โครงการนำร่องธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่ (Food Trucks) ในฮ่องกง (ตอนจบ)
19 Aug 2016ตามที่บีไอซีได้เคยรายงานเรื่องโครงการนำร่องธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่ (Food Trucks) ในฮ่องกงและรัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ Food Truck Pilot Scheme ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อสัปดาห์ก่อนทางการฮ่องกงได้ประกาศรายชื่อผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวน 16 ราย โดย 7 รายเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่และอีก 9 รายเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจทางด้านอาหารอยู่ก่อนแล้ว สำหรับเมนูอาหารที่ได้รับการคัดเลือกนั้นประกอบด้วยเมนูอาหารจีน 8 เมนู อาทิ เกี๊ยว 5 สี (five colour dumplings) ขนมไข่ (egg waffles) เครื่องดื่มผลไม้ไข่มุก (mango pomelo sago) เป็นต้น สำหรับอีก 4 เมนูที่เหลือเป็นอาหารตะวันตก อาทิ แซนวิช เบอร์เกอร์ เป็นต้น นาง Cathy Chu, Commissioner of Tourism กล่าวว่า ผลการคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อร่วมโครงการนำร่องธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่ Food Trucks เป็นไปอย่างเป็นยุติธรรม ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงผู้ประกอบการธุรกิจอาหารรายใหญ่เท่านั้นที่ผ่านการคัดเลือก แต่ยังมีรายย่อยที่ผ่านการคัดเลือกด้วย
สำหรับเงื่อนไขหลัก 5 ข้อที่ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารเคลื่อนที่จะต้องดำเนินการมีดังนี้ (1) รถต้องมีขนาด 6 ตารางเมตร (2) ใช้เครื่องยนต์ดีเซล (3) ต้องมีถังสำหรับบรรจุน้ำสะอาดขนาด 120 ลิตร และถังสำหรับถ่ายน้ำเสียขนาด 180 ลิตร (4) จำกัดรถร้านอาหารเคลื่อนที่ไม่เกิน 2 คันต่อ 1 เขต และ (5) ห้ามเปลี่ยนเมนูอาหารตลอดระยะเวลา 2 ปีของโครงการ
โครงการนำร่องร้านอาหารเคลื่อนที่ (Food Trucks) เป็นโครงการที่เกิดจากความคิดริเริ่มของนาย John Tsang, รัฐมนตรีคลังของฮ่องกง มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยการเสนอร้านอาหารเคลื่อนที่ซึ่งจะจำหน่ายอาหารที่ถูกสุขอนามัย โดยโครงการนำร่องนี้จะเริ่มดำเนินการในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 8 เขต ได้แก่ (1) Disneyland (2) Ocean Park (3) Bauhinia Square (4) Central’s Harbourfront Event Space (5) Salisbury Garden (6) Art Square (7) Wong Tai Sin Square และ (8) Energizing Kowloon East Venue 1 และโครงการดังกล่าวจะมีระยะเวลาในการดำเนินการ 2 ปี
โครงการนำร่องร้านอาหารเคลื่อนที่ (Food Truck Pilot Scheme) มีผู้ประกอบการให้ความสนใจสมัครขอเข้าร่วมโครงการกันอย่างมากมาย โดยทางการฮ่องกงได้คัดเลือกผู้ประกอบการที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 51 รายให้เหลือเพียง 16 ราย ซึ่งผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 16 รายมีภารกิจสำคัญที่ต้องทำหลังจากนี้ ได้แก่ การตกแต่งรถบรรทุกให้เป็นร้านอาหารเคลื่อนที่ภายใต้เงื่อนไขที่ทางการฮ่องกงได้กำหนดไว้ และการขอใบอนุญาตต่าง ๆ เช่น การจดทะเบียนยานพาหนะ (Vehicle Registration) การขอใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะ (Vehicle License) การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตอาหาร (Food Factory License) รวมถึงการเซ็นสัญญาข้อตกลงในการขอใช้สถานที่เพื่อประกอบกิจการซึ่งกำหนดโดย The Tourism Commission.
นาย Simon Chung ประธานบริหารจาก Hong Kong Food Truck Association (HKFTA) เปิดเผยว่า มีสมาชิกจำนวน 11 ราย สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวและมีจำนวน 5 รายที่ผ่านการคัดเลือก นอกจากนี้ นาย Chung กล่าวว่า โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมร้านค้าอาหารเคลื่อนที่ของฮ่องกงและได้เสนอแนะต่อทางการฮ่องกงว่าควรกำหนดทิศทางในการดำเนินโครงการให้ชัดเจนแก่ผู้ประกอบการทั้ง 16 ราย เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังมีปัญหาอีกมากที่รอการแก้ไข
นาย Victor Huang เจ้าของธุรกิจอาหารในเครือ Chee Kei หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการนำร่องร้านอาหารเคลื่อนที่ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้วางแผนที่จะขายอาหารประเภทบะหมี่เกี๊ยว และอาหารบำรุงสุขภาพที่มีส่วนผสมของสมุนไพรจีนบนร้านอาหารเคลื่อนที่ นาย Huang เห็นว่า เป็นโอกาสดีในการสร้างแบรนด์ผ่านร้านอาหารเคลื่อนที่ โดยเฉพาะหากได้ขายในสถานที่ท่องเที่ยวหลักอย่าง Disneyland และ Golden Bauhinia Square จะสามารถช่วยดึงดูดลูกค้าให้ไปเยี่ยมชมและซื้อสินค้าหน้าร้านที่มีอยู่ 5 สาขา ในบริเวณใกล้ ๆ กัน อย่างไรก็ตาม นาย Huang เปิดเผยว่า ไม่ได้คาดหวังว่าร้านอาหารเคลื่อนที่จะสามารถทำกำไรให้กับธุรกิจได้ในระยะเวลาอันสั้น
นาย Swadiq Khan เจ้าของธุรกิจร้านอาหารแฟรนไชส์ Capital Café กล่าวว่า นอกจากจะได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการนำร่อง Food Truck แล้ว คณะกรรมการคัดเลือกยังได้ตัดสินให้อาหารจานหลักของร้าน (Spain Iberian Pork Club Sandwich) ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันรอบสุดท้ายอีกด้วย ทั้งนี้ นาย Khan กล่าวว่า บริษัทฯ จะเสนอความหลากหลายเพิ่มด้วยเมนูขนม เช่น ขนมเค้ก ขนมทาร์ตไข่ที่ผ่านมาตรฐานการรับรองตราฮาลาลบนร้านอาหารเคลื่อนที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
แม้ว่ากระแสความไม่เห็นด้วยกับโครงการร้านอาหารเคลื่อนที่ในฮ่องกงจะยังมีอยู่ แต่บีไอซีเห็นว่าการที่ทางการฮ่องกงได้นำโครงการร้านค้าเคลื่อนที่มาปัดฝุ่นภายใต้แนวคิดใหม่โดยคำนึงถึงหลักสุขอนามัยและความปลอดภัยทางอาหารมากขึ้น ซึ่งนับเป็นโครงการที่ดีสำหรับผู้ประกอบกิจการทางด้านอาหารและผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่สนใจเริ่มต้นประกอบกิจการร้านอาหารได้พัฒนาธุรกิจการค้าอาหารในฮ่องกงให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นในระดับสากล ทั้งนี้ บีไอซีเห็นว่าอาจต้องรอติดตามต่อไปว่าหลังจากที่ร้านค้าอาหารเคลื่อนที่ได้เริ่มดำเนินกิจการแล้วผลตอบรับจะเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่สนใจธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่อาจนำแนวความคิดดังกล่าวไปพิจารณาปรับใช้กับธุรกิจของตนต่อไป