน มาตรการแทรกแซงเงินสำรองระหว่างประเทศของจีนทำให้ปริมาณเงินสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2556 เงินสำรองระหว่างประเทศของจีนได้เพิ่มขึ้นถึง 3.82 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. แม้ว่าทางการจีนเน้นย้ำว่าปริมาณเงินสำรองของจีนได้เกินระดับที่เหมาะสมมานานแล้ว และ
จะต้องควบคุมไม่ได้สูงเกินกว่านี้แล้วก็ตาม แต่ตามสภาพที่แท้จริงก็ไม่สามารถควบคุมได้ตามที่กล่าวไว้
อย่างไรก็ตาม หลายเดือนก่อนหน้านี้ จีนได้ประกาศว่าจำเป็นต้องปฏรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งลดการพึ่งพาการส่งออกเป็นการพึ่งพาตลาดภายในประเทศแทน ซึ่งคาดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนให้ลดลงเหลือร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 4 ซึ่งนักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ เห็นว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเงินทุนไหลเวียนที่ลดลง อาจทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกวัตถุดิบอย่างหนักต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง
แหล่งข้อมูล หนังสือพิมพ์ Cankaoxiaoxi (参考消息) (วันที่ 28 ม.ค. 57)