เส้นทาง (วิบาก)! การเปิดร้านอาหารไทยในแดนมังกร: 3 หมวดที่ต้องทำ – กว่า 20 ขั้นตอน – ผ่าน 15 หน่วยงาน

13 May 2013

“ครัวไทยสู่ครัวโลก” คุ้นๆ กับคำกล่าวนี้กันใช่ไหม?

ประโยคสั้นๆ แต่บ่งบอกถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่ยิ่งใหญ่ของไทยเรา ในการเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกโดยอาศัยทรัพยากรต่างๆ ที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร รสชาติจัดจ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย และจุดเด่นในการให้บริการ

หากทำสำเร็จ นอกจาก “เม็ดเงินต่างประเทศ” แล้ว นโยบายนี้ยังถือเป็นการสร้าง “แบรนด์ประเทศไทย” ในเวทีโลก ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยในระยะยาวอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างตื่นตัว และช่วยกันคนละไม้ละมือที่จะผลักดันให้นโยบายนี้มีผลเป็นรูปธรรม รวมถึงการส่งเสริมให้มีร้านอาหารไทยในต่างประเทศในจำนวนที่เพิ่มขึ้น

“จีน” เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายสำคัญ ด้วยความที่มีขนาดของตลาดและประชากรที่ใหญ่อันนำมาซึ่ง “กำลังซื้อ” ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความต้องการของแปลกใหม่อย่างอาหารไทย

ร้านอาหารไทย ทั้งแบบแท้ๆ ที่ลงทุนโดยผู้ประกอบการไทย และแบบที่มีเมนูที่คนไทยเห็นแล้ว คงต้องร้องขอ “ทวงคืนผัดกะเพรา” ที่ส่วนใหญ่มีคนจีนเป็นเจ้าของ จึงผุดขึ้นราวดอกเห็ดในหลายพื้นที่ของจีน อาทิ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่งและกว่างโจว

ในหัวเมือง “รอง” ของจีนอีกหลายแห่ง ก็เริ่มมีร้านอาหารไทยทั้งแบบแท้ๆ และเทียมๆ ให้เห็นบ้างแล้ว โดยเฉพาะในเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก เช่น ซีอาน และกุ้ยหลิน ขณะเดียวกัน ในอีกหลายพื้นที่ที่กำลังเร่งสร้าง “ความเป็นเมืองใหญ่” โดยเฉพาะเมืองเอกของแต่ละมณฑล ก็ยังเป็น “โอกาส” อีกมากสำหรับร้านอาหารไทย

อ่านถึงตรงนี้ หลายท่านคง “ตาโต” แสดงความสนใจที่จะมาเปิดร้านอาหารในจีน

ในบทความนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ขอพาท่านไปดูกันว่า การจะเปิดร้านอาหารไทยในจีนนั้น มีกฎระเบียบอะไรที่ต้องคำนึงถึง และมีขั้นตอนยากง่ายประการใด

ขอบอกคร่าวๆ ว่า เมื่อเทียบกับไทย การเปิดร้านอาหารในจีนมีขั้นตอนเยอะ และค่อนข้างยุ่งยาก รวมถึงการนำเข้าพ่อครัวแม่ครัวจากไทย

มาทำความรู้จักกับ “ธุรกิจอาหาร” ในจีน

กล่าวโดยสรุป ในจีนแผ่นดินใหญ่ ธุรกิจอาหารแบ่งได้อย่างคร่าวๆ ออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. ธุรกิจผลิตอาหาร (食品生产加工) หมายถึงการประกอบการผลิตและ/หรือแปรรูปอาหารโดยไม่มีการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นด้วยตัวเอง ก็คือ การตั้งโรงงานผลิตและแปรรูปอาหาร แล้วรอคนมาซื้อถึงหน้าโรงงาน หากจะประกอบธุรกิจประเภทนี้ ต้องเดินเรื่องขอ “ใบอนุญาตประกอบธุรกิจผลิตอาหาร” (食品生产许可证)
  2. ธุรกิจเคลื่อนย้ายอาหาร (食品流通经营) หมายถึงการประกอบการที่ต้อง “เคลื่อนย้าย” อาหารหรือวัตถุดิบประกอบอาหาร เพื่อไปขายต่อหรือแปรรูปต่อ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวที่มีโรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยวเอง ซึ่งต้องมีการ “เคลื่อนย้าย” เส้นก๋วยเตี๋ยวนั้น จากโรงงานมายังร้านก๋วยเตี๋ยวของตนเอง หรือโรงงานผลิตลูกชิ้นที่ผลิตแล้วต้อง “เคลื่อนย้าย” ผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นของตนเองจากโรงงานไปวางขายในห้างโมเดิร์นเทรด

    จุดสำคัญของธุรกิจประเภทนี้คือ มีการ “เคลื่อนย้าย” อาหารเกิดขึ้น ซึ่งตามกฎหมายจีน จะต้องขอ “ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเคลื่อนย้ายอาหาร” (食品流通许可证) ก่อนจึงจะสามารถประกอบธุรกิจประเภทนี้ได้

  3. ธุรกิจบริการร้านอาหาร (餐饮服务) ครอบคลุมการประกอบธุรกิจขายปลีกอาหารทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นภัตตาคารในโรงแรม ร้านอาหารจานด่วน (快餐店) ร้านขายของทานเล่น ( Snack Bar – 小吃店) ร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม โรงอาหาร หรือธุรกิจบริการจัดส่งอาหารหรือบริการอาหารนอกสถานที่ (Catering Service)

    การประกอบธุรกิจประเภทนี้ ต้องมี “ใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริการร้านอาหาร” (餐饮服务许可证)

3 หมวดขั้นตอนการเปิดร้านอาหารในจีน

เกร็ดธุรกิจ…

โดยทั่วไปแล้ว หากท่านวางแผนจะเปิดร้านอาหารไทยธรรมดาที่ประกอบอาหาร และจำหน่ายภายในร้านอย่างเดียว ท่านก็เพียงแค่ขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริการร้านอาหารเท่านั้น

แต่หากท่านวางแผนจะทำบริการจัดส่งอาหารภายนอก (Delivery Service) ด้วย ท่านต้องขออนุญาตเพิ่มเติมอีกใบหนึ่ง รวมถึงต้องแจ้งขอเปลี่ยนแปลง ขอบเขตการประกอบธุรกิจที่ระบุไว้ในใบอนุญาต เปิดร้านอาหารให้ครอบคลุมบริการส่งอาหารนี้ด้วย

จากข้อมูลข้างต้น “ธุรกิจบริการร้านอาหาร” คงพอจะเข้าเค้ามากที่สุดกับการที่จะเปิดร้านอาหารไทยสุดเก๋ในจีนสักร้านหนึ่ง

ทีนี้ เรามาดูกันว่า จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริการร้านอาหาร” (餐饮服务许可证) สักใบหนึ่ง

เพื่อความเข้าใจ BIC ขอแบ่งกระบวนเปิดร้านอาหารในจีนออกเป็น 3 หมวดขั้นตอนหลัก ได้แก่

หมวดแรก – ขั้นตอนก่อนจดทะเบียนใบประกอบธุรกิจร้านอาหาร

ขั้นแรก ยื่นขอจดทะเบียนชื่อธุรกิจ (Apply for A Company Name) ณ สำนักบริหารอุตสาหกรรมและพาณิชย์ในท้องที่ (Administration for Industry and Commerce, 工商行政管理局) ซึ่งหากได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อที่ยื่นขอจดทะเบียน สำนักงานฯ จะให้ “หนังสือรับรองทะเบียนชื่อธุรกิจ” (Company Name Approval Notice, 名称预先核准通知书) โดยทั่วไป ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 15 วัน

ทั้งนี้ การยื่นขอจดทะเบียนชื่อธุรกิจ ยังไม่ใช่การขอจดทะเบียนใบประกอบธุรกิจ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ จะต้องเอาชื่อที่ได้จากขั้นตอนนี้ ไปยื่นขอใบประกอบธุรกิจต่อไป

ขั้นที่สอง ยื่นขออนุญาตการก่อตั้งกิจการโดยทุนต่างชาติ (Apply for Establishment of Foreign-funded Enterprise) ณ สำนักงานพาณิชย์ในท้องที่ (Commerce Bureau, 商务局) โดยหากมีเงินลงทุนไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 90 วันทำการ แต่หากเงินลงทุนเกินกว่านั้น จะใช้เวลานานขึ้น เนื่องจากสำนักงานพาณิชย์ท้องถิ่นจะต้องส่งไปให้หน่วยงานในระดับที่สูงกว่าเป็นผู้อนุมัติ

หลังจากได้รับอนุมัติแล้ว สำนักงานพาณิชย์จะให้ “ใบอนุญาตประกอบกิจการของธุรกิจต่างด้าว” (Certificate of Approval for Establishment of Enterprises with Foreign Investment in the PR China, 中国人民共和国外商投资企业批准证书) ซึ่งถือว่า สามารถประกอบกิจการในประเทศจีนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายจีน

ขั้นที่สาม ขออนุญาตกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง ได้แก่

(1) ขอใบอนุญาตปล่อยควันและของเสีย (Environmental Examination and Approval) ณ สำนักงานสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น (Environmental Protection Bureau, 环保局) ซึ่งก่อนยื่นคำร้อง จะต้องมั่นใจว่า การจัดการระบบระบายอากาศ ควันและของเสียจากการประกอบอาหารมีความเหมาะสมและไม่สร้างมลภาวะต่ออาคารข้างเคียง หลังได้รับคำร้องแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นจะเดินทางมาตรวจสภาพภายในร้าน ระบบดูดควันอาหารและปล่อยของเสีย หากเหมาะสม ก็จะได้รับใบอนุญาตฯ

(2) ขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริการร้านอาหาร (Apply for Food Service Permit, 餐饮服务许可证) ณ สำนักงานกำกับอาหารและยาในท้องถิ่น (Local Food and Drug Administration, 食品药品监督管理局) หลังได้รับคำร้อง จะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบทาง “กายภาพ” ด้านต่างๆ ของร้าน โดยเฉพาะความสะอาดและสุขอนามัยของส่วนบริการและส่วนทำอาหาร อุปกรณ์ประกอบอาหาร รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ หากไม่มีปัญหาใดๆ ก็จะได้รับใบอนุญาตฯ

(3) ขอใบอนุญาตติดตั้งก๊าซหุงต้มและระบบดับเพลิง (Fire Protection Registration) ณ สำนักงานดับเพลิงท้องถิ่น (Fire Department, 消防局) หลังได้รับคำร้อง จะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบระบบความปลอดภัยของก๊าซหุงต้ม ระบบดับเพลิง และทางหนีไฟ หากไม่มีปัญหาความปลอดภัยใดๆ ก็จะได้รับใบอนุญาตฯ

เมื่อได้ใบอนุญาตทั้งสามข้างต้นนี้แล้ว จึงจะสามารถดำเนินการตามหมวดขั้นตอนที่เหลืออีก 2 หมวดดังต่อไปนี้ได้

หมวดที่สองขั้นตอนการจดทะเบียนใบประกอบธุรกิจ (Apply for Business License, 营业执照)

เมื่อได้ใบอนุญาต “ปล่อยควันและของเสีย” “ประกอบธุรกิจบริการร้านอาหาร” และ “ติดตั้งก๊าซหุงต้มและระบบดับเพลิง” ตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว ให้นำใบอนุญาตทั้งสาม ไปที่ “สำนักงานบริหารอุตสาหกรรมและพาณิชย์” ในท้องถิ่นของเขตที่ร้านจะตั้งอยู่ เพื่อยื่นจดทะเบียนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ

ตามกฎหมายจีน ทางการจีนอนุญาตให้ธุรกิจทุนต่างชาติหรือธุรกิจร่วมทุนประกอบกิจการได้ในรูปแบบ “บริษัทจำกัดความรับผิดชอบ” (有限责任公司) ซึ่งจะต้องใช้ “ทุนจดทะเบียน” เท่าใด นั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เช่น ขอบเขตการประกอบธุรกิจ และจำนวนผู้ถือหุ้น เป็นต้น ทั้งนี้ โดยมีค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนฯ แปรผันตามมูลค่าของทุนจดทะเบียน หากทุนจดทะเบียนไม่เกิน 10 ล้านหยวน มีค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.08 ของทุนจดทะเบียน หากเกินกว่านั้น มีค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.04 ของทุนจดทะเบียน

การได้ “ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ” ในขั้นตอนนี้ ถือเป็นการได้รับอนุญาตให้ “เปิด” ร้านอาหารในจีนได้แล้ว อย่างไรก็ดี เปิดได้แต่ยัง “ให้บริการ” ไม่ได้อย่างสมบูรณ์นัก หากยังไม่ได้เดินสายจดทะเบียนรายการอื่นๆ ที่เหลืออยู่ดังต่อไปนี้

หมวดที่สามขั้นตอนหลังจดทะเบียนใบประกอบธุรกิจแล้ว

ขั้นแรก ยื่นขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (Tax Registration) ณ สำนักงานภาษีท้องถิ่น (Local Taxation Administration, 地方税务局)

หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร มี 15 หลัก โดย 6 หลักแรกบอกถึงรหัสพื้นที่ และ 9 หลักที่เหลือเป็นรหัสประจำตัวของแต่ละบริษัท (Code Allocation to Organization – 组织机构代码)

กล่าวโดยสรุป ธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งถูกจัดเป็น “ธุรกิจประเภทบริการ” ต้องเสียภาษีต่างๆ ดังนี้

ประเภทภาษี อัตราจัดเก็บ
ภาษีธุรกิจ ร้อยละ 5 ของรายได้จากการดำเนินงาน
ภาษีก่อสร้างและบำรุงเมือง (Urban Maintenance and Construction Tax, 城市维护建设税 อัตราภาษีจะแตกต่างกันไปตามเขตพื้นที่ที่ร้านอาหารตั้งอยู่

-ร้อยละ 7 ของภาษีธุรกิจหากร้านตั้งอยู่ในเขตเมือง

– ร้อยละ 5 สำหรับร้านที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอชนบท และ

– ร้อยละ 1 สำหรับร้านที่ไม่ตั้งอยู่ในเขตเมืองและเขตอำเภอชทบท
ภาษีบำรุงการศึกษา (Educational Surtax, 教育费附加税 ร้อยละ 3 ของภาษีธุรกิจ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax, 企业所得税 ร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ

หมายเหตุภาษีธุรกิจ ภาษีก่อสร้างและบำรุงเมืองและภาษีบำรุงการศึกษา นั้น ไม่ว่าธุรกิจจะมีกำไรหรือขาดทุน ก็ต้องเสียภาษีดังกล่าว ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล จะถึงเกณฑ์ต้องจ่าย ก็ต่อเมื่อธุรกิจมีกำไรสุทธิในการประกอบการ

ขั้นที่สอง จดทะเบียนอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่

(1) ยื่นขอใบทะเบียนเลขประจำตัวนิติบุคคล (Code Allocation to Organization Certificate – 组织机构代码证) ณ สำนักงานควบคุมคุณภาพและเทคโนโลยีท้องถิ่น (Quality and Technology Supervision Bureau, 质量技术监督局)

(2) ยื่นจดทะเบียนขออนุญาตเปิดบัญชีธนาคาร (Permit for Opening Bank Account) ณ ธนาคารประชาชนจีน (The People’s Bank of China -中国人民银行) ประจำท้องที่ ซึ่งธนาคารฯ จะออกใบรับรองให้เพื่อนำไปใช้เปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการ สำหรับการทำธุรกรรมต่างๆ ที่จะมีขึ้น

(3) ยื่นจดทะเบียนสถิติ ณ สำนักงานสถิติท้องถิ่น (Statistics Registration)

(4) ยื่นขออนุญาตทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Registration) ณ สำนักงานปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศประจำท้องถิ่น (Foreign Exchange Supervision Bureau, 外汇管理局) ซึ่งการขออนุญาตนี้ มีความจำเป็นหากต้องการรับเงินโอนจากต่างประเทศ หรือจะโอนเงินไปต่างประเทศ

(5) ยื่นจดทะเบียนประกันสังคมและแรงงาน (Labor and Social Security Registration, 劳动和社会保障登记证) ณ สำนักงานแรงงานและประกันสังคมประจำท้องถิ่น (Labor and Social Security Bureau, 劳动和社会保障局) ทั้งนี้ ขอเรียนเป็นข้อมูลว่า ตามกฎหมายจีน นายจ้างจะต้องจ่ายเงินประกันสังคมให้กับลูกจ้างประมาณ 35% ของค่าจ้างเท่านั้นเอง!

(6) ลงทะเบียนตรวจสุขภาพและขอรับใบรับรองการอบรมของพนักงาน (Health and Hygiene Examination) ณ สำนักงานตรวจสอบและกักกันโรค (CIQ) ท้องถิ่น

กฎหมายจีนกำหนดให้พนักงานในร้านอาหารที่อยู่ในกระบวนการประกอบและแปรรูปอาหาร จะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรงตามประกาศของทางการ และต้องผ่านการตรวจสุขภาพก่อนทำงานโดย CIQ ซึ่งจะให้ “ใบรับรองการผ่านการตรวจสุขภาพ” (食品从业人员健康证) ของพนักงาน ซึ่งเจ้าของร้านควรนำไปติดไว้ในร้านเพื่อเป็นเครื่องยืนยันกับผู้บริโภคว่าพนักงานในร้านผ่านการตรวจสุขภาพแล้ว

นอกจากนี้ พนักงานที่ปฏิบัติงานในร้านจะต้องมี “ใบรับรองการผ่านการอบรมบริการและความปลอดภัยด้านอาหาร” (食品安全知识培训证) ด้วย โดยสามารถเข้ารับการอบรมดังกล่าวกับสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารท้องถิ่นหรือสถาบันโภชนาการที่เป็นองค์กรวิชาชีพที่ขึ้นทะเบียนกับทางการ

(7) ยื่นจดทะเบียนผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol Permit Registration) ณ สำนักงานพาณิชย์ท้องถิ่น หากจะขายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ภายในร้านด้วย

การยื่นขอใบอนุญาตหรือจดทะเบียนต่างๆ ในหมวดนี้ ทะเบียนผู้เสียภาษี ประกันสังคมและแรงงาน การขอรหัสประจำตัวนิติบุคคล โดยทั่วไป กฎหมายกำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 วันหลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (Business License)

นอกจากขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมานี้แล้ว ผู้ประกอบการบางรายอาจต้องไปติดต่อทางการเพื่อขออนุญาตเพิ่มเติมอีกในบางรายการ ขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจของแต่ละราย อาทิ การขอเปิดบัญชีธุรกิจกับธนาคาร การซื้อใบกำกับภาษีกับสำนักงานภาษีท้องถิ่น การขอจดทะเบียนโลโก้หรือเครื่องหมายการค้าของร้าน เป็นต้น

นำเข้าพ่อครัวแม่ครัวจากไทย — ใครๆ ก็ทำได้ ชัวร์หรือมั่วนิ่ม

ถ้าสังเกตดีๆ ขั้นตอนที่ยาวเป็นหางว่าวข้างต้น ยังไม่มีเรื่องเกี่ยวกับ “การนำเข้าพ่อครัวแม่ครัวจากไทย” ไปแสดงฝีมือบริการให้คนจีน

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ BIC เห็นว่า เรื่องนี้มีความสำคัญและหลายท่านยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก โดยเฉพาะความคิดที่ว่า การส่งพ่อครัวแม่ครัวไทยไปจีนเป็นเรื่องง่ายๆ

ก่อนอื่น ต้องขอทำความเข้าใจว่า ดังที่เราทราบกันดี จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ดังนั้น โดยพื้นฐาน ทางการจีนจึงไม่สนับสนุนการใช้ “แรงงานต่างชาติ” เท่าใดนัก หากไม่ใช่ “แรงงานฝีมือ” ที่จีนขาดแคลน หรือคนจีนทำเองไม่ได้

ตามกฎหมายจีน “พนักงาน” ที่ใช้ในการทำธุรกิจร้านอาหาร ส่วนใหญ่ เป็นแรงงานที่จีน “ไม่ขาดแคลน” ไม่ว่าจะเป็นพ่อครัว คนหั่นผัก คนเชียร์อาหาร เด็กเสริ์ฟ คนล้างจาน หรือแคชเชียร์

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะไม่มีวิธีนำเข้า “พ่อครัวแม่ครัวไทย” เลยซะทีเดียว หากแต่ต้องใช้ช่องทางและขั้นตอนที่ถูกต้องเหมาะสม

กล่าวคือ โดยทั่วไป บริษัททุนต่างชาติที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในจีนจะสามารถนำเข้าพนักงานต่างชาติได้ “จำนวนหนึ่ง” ซึ่งจะเป็นจำนวนเท่าใดนั้น โดยมาก ขึ้นอยู่กับ “ทุนจดทะเบียน”

พูดง่ายๆ ก็คือ การเปิดร้านอาหารไทยในจีนแบบ “อลังการงานสร้าง” ก็มีสิทธิ์นำเข้าพ่อครัวแม่ครัวจากไทย ได้เยอะกว่าการเปิดร้านแบบ “เบี้ยน้อยหอยน้อย” ซึ่งอาจไม่ได้รับการพิจารณาให้นำเข้าพ่อครัวแม่ครัวจากไทยเลยสักคนก็เป็นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น อำนาจในการพิจารณาว่าจะให้นำเข้า “แรงงานต่างด้าว” ได้หรือไม่อยู่ที่สำนักงานแรงงานและประกันสังคมของจีน ซึ่งมีขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้

หนึ่ง ยื่นขออนุญาตขอจ้างแรงงานต่างด้าว (Employment of Foreigner Permit) ณ สำนักงานแรงงานในท้องถิ่น หากคำขอได้รับการอนุมัติ สำนักงานฯ จะออก “หนังสืออนุญาตการจ้างแรงงานต่างด้าว” (Employment License, 外国人就业许可证) ให้แก่นายจ้าง

สอง นำหนังสืออนุญาตฯ พร้อมเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้อง (อาทิ สำเนาหนังสือเดินทางของแรงงานที่จะนำเข้า ประวัติการทำงาน ฯลฯ) ไปยื่นขอหนังสือนำประกอบการขอวีซ่า (Letter of Visa Notification – 外国人签证通知邀请函) ณ สำนักงานการต่างประเทศในท้องถิ่น

สาม ให้พ่อครัวหรือแม่ครัวในประเทศไทยนำ “หนังสือนำประกอบการขอวีซ่า” (ต้นฉบับ) ที่ได้รับข้างต้น และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ไปยื่นขอวีซ่าทำงาน (Visa Type Z) ณ สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลของประเทศจีนในประเทศไทย

สี่ เมื่อพ่อครัวหรือแม่ครัวไทยเดินทางถึงประเทศจีน และได้ที่พักแล้ว ให้ติดต่อหน่วยงาน “นิติบุคคลอาคารชุด” ของอาคารที่พักอาศัยของพ่อครัว/แม่ครัวรายนั้นๆ เพื่อขอหนังสือรับรองการเข้าพักอาศัย

ห้า นำหนังสือเดินทางและเอกสารต่างๆ ไปขึ้นทะเบียนพำนักสำหรับชาวต่างชาติ (Accommodation Registration Form for Foreign Nationals, 境外人员住宿登记表) ณ สถานีตำรวจในพื้นที่ (หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “พ่าย ชู่ สั่ว” 派出所)

หก ไปตรวจร่างกาย เพื่อขอรับหนังสือรับรองการตรวจสุขภาพ (Certificate of Health Examination, 健康检查证明书) ณ สำนักงานตรวจสอบและกักกันโรคในพื้นที่ (Entry-Exit Inspection and Quarantine Bureau, 出入境检验检疫局)

เจ็ด นำหนังสือเดินทางและเอกสารต่างๆ ไปยื่นขอหนังสืออนุญาตการเชิญบุคคลชาวต่างชาติ (邀请国(境)外人员来访批件) ณ สำนักงานการต่างประเทศในท้องถิ่น

แปด นำหนังสือเดินทางและเอกสารต่างๆ ไปยื่นขอใบอนุญาตพำนักอาศัยในประเทศจีน (Residence Permit for Foreigner in the People’s Republic of China, 中华人民共和国外国人居留许可) ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประจำกรมรักษาความสงบภายในในท้องถิ่น (Entry-Exit Administrative Service Center, Public Security Bureau, 公安局出入境管理分局)

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ ขั้นตอนข้างต้นอาจแตกต่างกันในรายละเอียดในแต่ละพื้นที่

ขอย้ำว่า ขั้นตอนต่างๆ ข้างต้นนี้ ต้องดำเนินการภายใน 30 ากประสบการณ์ ที่จีนเขาขังจริงไรจริง!

บทส่งท้าย

เป็นอย่างไรกันบ้าง เมื่อเห็นขั้นตอนต่างๆ ข้างต้น อย่าเพิ่งท้อ เพราะ “โอกาสมาพร้อมกับความท้าทายเสมอ!”

BIC พร้อมจะให้บริการเป็นที่ปรึกษาในการที่ท่านจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าว หากท่านอยากทราบข้อมูลเบื้องต้นใดๆ เพิ่มเติม ติดต่อ BIC มาหลังไมค์ได้ ([email protected])

สุดท้ายนี้ ขอฝากไว้ว่า หากอยากให้การลงทุนมีความยั่งยืน ไม่ควรคิดที่จะใช้ “ทางลัด” หรือหลีกเลี่ยงกฎระเบียบใดๆ รวมถึงการใช้วีซ่าผิดประเภทให้พ่อครัวแม่ครัวไทยทำงาน

ไม่งั้นจะเข้าทำนอง เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย!!!

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน