เวียดนามกินรวบ “การค้าผลไม้” กับกว่างซี

22 Aug 2013

หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ : ช่วง 7 เดือนแรกปี 56 ยอดการนำเข้าส่งออกผลไม้ของกว่างซีคิดเป็นน้ำหนักกว่า 5.14 แสนตัน มาเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากมณฑลกวางตุ้ง

การดำเนินนโยบาย ภาษีศูนย์ หลังการเปิด เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน(CAFTA) อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ปริมาณผลไม้จากต่างประเทศทะลักเข้าสู่กว่างซีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้ของกว่างซีให้ต้องเร่งปรับโครงสร้างเป็นการใหญ่เช่นกัน

สำนักงานศุลกากรนครหนานหนิง (Nanning Customs, 南宁海关) เปิดเผยข้อมูลว่า เดือน ม.ค.-ก.ค.ที่ผ่านมา มีปริมาณนำเข้าผลไม้ทั้งสิ้น 3.79 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ส่วนปริมาณส่งออกผลไม้มีทั้งสิ้น 1.35 แสนตัน

ผลไม้นำเข้าส่วนใหญ่เป็น ผลไม้เมืองร้อน จากอาเซียน การทะลักเข้าของผลไม้อาเซียนสร้างแรงกดดันให้กับผลไม้เมืองร้อนดั้งเดิมบางชนิดที่มีการปลูกอยู่ในกว่างซีอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะลิ้นจี่ และลำไย

กว่างซีจำเป็นต้องดำเนินยุทธศาสตร์การรับมือและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมผลไม้ของกว่างซี อาทิ การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ผลไม้ การส่งเสริมการปลูกผลไม้ท้องถิ่นที่ตนเองมีจุดเด่น และการหลีกเลี่ยงการปลูกผลไม้ที่ซ้ำซ้อนกับอาเซียน เป็นต้น

จากข้อมูลพบว่า ปีก่อน (ปี 55) การปลูกผลไม้ในกว่างซีได้ผลผลิตรวม 10.51 ล้านตัน ทำให้กว่างซีก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 5 มณฑลใหญ่ด้านการผลิตผลไม้(มากกว่า 10 ล้านตัน) ของประเทศเป็นครั้งแรก

แม้ว่าการผลิตผลไม้ท้องถิ่นของกว่างซีจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ทว่า สัดส่วนการส่งออกยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพราะหลังการเปิดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ผลไม้เขตอบอุ่นจากตอนเหนือของประเทศได้อาศัยกว่างซีเป็นช่องทางการส่งออก ซึ่งครองสัดส่วนสูงมาโดยตลอด

ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เฉพาะแอปเปิ้ลและสาลี่มียอดส่งออกกว่า 55,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40.9 ของผลไม้ส่งออกทั้งหมด

ทั้งนี้ ตลาดนำเข้าส่งออกผลไม้ของกว่างซีกระจุกตัวอยู่ที่ เวียดนาม มาเป็นเวลายาวนาน เพราะจากสถิติระหว่าง ปี 53-55 ปริมาณนำเข้าส่งออกผลไม้ของกว่างซีกับเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 99.3 , 98.7 และ 98.8 ของปริมาณการนำเข้าส่งออกผลไม้ทั้งหมด

ส่วนในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา การค้าผลไม้กับเวียดนามได้ขยายสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 99.4 สะท้อนให้เห็นว่าตลาดผลไม้ขาดความหลากหลาย ยังมีภาวะความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการค้าแบบคุ้มกันประเภทต่าง ๆ

นักวิชาการชี้ว่า กว่างซีจำเป็นต้องสร้างศูนย์กระจายผลไม้นานาชาติจีน-อาเซียน และนำนโยบายพิเศษเพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคธุรกิจการค้าผลไม้ โดยเฉพาะในรูปแบบการค้ามูลค่าต่ำตามแนวชายแดน (Petty Trade in Border Area)

การสร้างฐานอุตสาหกรรม การบ่มเพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพแข่งขัน การสร้างกว่างซีให้เป็นมณฑลใหญ่ด้านการค้าผลไม้ การบูรณาการระบบโครงสร้างพื้นฐานด่านชายแดน การลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งทางถนนและรถไฟ

การรักษาความได้เปรียบด้านช่องทางโลจิสติกส์ของด่านพรมแดนกว่างซี เพื่อดึงดูดให้ผู้ค้าผลไม้จากแหล่งต่าง ๆ ใช้กว่างซีเป็นช่องทางส่งออกผลไม้ไปยังอาเซียน เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยรวมให้กับด่านของกว่างซี

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน