เมื่อนานาประเทศชูกลยุทธ์ชิงนักท่องเที่ยวจีนกระเป๋าเงินหนา.. แล้วไทยจะยอมน้อยหน้าหรือ?
22 Feb 2013
ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวของจีนไม่ว่าจะเป็นตรุษจีน วันแรงงาน ไหว้พระจันทร์ หรือวันชาติ ชาวจีนหลายๆ คน ต่างวางแผนถึงช่วงเวลาแห่งความสุขของปีหลังจากทำงานเหนื่อยล้ามานาน กิจกรรมต่างๆ ที่สามารถแบ่งบันความสุขกับคนในครอบครัวเป็นสิ่งที่ชาวจีนทั้งหลายต่างรอคอย โดยกิจกรรมยอดฮิตและเป็นสิ่งมุ่งหวังอย่างหนึ่งของกลุ่มชาวจีนในปัจจุบัน คือ การไปเที่ยวต่างประเทศ!!
ด้วยเศรษฐกิจจีนที่เติบโตขึ้นอย่างดีในทุกปี ส่งผลให้ชาวจีนมีฐานะดีขึ้นตามลำดับ และมีกำลังทรัพย์เหลือล้นจนออกไปใช้จ่ายในต่างประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมาจะซบเซาลง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวจีนแล้วกลับไม่ได้ซบเซาตาม โดยข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ข่าวซินหัวเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2556 ระบุว่า เมื่อปี 2555 มีชาวจีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากกว่า 80 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 15 เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่นำหน้าเป็นอันดับ 1 ของนานาประเทศทั่วโลก โดยนักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายในต่างประเทศรวมมากถึง 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2 เท่าของรายได้ผลประกอบการทั้งปีของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ Exxon Mobil Corporation ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่มีรายได้สูงที่สุดในโลก!!
จากตัวเลขการใช้จ่ายมหาศาลที่ดูน่าดึงดูดไม่น้อย ส่งผลให้นานาประเทศทั่วโลกไม่ยอมมองข้ามนักท่องเที่ยวจีนกระเป๋าเงินหนาเหล่านี้ ต่างฝ่ายต่างพยายามควักกลยุทธ์ที่จะ “เอาใจ” ให้นักท่องเที่ยวจีนไปละลายทรัพย์ในประเทศของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความสะดวกสบาย ใช้ความหรูหรา ใช้วัฒนธรรมจีน หรือแม้กระทั่งใช้หลักความเชื่อและหลักฮวงจุ้ยของจีน!! ก็มีให้เห็นเช่นกัน ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนประจำนครเซี่ยงไฮ้ขอนำพาให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับกลยุทธ์ทีเด็ด “มัดใจ” นักท่องเที่ยวจีนของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผ่านบทความที่มีชื่อว่า “เมื่อนานาประเทศชูกลยุทธ์ชิงนักท่องเที่ยวจีนกระเป๋าเงินหนา.. แล้วไทยจะยอมน้อยหน้าหรือ?” ไม่แน่ว่ากลยุทธ์บางส่วนนี้จะเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
อังกฤษ : “โจ๊ก + เลข 4.. สิ่งสำคัญที่ไม่ใช่เรื่องโจ๊ก”
จากสถิติช่วงระหว่างปี 2554-2555 พบว่า มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าอังกฤษเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 150,000 คน ส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายของชาวจีนในอังกฤษในปี 2554 เพิ่มขึ้น 300 ล้านยูโร หรือเฉลี่ย 1,600 ยูโรต่อคนต่อวัน ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินมากเป็น 3 เท่าของนักท่องเที่ยวทั่วไป
ลูกค้าชั้นดีในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ใครละจะไม่อยากสนใจ ขนาดโรงแรมชั้นนำกลางกรุงลอนดอนถึงกับควักทีเด็ดเลือกเมนูบุฟเฟต์อาหารเช้าด้วยโจ๊กและติ่มซำ เพื่อลูกค้ากระเป๋าหนักจากฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้เป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ ผู้จัดการโรงแรม Landmark สาขาหนึ่งในอังกฤษเล่าว่า “ลูกค้าชาวจีนมีความเชื่อเรื่องโชคลาง ดังนั้นการจัดห้องพักสำหรับชาวจีนต้องระวังเป็นพิเศษ โดยห้ามอยู่ชั้น 4 หรือห้องพักมีเลข 4 เนื่องจากพ้องกับคำไม่เป็นมงคลในภาษาจีน” ขณะเดียวกัน ห้างสรรพสินค้าหรูและร้านค้าต่างๆ ในอังกฤษยังใช้พนักงานขายสินค้าที่พูดภาษาจีนได้ และมีระบบการจ่ายเงินที่ออกแบบสำหรับบัตรเครดิตและบัตรเดบิตจากจีน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวจีนเป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษเองซึ่งมีความเข้มงวดอย่างมากในกฎระเบียบและเงื่อนไขการขอวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติ
ที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศ ก็ได้มีมาตรการผ่อนปรนสำหรับวีซ่าท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปอังกฤษมากขึ้น โดยตั้งเป้าต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนให้ได้มากขึ้น 380,000 คนภายในปี 2563 นี้อีกด้วย
ออสเตรเลีย : “ความหรู + วัฒนธรรมจีนเท่านั้น.. ที่ท่าน (ลูกค้าจีน) ไม่อาจปฏิเสธ!!”
จากผลสำรวจของหน่วยงานส่งเสริมการทารท่องเที่ยวของออสเตรเลีย Tourism Australia พบว่า นักท่องเที่ยวจีนติดกลุ่ม 1 ใน 5 ของนักท่องเที่ยวในออสเตรเลียที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันมากที่สุด รัฐบาลออสเตรเลียจึงตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้ได้สูงถึงปีละ 860,000 คนภายในปี 2563 และวางกลยุทธ์สำหรับดึงดูดเงินในกระเป๋าของนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ
กลยุทธ์ใหม่ที่ออสเตรเลียใช้ คือ ชูจุดขายการเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดหรูสำหรับเศรษฐีจีน โดยมีทั้งร้านค้าหรู โรงแรม ระดับ 5 – 6 ดาว และภัตตาคารมีระดับ ซึ่งล้วนจัดโปรแกรมแพคเกจทัวร์หรูหราสำหรับให้เศรษฐีจีนเปลี่ยนบรรยากาศออกไปช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม ลิ้มรสอาหารอร่อย พร้อมทั้งละลายทรัยพ์ไปกับการเล่นการพนัน เป็นต้น ทั้งนี้ หน่วยงาน Tourism Australia ยังได้กระตุ้นให้มี การขยายการจัดแพคเกจท่องเที่ยวสุดหรูดังกล่าวไปยังเมืองต่างๆ ในออสเตรเลียกว่า 30 แห่งภายในปี 2563 อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ ภาคธุรกิจในออสเตรเลียยังตื่นตัวกับการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่น้อย จะเห็นได้จากโรงแรมหลายแห่งให้ความสำคัญกับการตกแต่งโดยยึดหลักฮวงจุ้ย เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาพักจะได้รู้สึกถึงความสมดุล อีกทั้งในโรงแรมต่างๆ ก็ได้เพิ่มช่องทีวีภาษาจีนกลาง/จีนกวางตุ้งอีกด้วย นอกจากนี้ แหล่งการพนัน Crown Casino ในเมืองเพริ์ธและเมลเบริ์นของออสเตรเลียก็ได้มีการตกแต่งสถานที่ให้เข้ากับช่วงตรุษจีนด้วยการปูพรมแดงแขวนโคมไฟการแสดงระบำจีน เพื่อให้บรรยากาศดูอบอุ่นคล้ายกับมาเก๊าและฮ่องกงสำหรับเอาใจนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นพิเศษ
สหรัฐอเมริกา : “จีนสู่จีน กินของจีน ใช้คนจีนพาคนจีนเที่ยว”
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ออกมาประกาศยอมรับตั้งแต่ต้นปี 2555 ว่า สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีฐานะจากกลุ่มประเทศ BRIC โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อนั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐและช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชน
โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ขอวีซ่ายากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยต้องมีการนัดสัมภาษณ์ และยื่นเอกสารต่างๆ มากมาย ได้มีนโยบายผ่อนปรนด้านวีซ่าท่องเที่ยวเพื่อลดอุปสรรคการเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา
ไม่เพียงเท่านั้น หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นของสหรัฐ เช่น สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของแคลิฟอร์เนีย ก็ยังได้ส่งเสริมโปรแกรมการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยเฉพาะ โดยมีการจัดทำข้อมูลด้านการท่องเที่ยวฉบับภาษาจีน การจ้างบุคลากรชาวจีนทำงานในหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นของสหรัฐโดยเฉพาะ เพื่อดึงดูดชาวจีนให้เดินทางไปสหรัฐอเมริกามากขึ้น เป็นต้น
สำหรับในภาคธุรกิจนั้น โรงแรมชั้นนำหลายแห่งมีการจัดเมนูอาหารเช้าสไตล์จีน เช่น ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ ข้าวต้ม ซึ่งเป็นอาหารโปรดของชาวจีน รวมถึงหลายสถานที่ท่องเที่ยวมีการจัดกิจกรรมฉลองตรุษจีนสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ แหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากยกระดับคุณภาพด้านบริการด้วยการเพิ่มจำนวนไกด์ที่พูดภาษาจีนได้ และมีการตกแต่งด้วยเครื่องหมายสัญลักษณ์ของจีน เป็นต้น
สิงค์โปร์ : “บอกต่อเรื่องง่ายๆ.. สะดวกสบายเที่ยวได้ด้วยตัวเอง”
สิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้การท่องเที่ยวและการบริการเพื่อดึงดูดรายได้เข้าประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ปัจจุบันมีศักยภาพในการเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศค่อนข้างมาก
ล่าสุด Singapore Tourism Board (STB) ได้ออกแคมเปญการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนผ่านสื่อออนไลน์ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักในปักกิ่ง และใช้เครื่องมือในการส่งเสริมการตลาดที่มุ่งไปยังผู้กลุ่มเป้าหมายโดย
ไม่ผ่านสื่อโฆษณา หรือที่รู้จักกันดีกว่า “Below-the-line” โดยเน้นการบอกต่อ พร้อมอัดแคมเปญประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวสิงค์โปร์ที่สื่อให้เห็นว่า เที่ยวสิงคโปร์เป็นเรื่องง่ายๆ สามารถเที่ยวได้ด้วยตัวเอง เพื่อเน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระที่ไม่ใช่แบบกรุ๊ปทัวร์เป็นการเฉพาะ โดยมีความสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของสิงค์โปร์ในสายตาคนจีนว่าเป็นประเทศของคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งมีวัฒนธรรมทางภาษาที่สื่อสารด้วยภาษาจีนกลางเหมือนกัน และ
มีระยะทางไม่ไกลจากจีน
ทั้งนี้ ผู้บริหาร Singapore Tourism Board หวังว่า จุดยืนด้านความง่ายและสะดวกสบายนี้จะช่วยสร้างความถี่ในการท่องเที่ยวสิงคโปร์ของชาวจีนได้เป็นอย่างดี แม้ว่าสิงค์โปรอาจจะไม่มีธรรมชาติที่สวยงาม แต่ก็มีจุดขายด้านการเป็นเมืองแห่งความทันสมัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และสินค้าหรู ซึ่งล้วนเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนได้เช่นกัน
แคนาดา : “สื่อสารเจาะใจ.. ใช้ระบบออนไลน์โฆษณา”
ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปเที่ยวแคนาดาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ส่งผลให้ Canadian Tourism Commission (CTC) คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะช่วยสร้างรายได้ให้แคนาดารวมกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2558 CTC จึงได้ออกแคมเปญการตลาด “Say Hello to Canada” เพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนที่มีฐานะและการศึกษาดี ซึ่งมีอายุระหว่าง 25-34 ปีโดยตรง โดยใช้สื่อโฆษณาออนไลน์ในการโปรโมทด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ขณะเดียวกัน ทางการแคนาดายังได้สร้างแคมเปญสื่อสารการตลาดเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ พร้อมทั้งทำการศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนเชิงลึก (เน้นเรียนรู้ความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวจีน) และดึงจุดแข็งที่โดดเด่นในด้านความสวยงามทางธรรมชาติเป็นปัจจัยยังดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยให้ความสำคัญกับมาตรการผ่อนปรนด้านวีซ่ากับนักท่องเที่ยวจีนให้มีความง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นด้วย
ศรีลังกา : “เครือข่ายสังคมออนไลน์.. สื่อสารง่ายๆ แต่ได้ผลดี”
ถึงแม้ศรีลังกาจะเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศในปี 2554 เพียง 750,000 กว่าคน โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนร้อยละ 16 แต่ด้วยกำลังการใช้จ่ายต่อคนต่อวันที่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงทำให้ทางการศรีลังกาให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวจีนมากเป็นพิเศษ
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนที่ไปเที่ยวศรีลังกาส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีฐานะปานกลาง และเริ่มมีจำนวนมากขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ดังนั้นกลยุทธ์ที่ศรีลังกาใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนในช่วงเวลานี้ คือ การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน เช่น “เหรินเหริน(人人)” และ “เวยป๋อ(微博)” เพื่อเร่งโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็น
ที่รู้จักในหมู่คนจีนมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าศรีลังกาเองอาจจะไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตติดอันดับความสนใจของชาวจีน แต่ศรีลังกาก็หวังใช้โอกาสที่ชาวจีนจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นนี้ พัฒนาตัวเองเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้นักท่องเที่ยวจีนที่มีความสนใจประวัติศาสตร์และสัมผัสกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง
นานาประเทศล้วนเอาใจ (จีน)… เมืองไทยก็ไม่น้อยหน้า!!
จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า เมื่อปี 2555 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยรวม 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 (ประมาณ 1.7 ล้านคน) กว่าร้อยละ 62 และสายการบินต่างๆ ได้เปิดบริการเส้นทางบินจากจีนไปไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบินประจำหรือเที่ยวบินเช่าเหมาลำ โดยในส่วนของนครเซี่ยงไฮ้มีเที่ยวบินตรงเข้ากรุงเทพฯ ถึงวันละประมาณ 10 เที่ยวบิน นอกจากนี้ เพียงแค่เริ่มปี 2556 ก็มีปริมาณการของวีซ่าของ
ชาวจีนเพื่อไปท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจากสถิติของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ เพียงแห่งเดียวพบว่า มีการยื่นขอรับวีซ่าเฉลี่ยถึงวันละ 6,500 ราย โดยในบางวันมีมากถึง 9,000 ราย!! สะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจีนมีความสนใจเดินทางมาประเทศไทยอย่างมาก และเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของไทยไม่เคยมองข้าม!!
เป็นที่น่ายินดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนไทยได้ตระหนักถึงแนวโน้มและศักยภาพของนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยหน่วยราชการไทยต่างๆ ในจีนได้ร่วมกันสร้างกระแสความนิยมไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้วัฒนธรรมและส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงไทยเพื่อสร้างความชื่นชอบประเทศไทยในหมู่ชาวจีน และการร่วมมือกับบริษัทท่องเที่ยวจีนเพื่อกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวไทย ส่วนหน่วยงานในประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า โดยล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้มีโครงการ “ดาราไทยพาจีนเที่ยวไทย” ซึ่งเป็นรายการเรียลริตี้โชว์ที่จะนำพาผู้เข้าแข่งขันชาวจีนไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของไทย โดยในครั้งนี้ได้เลือกจังหวัดอุทัยธานี เพื่อแนะนำให้ชาวจีนรู้จัก และลดความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวดั่งเดิมของไทยที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว
สำหรับภาคเอกชนไทย ต่างก็เร่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมด้านภาษาจีน เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ส่วนห้างสรรพสินค้าและโรงแรมชั้นนำก็ได้เพิ่มบริการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต/เดบิตแบบ UnionPay ของจีน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มลูกค้าชาวจีนโดยเฉพาะ อีกทั้งในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายแห่งในไทยก็ได้มีการประดับตกแต่งในบรรยายกาศแบบจีนด้วยโคมไฟแดงเพื่อฉลองตรุษจีนด้วย และอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจ คือ การวางแผนก่อสร้างศูนย์การค้าหรู “Central Embassy” ณ ใจกลางกรุงเทพฯ ของเครือเซ็นทรัล ด้วยงบลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท โดยหวังเจาะลูกค้ากลุ่มกระเป๋าหนักในจีนเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะมีบริการพิเศษด้วยภาษาจีนสำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมาช้อปปิ้งอีกด้วย
รักษาลูกค้าตลาดกลาง.. ขยายช่องทางลูกค้าตลาดบน (high-end)
ปัจจุบัน กลุ่มชาวจีนระดับกลางถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของประเทศไทย ซึ่งประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียและกลุ่มประเทศที่ต้องการส่งเสริมให้ตนเองเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่สำหรับชาวจีน อย่างศรีลังกาในตัวอย่างข้างต้น ต่างก็ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้อัตราการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มนี้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น การรักษาและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนระดับกลางจึงมิใช่แค่เรื่องกล้วยๆ โดยประเทศไทย
ไม่ควรแค่ตั้งรับ แต่ต้องใช้มาตรการเชิงรุก เพื่อสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่ดี พัฒนาสถานที่และบริการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและประทับใจชาวจีน เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กลับมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยซ้ำอีก
ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวจีนตลาดบน (high-end) ที่มีกำลังทรัพย์สูง ก็เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่ไทยไม่ควรมองข้าม เนื่องจากข้อมูลข้างต้นได้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ที่ปกติมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวแต่ละครั้งค่อนข้างสูง ต่างก็ล้วนให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน high-end ส่วนจีนเองก็ได้พยายามยกระดับแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศของตนเองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนระดับ high-end เช่นกัน โดยเฉพาะเมืองซานย่าของเกาะไหหลำ ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศชายทะเลชื่อดังและเป็นเมืองแหล่งช้อปปิ้งปลอดภาษีแห่งแรกของจีน โดยแม้ว่าราคาห้องพักและค่าบริการต่างๆ ที่เมืองซานย่าจะแพงลิ่ว แต่ชาวจีนก็ไม่หวั่น ยังเดินทางไปท่องเที่ยวและพักผ่อนกันอย่างเนืองแน่น ดังนั้น ไทยซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม รีสอร์ทหรูติดอันดับโลก และแหล่งช้อปปิ้งมากมาย ก็สามารถเร่งสร้างภาพลักษณ์ความเป็น high-end ให้ชาวจีนผู้มีกำลังซื้อได้รู้จัก นอกเหนือจากภาพลักษณ์การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คุ้มค่าในเชิงราคาซึ่งใช้ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลาง และใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักของจีน อย่างเช่นที่หลายประเทศได้นำมาใช้เช่นกัน
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนประจำนครเซี่ยงไฮ้เห็นว่า อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ปัจจุบันประเทศไทยค่อนข้างมีศักยภาพ คือ การใช้สื่อบันเทิง (ภาพยนตร์/ละคร) ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน เนื่องจากในปัจจุบันกระแสความนิยมสื่อบันเทิงไทยในจีนกำลังมาแรง โดยจากการที่ศูนย์ฯ ได้สอบถามชาวจีนจำนวนไม่น้อย พบว่า ชาวจีนมีความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย เนื่องจากชื่นชอบนักแสดงของไทย นอกจากนี้ การส่งเสริมความปลอดภัยในการท่องเที่ยว การจัดทำคู่มือท่องเที่ยวในลักษณะข้อควรปฏิบัติ-ข้อควรระวังสำหรับชาวจีน ตลอดจนการพัฒนาการท่องเที่ยวให้ชาวจีนสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยได้เอง ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่สามารถช่วยดึงดูดและส่งเสริมนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีคุณภาพ ให้มาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยได้
ด้วยเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวสวยงาม รอยยิ้มและความจริงใจของคนไทย ล้วนเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากทั่วโลกให้มาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยในแต่ละปี ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนประจำนครเซี่ยงไฮ้จึงเชื่อมั่นว่า หากไทยใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมและดำเนินการในเชิงรุกอย่างจริงจังแล้ว ประเทศไทยจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวจีนอีกจำนวนมากอยากมาสัมผัส และกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้งอย่างต่อเนื่องแน่นอน
———————————————
จัดทำโดย น.ส. เทพรัตน์ ตันติกัลยาภรณ์ และนายโอภาส เหลืองดาวเรือง
เรียบเรียงโดย นางนาฏพร นิติมนตรี
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้
แหล่งข้อมูล : นสพ. HindstantTimes.com, Defence.pk, Holidayhometimes.com ,Time.com และเว็บไซต์สำนักข่าวซินหัว