เศรษฐกิจของนครเฉิงตูบรรลุ GDP ที่ ๑,๖๗๓.๔๒ พันล้านหยวนในช่วงสามไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๗
15 Nov 2024
สำนักงานสถิติแห่งนครเฉิงตูได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของนครเฉิงตูในช่วงสามไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๗ โดยอ้างอิงผลการคำนวณ GDP ตามระบบของมณฑลเสฉวน นครเฉิงตูบรรลุ GDP ทั้งหมด ๑,๖๗๓.๔๒ พันล้านหยวน (๒๓๔,๑๕๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๒ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๖ ในแง่ของประเภทอุตสาหกรรม[๑] มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมปฐมภูมิอยู่ที่ ๕๑.๓๑ พันล้านหยวน (๗,๑๖๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๓ มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมทุติยภูมิอยู่ที่ ๕๐๔.๓๗ พันล้านหยวน (๗๐,๔๕๙.๘๘๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๗ มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมตติยภูมิอยู่ที่ ๑.๑๑๗๗๔ พันล้านหยวน (๑๕๖,๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๕
การเกษตร: ผลผลิตทางการเกษตรโดยทั่วไปมีความเสถียร ในช่วงสามไตรมาสแรก ผลผลิตของ “ตะกร้าสินค้า – Shopping Basket”[๒] ยังคงการเติบโต โดยผลผลิตผลไม้ เห็ด และผักเพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๕, ๘.๒ และ ๒.๐ ตามลำดับเมื่อเทียบเป็นรายปี การเลี้ยงสุกรมีความเสถียร โดยมีการส่งสุกรออกสู่ตลาด ๒.๙๔๒ ล้านตัว และการผลิตเนื้อสุกร ๒๓๓,๐๐๐ ตัน
อุตสาหกรรม: ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงสามไตรมาสแรก มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมที่เกินขนาดที่กำหนดเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๑ เมื่อเทียบเป็นรายปี อุตสาหกรรมหลักมีบทบาทสำคัญในการเติบโต โดยในบรรดาอุตสาหกรรมหลักทั้ง ๓๗ ประเภท มี ๒๒ ประเภทที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ การผลิตสารเคมีร้อยละ ๑๗.๔ การผลิตอาหารร้อยละ ๑๐.๘ การผลิตและจ่ายไฟฟ้าร้อยละ ๙.๘ และการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติร้อยละ ๘.๔ การผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าเพิ่มของการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำนักงาน การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร และการผลิตยา เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒.๘, ๕.๒ และ ๔.๘ ตามลำดับ ผลผลิตของผลิตภัณฑ์ใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยผลผลิตของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและยานยนต์พลังงานใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒๓.๔ และ ๒๒.๒ ตามลำดับ
การบริการ: อุตสาหกรรมภาคบริการยังคงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ ในช่วงสามไตรมาสแรก มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมภาคบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๕ เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมีส่วนทำให้เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ ๗๐.๘ อุตสาหกรรมหลักเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าเพิ่มของการเช่าและบริการทางธุรกิจ ซอฟต์แวร์การส่งข้อมูลและบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ การขนส่ง คลังสินค้าและบริการไปรษณีย์ ตลอดจนที่พักและการจัดเลี้ยงเติบโตขึ้นร้อยละ ๒๐.๑ , ๑๒.๔, ๙.๓ และ ๕.๑ ตามลำดับ อุตสาหกรรมเกิดใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม รายได้จากการดำเนินงานของอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ที่เกินขนาดที่กำหนดและอุตสาหกรรมบริการเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์[๓] เพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๕ และ ๘.๐ ตามลำดับ
การบริโภค: ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วงสามไตรมาสแรก ยอดค้าปลีกรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ที่ ๗๔๒.๗๓ พันล้านหยวน (๑๐๓,๖๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๒ เมื่อเทียบเป็นรายปี แบ่งตามเขตพื้นที่ ยอดค้าปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภคในเมืองอยู่ที่ ๗๑๒.๓๘ พันล้านหยวน (๙๙,๕๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๑ ยอดขายปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภคในชนบทอยู่ที่ ๓๐.๓๕ พันล้านหยวน (๔,๒๔๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๑ ตามประเภทการบริโภคยอดขายปลีกอยู่ที่ ๕๙๘.๕๔ พันล้านหยวน (๘๓,๖๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๓ และรายได้จากการจัดเลี้ยงอยู่ที่ ๑๔๔.๑๙ พันล้านหยวน (๒๐,๑๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๓
การลงทุน: ด้านการลงทุนมีเสถียรภาพในขณะที่กำลังปรับปรุงคุณภาพ ในช่วงสามไตรมาสแรก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๓ เมื่อเทียบเป็นรายปี การลงทุนภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๐.๙ คิดเป็นร้อยละ ๘๗.๓ ของการเติบโตของการลงทุนทั้งหมด การลงทุนภาคเอกชนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนภาคเอกชนเติบโตร้อยละ ๘.๗ ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของการลงทุนทั้งหมดร้อยละ ๑.๔ การลงทุนในภาคเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยการลงทุนในด้านการผลิตที่มีเทคโนโลยีสูงและบริการที่มีเทคโนโลยีสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๘.๑ และร้อยละ ๑๕.๖ ตามลำดับ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๒.๙ โครงการสำคัญได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง และการลงทุนในโครงการที่มีแผนการลงทุนรวมมากกว่า ๑ หมื่นล้านหยวน (๑,๓๙๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘๙.๕
การค้าระหว่างประเทศ: การค้าระหว่างประเทศยังคงปรับตัวดีขึ้น ในช่วงสามไตรมาสแรก ปริมาณการนำเข้าและส่งออกการค้าต่างประเทศรวมอยู่ที่ ๖.๑๐๒๒ แสนล้านหยวน (๘๕,๒๖๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐.๙ เมื่อเทียบเป็นรายปี และมีอัตราการเติบโตสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๖ อยู่ที่ร้อยละ ๒๑.๓ มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ ๓๓๓.๒๗ พันล้านหยวน (๔๖,๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงร้อยละ ๑.๐ มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ ๒๗๖.๙๕ พันล้านหยวน (๓๘,๖๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๙.๘ โครงสร้างการค้ายังคงได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ ๘.๗ และสัดส่วนในการส่งออกทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๙ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๖ และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๘.๑ สัดส่วนการนำเข้าทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๙ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๖
ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากนครเฉิงตูในการสร้างเศรษฐกิจที่หลากหลายและยั่งยืน โดยเริ่มจากการส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เพิ่มผลผลิตพืชผักและเนื้อสัตว์เพื่อตอบสนองความต้องการภายในและส่งออก อีกทั้งควรขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลขั้นสูง เช่น การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือยานยนต์พลังงานใหม่ นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เช่น โครงสร้างดิจิทัลและพลังงานสะอาดจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีความทันสมัยมากขึ้น การส่งเสริมภาคบริการและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศจะเพิ่มโอกาสการจ้างงานและรายได้ให้ประชาชน นอกจากนี้ การพัฒนาการค้าระหว่างประเทศโดยขยายตลาดสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและสร้างความร่วมมือทางการค้าให้หลากหลายจะเพิ่มศักยภาพให้ไทยสามารถแข่งขันในระดับโลกได้
[๑] อุตสาหกรรมแบ่งออกเป็นสามประเภทหลัก ได้แก่:
– อุตสาหกรรมปฐมภูมิ (Primary Industry): เป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมมาใช้ประโยชน์โดยตรง เช่น การเกษตร การล่าสัตว์ การเก็บของป่า การทำป่าไม้ การทำเหมืองแร่ และการประมง
– อุตสาหกรรมทุติยภูมิ (Secondary Industry): เป็นการนำวัตถุดิบมาแปลงสภาพหรือแปรรูปด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นขั้นตอน ให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น กิจการอุตสาหกรรม หัตถกรรม การผลิตพลังงาน และการก่อสร้าง
– อุตสาหกรรมตติยภูมิ (Tertiary Industry): เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำผลผลิตหรือสินค้าที่ได้จากการผลิตในขั้นทุติยภูมิ มาแจกจ่ายหรือเคลื่อนย้ายไปยังแหล่งตลาดหรือผู้บริโภค เช่น การค้าส่ง การค้าปลีก การค้าภายในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การตลาด และการท่องเที่ยว
[๒] “ตะกร้าสินค้า – Shopping Basket” หรือ “菜篮子” (cài lán zi) ใช้ในเชิงเปรียบเทียบเพื่อหมายถึงการจัดหาอาหารที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ผัก เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม ในบริบทของนโยบายด้านการเกษตรของจีน “菜篮子工程” (โครงการตะกร้าสินค้า – Shopping Basket Program) หมายถึงโครงการที่มุ่งเน้นการเพิ่มการผลิตและการจัดหาอาหารสด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม
[๓] “อุตสาหกรรมบริการเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์” หมายถึง ภาคบริการที่พัฒนาขึ้นใหม่และมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างในตลาด อาทิ บริการดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
ที่มา: เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
๑. http://www.sc.news.cn/20241025/acfe61476acb488eb68d8cd3e3238944/c.html
๒. http://www.moa.gov.cn/ztzl/2012ldtj/sclt/201304/t20130412_3432706.htm
๓. https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/34771
๔. https://www.gov.cn/xinwen/2018-01/19/content_5258621.htm
ที่มารูปภาพ:
๑. 699pic.com