08/07/2013 7 ปีของเส้นทางรถไฟชิงไห่ – ทิเบต กับการพัฒนา “หลังคาของโลก”
9 Jul 2013หลังจากจีนเริ่มดำเนินการยุทธศาสตร์ “เร่งพัฒนาภาคตะวันตก” เป็นต้นมา ที่ราบสูงชิงไห่ – ทิเบตได้ย่างเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการพัฒนาใหม่ แต่หากจะเทียบกับภาคตะวันออกของจีนแล้ว ถือว่าเขตที่ราบสูงชิงไห่ – ทิเบตยังด้อยพัฒนากว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ การเปิดให้บริการของเส้นทางรถไฟชิงไห – ทิเบต เป็นการเสนอรูปแบบการขนส่งที่ราคาถูก สะดวก และมีประสิทธิภาพสูงให้แก่คนในท้องถิ่น และยังได้กลายเป็นแรงกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของ “หลังคาของโลก”
เส้นทางรถไฟชิงไห่ – ทิเบต หรือ “ถนนบนท้องฟ้า” เป็นเส้นทางรถไฟบนที่ราบสูงที่สูงที่สุดและยาวที่สุดของโลก เริ่มต้นเดินทางจากนครซีหนิง เมืองหลวงของมณฑลชิงไห่ ถึงปลายทางนครลาซา เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองทิเบต โดยมีความยาวทั้งสิ้น 1,956 กิโลเมตร ส่วนระยะทางที่ระดับความสูง 4,000 เมตรขึ้นไปราว 1,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น 26 ชั่วโมง 23 นาที และเริ่มเปิดใช้บริการเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2549
ปีนี้ครบรอบปีที่ 7 ของการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟชิงไห่ – ทิเบต ตัวเลขสถิติชี้ว่า จากวันที่ 1 ก.ค. 2549 ถึงเมื่อสิ้นเดือน พ.ค. 56 เส้นทางรถไฟชิงไห่ – ทิเบตได้ขนส่งผู้โดยสารเข้า – ออกทิเบตจำนวนสูงถึง 62.99 ล้านคน ขนส่งสินค้า 297.62 ล้านตัน ทั้งนี้ การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 6.48 ล้านคน และ 24.91 ล้านตันเมื่อปี 2549 เป็น 10.82 ล้านคนและ 55.83 ตันในเมื่อปี 2555 ตามลำดับ นอกจากนี้ ในช่วงปี 2549 – 2555 ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของมณฑลชิงไห่และทิเบตเพิ่มขึ้นจาก 64,105 ล้านหยวนและ 34,219 ล้านหยวน เป็น 188,450 ล่านหยวนและ 70,100 ล้านหยวน ตามลำดับ โดยอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่าร้อยละ 10 ทุกปี
จากถิ่นทุรกันดารในเมื่อก่อน ปัจจุบันพื้นที่ที่เส้นทางรถไฟชิงไห่ – ทิเบตวิ่งผ่านเชื่อมโยงหมู่บ้านต่างๆ นายจู้ เจี้ยนผิง รองผู้จัดการใหญ่ บริษัทเส้นทางรถไฟชิงไห่ – ทิเบต แนะนำว่า การเปิดให้บริการของเส้นทางรถไฟชิงไห่ – ทิเบต ทำให้แอ่งกระทะไฉต๋ามู่ (柴达木盆地) ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรเกลือ ปุ๋ยโปตัสเซียม โซดาแอช ถ่านหิน อลูมิเนียม แร่เหล็ก และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ได้รับการพัฒนาไปด้วย ศูนย์กระจายสินค้านครลาซา เมืองน่าชู (那曲) และเมืองเกอเล่อหมู่ (格尔木) ก็ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ที่ราบสูงชิงไห่ – ทิเบตยังได้กลายเป็นปลายทางการท่องเที่ยวสุดฮิตในภาคตะวันตกของจีน ผลักดันการพัฒนาของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการค้าในท้องถิ่นด้วย โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา ทิเบตสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถึง 12,647 ล้านหยวน ซึ่งเป็น 6.5 เท่าของรายได้ในปี 2548
ในขั้นตอนตอนไป จีนมีแผนที่จะสร้างเครือข่ายเส้นทางรถไฟในที่ราบสูงชิงไห่ – ทิเบตให้สมบูรณ์ โดยสามารถเชื่อมโยงมณฑลชิงไห่ ทิเบต ซินเจียงและกานสูได้ ทั้งนี้ เครือข่ายเส้นทางรถไฟที่สมบูรณ์แบบจะทำให้ที่ราบสูงชิงไห่ – ทิเบตถูกจัดเข้าไปในเขตเศรษฐกิจเสฉวน – ฉงชิ่งในทิศทางตะวันออก พร้อมกับสร้างเขตเศรษฐกิจส่านซี – กานสู – ชิงไห่ – ทิเบตขึ้นมาในทิศทางภาคเหนือ ซึ่งจะกระตุ้นการพัฒนาของภาคตะวันตกของจีนอีกรอบหนึ่ง
จัดทำโดย: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง
แหล่งอ้างอิง: http://www.cfen.com.cn/ (中国财经报网)