เหตุการณ์สำคัญ – การแข็งค่าและการพัฒนาสู่ความเป็นสากลของเงินหยวน

26 Sep 2013

การแข็งค่าขึ้นของเงินหยวน

ในกระแสเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนเติบโตแซงญี่ปุ่นขึ้นแท่นเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลกรองจากสหรัฐฯ พร้อมกันนั้น สกุลเงินหยวนของจีนก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมกับบทบาทที่มากขึ้นและสำคัญยิ่งขึ้นในเวทีโลก ทั้งนี้ ด้วยแรงกระตุ้นจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน และจากแรงกดดันภายนอก อาทิจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่ผ่านมาเงินหยวนแข็งค่าอย่างต่อเนื่องและยังคงมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นต่อไปอีก แนวโน้มของค่าเงินหยวนและการพัฒนาสู่ความเป็นสากลของเงินหยวนเป็นที่จับตามองของโลก เพราะมันหมายถึงอนาคตการพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจโลกที่สหรัฐฯ และซีกโลกฝั่งตะวันตกเคยเป็นผู้นำอยู่ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อประเด็นด้านการเมืองและการถ่วงดุลอำนาจทางด้านความมั่นคงของโลกด้วย

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ค่าเงินหยวน (Spot Exchange Rate) ปิดตลาดที่ 6.2085 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแตะระดับแข็งค่าที่สุดระหว่างวันที่ 6.2077 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นสถิติแข็งค่าที่สุด นับแต่รัฐบาลได้ปรับอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2536 เป็นต้นมา ปัจจุบัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ระดับ 6.1767 (ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2556)

การแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินหยวนได้นำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อจีนในหลายๆ ด้าน อาทิ

  1. ราคาสินค้าที่จีนนำเข้าจากต่างประเทศต่ำลงโดยเปรียบเทียบ เปิดโอกาสให้จีนสามารถนำเข้าสินค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าสำคัญที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนา อาทิ พลังงาน วัตถุดิบและเครื่องจักรกลต่างๆ
  2. เงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นได้ช่วยลดการเกินดุลการค้าของจีนให้น้อยลง ช่วยบรรเทาปัญหาระหว่างจีนกับประเทศคู่ค้าสำคัญ
  3. เพิ่มศักยภาพการใช้จ่ายของชาวจีน โดยเฉพาะในการบริโภคสินค้านำเข้า การท่องเที่ยว ตลอดจนขยายความนิยมในการไปศึกษายังต่างประเทศ ลดต้นทุนในการเปิดโลกทัศน์ของชาวจีน
  4. ลดต้นทุนแรงงานของวิสาหกิจจีนในต่างประเทศโดยสามารถจ้างแรงงานที่มีฝีมือในต่างประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ดี พร้อมกันนั้น การแข็งค่าของเงินหยวนก็ส่งผลกระทบทางลบต่อจีนด้วยเช่นกัน อาทิ

  1. ราคาสินคาของจีนสูงขึ้นในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและวิสาหกิจส่งออกของจีน โดยเฉพาะวิสาหกิจการส่งออกที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า ของเล่น เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งปกติเป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูง การปรับราคาขึ้นมีผลกระทบต่อควยามสามารถในการแข่งขันของสินค้าเหล่านี้
  2. เพิ่มแรงกดดันการว่างงานภายในประเทศ
  3. กระทบต่อการดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในจีนเนื่องจากการลงทุนมีต้นทุนที่สูงขึ้น
  4. กระทบเสถียรภาพของตลาดเงินจีน อันเนื่องจากเงินทุนที่ไหลเข้า-ออกเพื่อเก็งกำไรค่าเงิน พร้อมไปกับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่หดตัว

การพัฒนาความเป็นสากลของเงินหยวน

นอกจากค่าเงินหยวนที่ร้อนแรงแล้ว การพัฒนาสู่ความเป็นสากลของเงินหยวนเป็นอีกประเด็นร้อนของตลาดการเงินจีน ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง การเมืองที่มั่นคง ค่าเงินหยวนที่มีเสถียรภาพ การผลักดันและ’ไฟเขียว’จากทางการจีน ตลอดจนประสบการณ์จากการทดลองใช้เงินหยวนในฮ่องกงและเขตการค้าเสรีจีน – อาเซียน ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยพัฒนาและผลักดันและเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในเศรษฐกิจโลก

ที่ผ่านมาทางการจีนได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อส่งแสริมบทบาทเงินหยวนสู่ความเป็นสากล ดังนี้

  • มิถุนายน 2551 จีนส่งเสริมให้มีการใช้เงินหยวนในต่างประเทศโดยเปิดให้มีการซื้อพันธบัตรในตลาดฮ่องกงด้วยเงินหยวนเป็นครั้งแรก
  • ธันวาคม 2551 จีนส่งเสริมให้มีการใช้เงินหยวนในการค้าชายแดนกับประเทศที่มีเขตอาณาติดต่อกับจีน โดยเฉพาะกับอาเซียน
  • กรกฎาคม 2552 รัฐบาลจีนอนุญาตให้ใช้เงินหยวนในการชำระหนี้กับต่างประเทศในนครเซี่ยงไฮ้ และอีก 4 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ กว่างโจว เซินเจิ้น จูไห่และตงก่วน และต่อมาได้ขยายรวมอีก 20 มณฑล ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน มองโกเลียใน เหลัยวหนิง เจียงซู เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน ซานตง หูเป่ย กว่างซี ไห่หนาน ฉงชิ่ง เสชวน ยูนหนาน จี๋หลิน เฮยหลงเจียง ทิเบต ซินเจียงและกวางตุ้ง – จีนทยอยลงนามความตกลงกับประเทศต่างๆ ให้มีการใช้เงินหยวนในการซื้อขายนำเข้าส่งออกสินค้าบริการ อาทิ เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ รัสเซีย พม่า ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และอาร์เจนตินา เป็นต้น
  • สิงหาคม 2554 จีนอนุญาตให้กลุ่มผู้ส่งออกชาวจีนในมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศสามารถใช้เงินหยวนชำระหนี้ต่างแดนได้
  • กันยายน 2554 จีนประกาศให้บริษัทต่างชาติที่จะเข้าลงทุนในจีนสามารถใช้เงินหยวนเป็นเงินลงทุนได้
  • เมษายน 2556 ศูนย์การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (China Foreign Exchange Trading Centre) ประกาศว่า เงินหยวนสามารถซื้อขายกับดอลลาร์ออสเตรเลียโดยตรงได้โดยไม่ต้องผ่านสกุลที่สาม
  • พฤษภาคม 2556 ธนาคารอุตสาหกรรมและธุรกิจจีน (ICBC) ได้เริ่มเปิดให้บริการการชำระเงินหยวน (Yuan-Clearing Service) ที่สิงค์โปร์ ซึ่งทำให้สิงค์โปร์กลายเป็นประเทศเดียว (นอกจากฮ่องกง) ที่มีธนาคารดำเนินธุรกรรมการชำระเงินหยวนในปัจจุบัน
  • มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา เงินหยวนได้แซงหน้าเงินบาทและโครนนอร์เวย์ ติดอันดับที่ 11 (จากเดิมอันดับที่ 20 ในเดือนมีนาคม 2555 ) ในบรรดาสกุลเงินที่ใช้ในการชำระเงินมากที่สุดในทั่วโลก พร้อมกับทำลายสถิติสูงสุดโดยครองสัดส่วนการชำระเงินถึงร้อยละ 0.87 นอกจากนี้ ผลสำรวจจากกลุ่มเอชเอสบีซี (HSBC) พบว่า วิสาหกิจที่สำรวจมีเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 48) รู้จักการใช้เงินหยวนในการชำระเงินข้ามพรมแดนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะฮ่องกงและอังกฤษ ซึ่งมีวิสาหกิจรู้จักการชำระด้วยเงินหยวนถึงร้อยละ 72 และร้อยละ 57 ตามลำดับ รองลงมาคือสหรัฐอเมริกาและเยอรมัน โดยอยู่ที่ร้อยละ 44 และร้อยละ 43 ตามลำดับ นอกจากนั้น พบว่าในปี 2555 การค้าระหว่างจีนกับแอฟริกาใต้ราวร้อยละ 10 ค้าขายกันด้วยเงินหยวน

ปัจจุบันดอลลาร์สหรัฐกับยูโรครองสัดส่วนร้อยละ 73 ของการชำระเงินทั่วโลก ดังนั้นหากจะเทียบเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐหรือยูโร เงินหยวนยังต้องผ่านหนทางอีกยาวไกลกว่าจะถึงฝั่งฝัน นอกจากนี้ ในการสำรวจวิสาหกิจร้อยละ 42 ยังเห็นว่า การชำระด้วยเงินหยวนยังติดปัญหาขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก อย่างไรก็ตาม การที่เงินหยวนเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในตลาดเงินโลก เป็นการปูพื้นฐานอันดีต่อการขยายตัวองการใช้เงินหยวนในอนาคต ผนวกกับธนาคารกลางจีนมีนโยบายชูงใจโดยลดขั้นตอนการชำระด้วยเงินหยวน พร้อมกับปรับระบบการให้บริการชำระด้วยเงินหยวนให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นับเป็นข่าวดีสำหรับพัฒนาการของเงินหยวนสู่การเป็นสกุลเงินสากลมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าเงินหยวนจะก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 3 สกุลเงินที่ใช้ในการชำระเงินมากที่สุดในโลกได้ภายในปี 2558

นัยสำคัญต่อไทย

จากการขยายตัวทางการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน เป็นที่แน่ชัดว่าเงินหยวนจะขยายบทบาทและเพิ่มความสำคัญในการค้าในภูมิภาคอาเซียน สำหรับไทยนั้น ในฐานะจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับที่ 1 และแหล่งนำเข้าใหญ่อันดับที่ 2 ของไทย การชำระด้วยเงินหยวนในการค้าขายกับจีนอาจเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสื่อกลาง ลดต้นทุนในการทำค้าขาย ตลอดจนช่วยสร้างเครือข่ายคู่ค้าจีนได้มากยิ่งขึ้น

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน