ไทยเร่งผลิตบุคลากร ส่งครูอบรมวิชา “ม้าเหล็กความเร็วสูง” เพิ่มที่เมืองหลิ่วโจว

21 May 2018

          หลักสูตรฝึกอบรมด้านรถไฟความเร็วสูงกำลังได้รับความนิยมในไทย ล่าสุด มหาวิทยาลัยไทยส่งคณาจารย์ไทย รุ่นที่ 6 เข้ารับการฝึกอบรมในวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะการรถไฟเมืองหลิ่วโจว (Liuzhou Railway Vocational Technical College: LRVTC/柳州铁道职业技术学院) ของกว่างซี

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 คณะอาจารย์ไทยจาก 3 สถาบัน ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา รวม 14 คน ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการศึกษาภายใต้ “โครงการฝึกอบรมครูสาขาระบบราง” โดยจะใช้เวลาการฝึกอบรม 2 เดือน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ ศรีเมือง ผู้อำนวยการสถาบันระบบราง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (RMUTI) ให้ข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้คัดเลือกบุคลากรระดับศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์เพื่อมาฝึกอบรมที่วิทยาลัย LRVTC หลายครั้ง โดยในอนาคต คณาจารย์เหล่านี้จะต้องนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ประโยชน์ในการสอนที่ วิทยาลัยการคมนาคมระบบราง” (Thailand-China Railway College of RMUTI) ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะบุคลากรเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีและการคมนาคมระบบรางในไทยที่มหาวิทยาลัยฯ จัดตั้งร่วมกับวิทยาลัย LRVTC เพื่อเตรียมพร้อมรองรับโครงการความร่วมมือด้านรถไฟฟ้าความเร็วสูงในปัจจุบันและอนาคต

ตามรายงาน โครงการฝึกอบรมฯ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2559 จนถึงปลายปี 2560 มีคณาจารย์และนักศึกษาไทยเดินทางมาฝึกอบรมรวม 4 รุ่น จำนวน 66 คน จาก 12 สถาบัน (เฉลี่ยปีละ 2 รุ่น)                      

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการจัดฝึกอบรมมีเพิ่มขึ้น สะท้อนจากความถี่ที่สถาบันการศึกษาไทยส่งบุคลากรเข้ารับการอบรม เฉพาะช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2561 มหาวิทยาลัยไทยได้ส่งคณะอาจารย์และนักศึกษามาแล้ว 2 รุ่น และคาดว่า ช่วงครึ่งปีหลัง วิทยาลัย LRVTC จะเปิดโครงการฝึกอบรมอีก 2 รุ่น

สำหรับคณาจารย์ไทย รุ่นที่ 6 ที่เดินทางมาฝึกอบรมในครั้งนี้จะศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงทั้งหมด 6 วิชา อาทิ โครงสร้างและการซ่อมบำรุงประแจรถไฟความเร็วสูง (สำหรับสับรางรถไฟ) เทคโนโลยีการสร้างสะพานรถไฟความเร็วสูง และพื้นฐานการรังวัด

นายชิว ถงป่าว (Qiu Tong Bao/邱同保) รองผู้อำนวยการวิทยาลัย LRVTC กล่าวว่า วิทยาลัยฯ เกาะกระแสการพัฒนายุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) และการเติบโตของอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูง โดยทางวิทยาลัยฯ ได้ขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายแห่งในต่างประเทศ ทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย สปป.ลาว และรัสเซีย

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย นอกจากการจัดตั้ง วิทยาลัยการคมนาคมระบบราง” ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานแล้ว ยังมีการจัดตั้งวิทยาเขตที่วิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการอยุธยาเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการผลิตบุคลากรด้านการถไฟต่อไป

โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน (เฟสแรก) ที่เริ่มการก่อสร้างแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ทำให้ประเทศไทยต้องการบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรถไฟความเร็วสูงจำนวนมาก ในการบ่มเพาะและพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาด้านรถไฟความเร็วสูงในอนาคต สถาบันการศึกษาไทยจึงให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือด้านการฝึกอบรมด้านรถไฟความเร็วสูงกับประเทศจีนอย่างสม่ำเสมอ

 

ลิงก์ข่าว

ไทยส่งครูและนักเรียนเข้าอบรมสาขาม้าเหล็กความเร็วสูงที่เมืองหลิ่วโจว (12 มี.ค. 2561)

จัดทำโดย นางสาวภาสิริ เอี่ยมศิริ นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยกว่างซี

เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 11 เมษายน 2561

ภาพประกอบ https://www.pexels.com

(Liuzhou Railway Vocational Technical CollegeLRVTCวิทยาลัยการคมนาคมระบบราง柳州铁道职业技术学院

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน