โอกาสของนักลงทุนไทยในวิกฤติค่าแรงของมณฑลกวางตุ้ง
30 Aug 2013"ของจีนราคาถูก" นับวันยิ่งจะหายากขึ้น เนื่องด้วยปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือ ค่าแรง มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปีตามนโยบายของรัฐบาลกลางที่ต้องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและลดช่องว่างทางเศรษฐกิจของชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมไม่ให้ทิ้งห่างกันมากเกินไปจนเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามการผลิตด้วยขนาด (economy of scale) โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยก็ยังคงเป็นจุดเด่นของจีนที่สร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมาจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ากระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากเกินไปจนเกิดการพัฒนาประเทศอย่างไม่สมดุลรัฐบาลกลางของจีนจึงให้ความสำคัญกับปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นต่าง ๆ โดยมีนโยบายและมาตรการลดช่องว่างรายได้ของประชาชน อาทิ การตั้งเป้าเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ร้อยละ 40 ของค่าแรงเฉลี่ยของประชาชนในเมืองใหญ่ภายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558) การให้รัฐวิสาหกิจส่งผลกำไรจากการประกอบธุรกิจให้แก่รัฐบาลในสัดส่วนที่มากขึ้น เพื่อให้รัฐบาลนำรายได้ส่วนนี้ไปเพิ่มงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมรวมถึงการพัฒนาระบบการให้บริการสาธารณสุข เพิ่มรายได้ของชาวนา การจัดสรรที่อยู่อาศัยราคาถูกให้ประชาชน ไปจนถึงการกำหนดเพดานเงินเดือนพนักงานระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และการเพิ่มความเข้มงวดในการเก็บภาษี
ในส่วนของรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้ดำเนินการปรับมาตรฐานอัตราค่าแรงขั้นต่ำรวมถึงอัตราค่าแรงขั้นต่ำของลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานรายชั่วโมงซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยทั้งมณฑลมีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 ส่งผลให้มณฑลกวางตุ้งมีระดับค่าแรงสูงในอันดับต้น ๆ ของจีน โดยมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 1,010-1,600 หยวนต่อเดือน
อัตราค่าแรงขั้นต่ำของมณฑลกวางตุ้งในปี 2556
รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งแบ่งระดับของค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 4 กลุ่ม (ไม่รวมเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น)
กลุ่ม |
อัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือน (หยวน) |
ค่าจ้างขั้นต่ำาสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานทั้งวัน (หยวน/ชม.) |
เมือง/พื้นที่ |
||
คิดต่อเดือน |
|||||
ใหม่ |
เดิม |
ใหม่ |
เดิม |
||
A |
1,550 (+19.2%) |
1,300 |
15.0 |
12.5 |
นครกว่างโจว |
B |
1,310 (+19.1%) |
1,100 |
12.5 |
10.5 |
จูไห่ ฝอซาน ตงกว่าน จงซาน |
C |
1,130 (+18.9%) |
950 |
11.1 |
9.3 |
ซัวเถา หุ้ยโจว เจียงเหมิน |
D |
1,010 (+18.8%) |
850 |
10.0 |
8.3 |
เสากวน เหอหยวน เหมยโจว ซ่านเหว่ย หยางเจียง จ้านเจียง เม่าหมิง จ้าวชิ่ง ชิงหย่วน แต้จิ๋ว เจียหยาง และหยุนฝู |
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2556 มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นจากเดิม 1,500 หยวนต่อเดือน เพิ่มเป็น 1,600 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ในขณะที่ถ้าเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมงจากเดิม 13.3 หยวนต่อ ชม. เพิ่มเป็นละ 14.5 หยวน ส่งผลให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำมากเป็นอันดับ 2 ของจีนรองจากนครเซี่ยงไฮ้ (1,620 หยวน)
อัตราค่าแรงขั้นต่ำในประเทศจีน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2556)
เขตการปกครอง |
อัตราขั้นต่ำรายเดือน (หยวน) |
อัตราค่าเฉลี่ยต่อชั่วโมง |
เซี่ยงไฮ้ |
1,620 |
14 |
เซินเจิ้น |
1,600 |
14.5 |
กวางตุ้ง |
1,550 |
15 |
ชินเจียง |
1,520 |
15.2 |
เทียนจิน |
1,500 |
15 |
เจียงซู |
1,480 |
13 |
เจ้อเจียง |
1,470 |
12 |
ปักกิ่ง |
1,400 |
15.2 |
ซานตง |
1,380 |
14.5 |
เหอเป่ย |
1,320 |
13 |
ฝูเจี้ยน |
1,320 |
14 |
จี๋หลิน |
1,320 |
11.5 |
หูเป่ย |
1,300 |
14 |
เหลียวหนิง |
1,300 |
13 |
หนิงเซี่ย |
1,300 |
12.5 |
ซานซี |
1,290 |
14 |
ยูนนาน |
1,265 |
11 |
อานฮุย |
1,260 |
13 |
เหอหนาน |
1,240 |
11.7 |
เจียงชี |
1,230 |
12.3 |
มองโกเลียใน |
1,200 |
10.2 |
กว่างชี |
1,200 |
10.5 |
กานซู |
1,200 |
12.7 |
ทิเบต |
1,200 |
11 |
เสฉวน |
1,200 |
12.7 |
หูหนาน |
1,160 |
11.5 |
เฮยหลงเจียง |
1,160 |
11 |
ส่านซี |
1,150 |
11.5 |
ชิงไห่ |
1,070 |
10.8 |
ฉงชิ่ง |
1,050 |
10.5 |
ไห่หนาน |
1,050 |
9.2 |
กุ้ยโจว |
1,030 |
11 |
ที่มา: China Job Bank (www.cjob.gov.cn)
เมื่อพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำของจีนในภาพรวมจะพบว่าอัตราค่าแรงของมณฑลและเมืองทางชายฝั่งตะวันออกที่ติดทะเลของจีนนั้น มีอัตราค่าแรงที่สูงกว่าเมืองและมณฑลทางฝั่งตะวันตกและตอนในของจีนอยู่มากพอสมควร เนื่องจากเมืองทางภาคตะวันออกมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มากกว่า มีสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานครบครัน ส่งผลให้ค่าครองชีพของเมืองทางภาคตะวันออกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและทรัพยากรจำนวนมากในการผลิตจึงมีการย้ายเข้าไปยังตอนในและภาคตะวันตกของประเทศเพื่อลดต้นทุนจากค่าแรงและลดการขนส่งทรัพยากร
อย่างไรก็ตาม มณฑลกวางตุ้งซึ่งมีค่าแรงสูงติดอันดับต้น ๆ ของจีนก็ยังเป็นหนึ่งในมณฑลที่น่าสนใจสำหรับนักธุรกิจที่สนใจเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจในจีน เนื่องจาก
1. มณฑลกวางตุ้งมีประชากรกว่า 105 ล้านคน มากกว่าประเทศไทยทั้งประเทศ เป็นหนึ่งในมณฑลมีกำลังการบริโภคมาก
2. เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมและขนส่งทางภาคใต้ของจีน มีท่าเรือระหว่างประเทศขนาดใหญ่ เที่ยวบินเชื่อมโยงนานาประเทศ เป็นชุมทางรถไฟที่สำคัญของจีน ตลอดจนมีการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงกับฮ่องกงและมาเก๊า
3. มีการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มมาก
4. ประชาชนมีการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากอยู่ติดกับฮ่องกงและมาเก๊าที่เป็นเขตเศรษฐกิจเสรี ประชาชนมีการท่องเที่ยวและไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิด สินค้าและบริการที่ใหม่ ๆ จึงเข้าสู่ฮ่องกงและมาเก๊าก่อนที่จะเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ และจำนวนไม่น้อยที่ผ่านเข้ามาทางมณฑลกวางตุ้งก่อน
5. มณฑลกวางตุ้งมีความใกล้ชิดกับไทยมาก เนื่องจากชาวจีนโพ้นทะเลในไทยส่วนใหญ่เป็นชาวกวางตุ้ง และยังมีการไปมาหาสู่กันจนถึงปัจจุบัน
ค่าแรงขึ้นต่ำในมณฑลและเมืองต่าง ๆ ของจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มณฑลกวางตุ้งนอกจากจะมีค่าแรงที่สูงแล้ว ยังเกิดสภาวะขาดแคลนแรงงานในบางช่วงโดยเฉพาะช่วงหลังเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากผู้ใช้แรงงานต่างถิ่นจำนวนไม่น้อยหันกลับไปทำงานในเมืองที่ตนอยู่แทนการเข้ามาใช้แรงงานในมณฑลกวางตุ้ง เนื่องด้วยเมืองต่าง ๆ มีการปรับค่าแรงให้สอดคล้องกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้น ๆ ผู้ใช้แรงงานต่างถิ่นจึงยินยอมที่จะกลับไปทำงานในภูมิลำเนาเดิมของตนแม้ได้เงินน้อยกว่าแต่ก็มีภาระในการใช้จ่ายน้อยตามไปด้วยเช่นกัน ที่สำคัญยังได้อยู่กับครอบครัวอีกด้วย
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุนหรือทำการตลาดในมณฑลกวางตุ้งจึงควรมุ่งธุรกิจที่เน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ใช้เทคโนโลยีในการผลิตเพื่อลดต้นทุนจากแรงงานคน ตลอดจนควรพิจารณาตลาดแรงงานในช่วงนั้น ๆ ว่าต้องการใช้บุคลากรระดับใด ในช่วงนั้นมีมากน้อยเพียงใด เงินเดือนที่ให้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำซึ่งสามารถดึงดูดแรงงานได้เพียงใด ตลอดจนต้องคำนึงถึงการจ่ายค่าประกันสังคมในส่วนของนายจ้างเข้ากองทุนประกันสังคมในสัดส่วนประมาณ 20%-30% ของเงินเดือนลูกจ้างอีกด้วย
จัดทำโดย: น.ส.จุฑามาศ สิงห์บำรุง ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนณนครกว่างโจว
แหล่งข้อมูล: เว็บไซต์ www.lawtime.cn/special/2013gongzi และเว็บไซต์ China Job Bank (www.cjob.gov.cn)