โค้งสุดท้ายก่อนปิดหีบอ้อย ธุรกิจน้ำตาลกว่างซี “หืดขึ้นคอ” ผลขาดทุนมีแนวโน้มขยายวงกว้าง

9 Apr 2014

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : สถานการณ์อ้อยและน้ำตาลในกว่างซี (ทั้งจีน) ไร้วี่แววฟื้นตัว ผลกระทบจากหลายปัจจัยส่งผลให้โรงงานน้ำตาลประสบผลขาดทุนต่อเนื่อง

กว่างซี เป็นฐานการผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน (แชมป์ 8 ปีซ้อน) ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ ในแต่ละปีจะมีการเปิดหีบอ้อยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนในปีถัดไป

หลายปีมานี้ อุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศจีนตกอยู่ในภาวะ ตกต่ำ ราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศร่วงลงเหลือตันละ 4,000 กว่าหยวน (ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิต) จากที่เคยพุ่งแตะจุดสูงสุดที่ตันละเกือบ 8,000 หยวน

กล่าวคือ ในฤดูการผลิตปี 2553/54 ราคาน้ำตาลอยู่ที่เฉลี่ยตันละ 7,078 หยวน ต่อมาในฤดูการผลิตปี 2554/55 ลดลงเหลือเฉลี่ยตันละ 6,379 หยวน และในฤดูการผลิตที่ผ่านมา 2555/56 เหลือตันละ 5,545 หยวน (ลดลงถึงร้อยละ 22)

หากฤดูการผลิตนี้ 2556/57 ราคาน้ำตาลยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับตันละ 4,600 หยวน จะส่งผลให้ภาวะขาดทุนของธุรกิจน้ำตาลในกว่างซีขยายวงกว้างสูงกว่า 5,600 ล้านหยวน และกว่าร้อยละ 40 ของโรงงานน้ำตาลต้องประสบผลขาดทุนติดต่อกัน

ตามรายงาน โรงงานน้ำตาลในกว่างซีต้องประสบผลขาดทุนติดต่อกันในสองฤดูการผลิต โดยฤดูการผลิต ปี 2554/55 ค่าความสูญเสีย (Loss-making) อยู่ที่ร้อยละ 41.7 และขยายวงกว้างเป็นร้อยละ 78.64 ในฤดูการผลิตถัดมา คิดเป็นผลขาดทุน 1,525 ล้านหยวน

ในฤดูการผลิตนี้ (ข้อมูล ณ เดือน ก.พ.57) พบว่า มีโรงงานในกว่างซีเปิดหีบอ้อยแล้ว จำนวน 102 แห่ง (จากทั้งหมด 103 แห่ง) มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 50.81 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.12 ล้านตัน (YoY) ผลิตน้ำตาลได้ 6.124 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.364 ล้านตัน (YoY)

อัตราผลผลิตน้ำตาลจากอ้อยอยู่ที่ร้อยละ 12.03 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 จุด ปริมาณการจำหน่าย 2.45 ล้านตัน ลดลง 0.4 ล้านตัน (YoY) สัดส่วนการจำหน่ายต่อการผลิต (Sales to Output Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 40.02 ลดลงร้อยละ 9.42 (YoY)

บุคคลในแวดวงธุรกิจน้ำตาล ชี้ว่า สถานการณ์ ผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณจำหน่ายลดลง เป็นผลมาจากการที่ผู้ผลิตน้ำตาลต่างสงวนท่าทีรอเวลาให้ราคาน้ำตาลดีดตัวจึงค่อยปล่อยน้ำตาลออกสู่ตลาด

ต้นทุนการผลิต(พุ่งสูง) เป็นปัจจัยหลักที่ขัดขวางการพัฒนาของธุรกิจน้ำตาลกว่างซี ปัจจุบัน ราคารับซื้ออ้อยในกว่างซีทั่วไปสูงกว่า 450 หยวนต่อตัน ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อย่างบราซิลและอินเดียมีต้นทุนวัตถุดิบอ้อยไม่เกิน 300 หยวนต่อตันเท่านั้น

นายหนิ่ว กง พาน (Niu Gong Pan, 钮公潘) ที่ปรึกษาด้านเทคนิคจากสมาคมน้ำตาลกว่างซี (Guangxi Sugar Association, 广西糖业协会) เปิดเผยว่า ต้นทุนน้ำตาลทรายขาวในกว่างซีอยู่ที่ตันละ 5,300 หยวน โดยต้นทุนวัตถุดิบอ้อยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด

ตัวเลขข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลที่นายเจี่ย จื้อ เหริ่น (Jia Zhi Ren, 贾志忍) รองประธานกรรมการถาวรประจำสมาคมน้ำตาลจีน (China Sugar Association, 中国糖业协会) กล่าวว่า ต้นทุนค่าวัตถุดิบคิดเป็นสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 70-80 ของต้นทุนการผลิตน้ำตาล

จากข้อมูล พบว่า ปีที่แล้ว ราคารับซื้ออ้อยทั่วไปในกว่างซีอยู่ที่ตันละ 475 หยวน หากเป็นพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตน้ำตาลสูงราคารับซื้อจะอยู่ที่ตันละ 505 หยวน (แม้ว่าจะมีการปรับลดราคารับซื้อข้างต้นลงมาอยู่ที่ 440 และ 470 หยวน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาขาดทุนได้)

ในขณะที่ค่าจ้างตัดอ้อยก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เมื่อหลายปีก่อน ค่าจ้างตัดอ้อยอยู่ที่ตันละ 40-50 หยวน ปัจจุบัน ค่าจ้างพุ่งขึ้นมาแตะตันละ 120-150 หยวน (ช่วงตรุษจีนสูงถึงตันละ 180 หยวน)

เจ้าหน้าที่โรงงานน้ำตาลรายใหญ่แห่งหนึ่งในนครหนานหนิง เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การผลิตน้ำตาลหนึ่งตัน โรงงานต้องขาดทุนประมาณ 400 หยวน ส่งผลให้ในปี ๆ หนึ่งโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ต้องประสบผลขาดทุนมากกว่าร้อยล้านหยวน

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน โรงงานได้ผลผลิตน้ำตาลประมาณ 122 กิโลกรัมต่อตันอ้อย (ใช้อ้อย 8.2 ตันต่อตันน้ำตาล) อัตราผลผลิตน้ำตาลจากอ้อยของโรงงานอยู่ที่ประมาณร้อยละ 12 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับกลาง (หากเป็นโรงงานที่ได้ผลผลิตต่ำจะต้องใช้อ้อยมากถึง 10 ตันต่อตันน้ำตาล) ถึงกระนั้นแล้วโรงงานก็ยังต้องขาดทุน

น้ำตาลนำเข้า(ทะลักเข้าจีน) นายหนิ่วฯ กล่าวว่า ความตกลงที่เกี่ยวข้องจากการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของจีนเมื่อปี 2544 กำหนดให้ภาษีนำเข้าน้ำตาลในโควต้าอยู่ที่ร้อยละ 15 และนอกโควต้าอยู่ที่ร้อยละ 50 ขณะที่ ประเทศอื่น ๆ มีภาษีนำเข้าน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 97

นายหลี่ ชิ่ง (Li Qing, 李庆) รองผู้จัดการบริษัท Chengdu Brilliant Futures สาขาหนานหนิง (成都倍特期货经纪有限公司) ให้ข้อมูลว่า ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศจีนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ผลิตดั้งเดิมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และกลุ่มผู้แปรรูปน้ำตาลที่มีการใช้วัตถุดิบที่คล่องตัวกว่า คือใช้ทั้งวัตถุดิบในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ

ในเวลาที่ราคาน้ำตาลในประเทศกับต่างประเทศเกิดส่วนต่างมาก กลุ่มผู้แปรรูปจะขยายปริมาณการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ เพราะแม้ว่าจะเป็นการนำเข้าน้ำตาลนอกโควต้า (ซึ่งต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 50) ก็ยังคงได้กำไรมากกว่าพันหยวน ซึ่งสร้างผลกระทบกับธุรกิจน้ำตาลในประเทศเสียสมดุล และกดราคาน้ำตาลในประเทศให้ต่ำลง

ในประเด็นดังกล่าว นายหนิ่วฯ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา (ปี 56) ตลาดจีนมีปริมาณการนำเข้าน้ำตาลมากถึง 4 ล้านตัน ทั้งนี้ กลุ่มผู้แปรรูปน้ำตาลในพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลในมณฑลกวางตุ้ง มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลซานตงมีการใช้น้ำตาลนำเข้าจำนวนมาก

อนาคตมัวหมองนายเจี่ยฯ กล่าวว่า ฤดูการผลิต ปี 2557/58 คาดว่าจะมีผลผลิตน้ำตาลทั้งประเทศราว 13.5 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณการบริโภคน้ำตาลจะอยู่ที่ประมาณ 13 ล้านตัน ซึ่งถือว่าปริมาณอุปสงค์อุปทานมีความสมดุล

นายหนง กวาง (Nong Guang, 农光) ประธานกรรมการสมาคมน้ำตาลกว่างซี กล่าวว่า การปรับลดราคารับซื้ออ้อยติดต่อกัน 2 ฤดูการผลิต กอปรกับโรงงานน้ำตาลจ่ายเงินค่าอ้อยล่าช้า ส่งผลกระทบต่อความกระตือรือร้นของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ลดลง

ทั้งนี้ คาดหมายว่า ฤดูการผลิตปี 2557/2558 พื้นที่ปลูกอ้อยในกว่างซีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านหมู่จีน (ราว 6.25 ล้านไร่) ลดลงกว่า 1 ล้านหมู่จีน (ราว 4.16 แสนไร่)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน