12/07/2013การประชุมหารือยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีนครั้งที่ 5 ปิดฉาก สร้างมติเอกฉันท์ 3 ประการ

15 Jul 2013

เมื่อวันที่ 10 – 11 ก.ค. 56 การประชุมหารือยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน (The US-China strategic and Economic Dialogue) ครั้งที่ 5 ได้จัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการประชุมหารือสำคัญระหว่างสหรัฐฯ และจีนอีกครั้งหลังจากที่ผู้นำของสองประเทศได้พบปะกันเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และนับเป็นการพบปะครั้งแรกระหว่างรัฐบาลรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศ

จีนกับสหรัฐฯ เริ่มจัดการประชุมหารือยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน ขึ้นเมื่อปี 2552 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการสนทนาเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในระยะยาวอย่างรอบด้าน โดยการประชุมครั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงจาก 20 กระทรวงของทั้งสองประเทศได้ระดมสมองหารือในด้านต่างๆ อาทิ การขยายการค้าและการลงทุน การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อการพัฒนาอย่างสมดุลและอย่างยั่งยืน ตลอดจนการปฏิรูปและความมั่นคงของตลาดเงิน

ทั้งนี้ การประชุมหารือยุทธศาสตร์ฯ ได้จัดขึ้นภายใต้การนำของนายหยาง เจี๋ยฉือ มนตรีแห่งรัฐของจีน และนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ส่วนการประชุมหารือด้านปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเงิน มีรองนายกรัฐมนตรีจีนนายวัง หยาง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ Jack Lew เป็นประธาน โดยในการหารือครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้สร้างมติเอกฉันท์ 3 ประการ ได้แก่

1) กระชับความร่วมมือทางพลังงาน โดยนายวัง หยาง กล่าวว่า ในฐานะที่สหรัฐฯ และจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก และเป็นผู้ผลิตและบริโภคพลังงานใหญ่ที่สุดของโลก จีนกับสหรัฐมีผลประโยชน์ร่วมกันในด้านความปลอดภัยของพลังงาน โดยจีนจะนำเข้าเทคโนโลยีและประสบการณ์ด้านบริหารจากสหรัฐฯ ต่อไป รวมถึงลงทุนต่อโครงการก๊าซจากชั้นหินของสหรัฐฯ ด้วย ในขณะเดียวกัน จีนก็ยินดีต้อนรับสหรัฐฯ ในการมาลงทุนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดที่จีน

2) ส่งเสริมความร่วมมือทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะขยายความร่วมมือในด้านการลดการปล่อยมลพิษของรถยนต์ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การเก็บและใช้ประโยชน์ของคาร์บอน ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก และประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและภาคอุตสาหกรรม

3) ทั้งสองฝ่ายจะสนทนาเกี่ยวกับ ข้อตกลงว่าด้วยการลงทุนสองฝ่าย (Bilateral Investment Treaty หรือ BIT) อีกครั้งภายในปีนี้ จนถึงปัจจุบัน บริษัทสหรัฐฯ ได้ลงทุนในจีนกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนบริษัทจีนไปลงทุนในสหรัฐฯ กว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้เจราจาข้อตกลงว่าด้วยการลงทุนทวิภาคีถึง 9 ครั้ง โดยมาตรการในข้อตกลงดังกล่าวส่วนใหญ่ได้จัดทำเสร็จแล้ว ภายในปีนี้จะมีการหารือกันอีกครั้งในรายละเอียดและผลักดันให้ข้อตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม จีนกับสหรัฐฯ ยังมีข้อขัดแย้งกันทางเศรษฐกิจและการเงินหลายประการ อาทิ การขาดดุลและการขัดแย้งทางการค้า ค่าเงินหยวน การปฏิรูปทางการเงินของจีน สหรัฐฯจำกัดการเข้าไปลงทุนของบริษัทจีนในตลาดสหรัฐ เป็นต้น การสนทนาระหว่างผู้นำระดับสูงของทั้งสองฝ่ายโดยตรงได้ช่วยผ่อนคลายความขัดแย้งที่ยังคั่งค้างอยู่ระหว่างสองประเทศ พร้อมกับยกระดับความไว้วางใจระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ซึ่งเป็นก้าวงสำคัญสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองมหาอำนาจของโลก

จัดทำโดย: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง

แหล่งข้อมูล: http://www.chinanews.com/ (中新网)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน