เมืองฝางเฉิงก่างของกว่างซีปรับโมเดล “เมืองท่า” สู่ “ฐานอุตสาหกรรม(หนัก)”

12 Dec 2013

หนังสือพิมพ์ฝางเฉิงก่างเดลี่ : ท่าเรือของเมืองฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang City, 防城港市) กำลังปฏิรูปทิศทางการพัฒนาตนเองจากการเป็นเพียง ท่าเรือขนาดใหญ่ สู่การเป็น ฐานอุตสาหกรรมสมัยใหม่เลียบชายฝั่งทะเล

ท่าเรือของเมืองฝางเฉิงก่าง เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน และมีบทบาทสำคัญในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (นอกเหนือจากท่าเรือของเมืองชินโจวและเมืองเป๋ยไห่)

สินค้าที่มีการนำเข้าส่งออกผ่านท่าเรือฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเทกอง (Bulk) โดยเฉพาะสินค้าเชิงทรัพยากร อาทิ สินแร่ต่าง ๆ และผลิตผลพลอยได้ทางการเกษตรต่าง ๆ

จากข้อมูล ช่วง 11 เดือนแรก ปี 56 ท่าเรือฯ มีการขนถ่ายตู้สินค้ามากกว่า 2.7 แสนตู้ สร้างสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์การเปิดใช้ท่าเรือ

ปัจจุบัน ท่าเรือแห่งนี้นอกจากจะเป็น ฐานสำรองการนำเข้าถ่านหิน ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศแล้ว ยังเป็น ฐานการแปรรูปพืชเมล็ดน้ำมัน (Oilseed) และ ฐานการแปรรูปกรดฟอสฟอริกเพื่อการส่งออก ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอีกด้วย

นายหลิว เจิ้ง ตง (Liu Zheng Dong, 刘正东) เลขาธิการพรรคฯ ประจำเมืองฝางเฉิงก่าง ให้ข้อมูลว่า เมืองฝางเฉิงก่างพร้อมสนับสนุนการลงทุนสำหรับวิสาหกิจ ทั้งในด้านการบริการที่ครบครัน การลงทุนที่มีต้นทุนต่ำ และระบบโลจิสติกส์ที่มีหลักประกันสูง เพื่อดึงดูดโครงการลงทุนภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในเขตท่าเรือ

อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสหากรรมเหล็กกล้า อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมจากป่าไม้ อุตสาหกรรมยารักษาโรค และอุตสาหกรรมโลหะนอกกลุ่มเหล็ก

แนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของเมืองฝางเฉิงก่างเน้นการผลิตเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน ประหยัดพลังงาน มีมลพิษต่ำ และสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจได้สูง

จากสถิติ ปี 55 ดัชนีรวมผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีสูงถึง 617.6 เปอร์เซนต์ นำเป็นอันดับหนึ่งของกว่างซีติดต่อกัน 6 ปี ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ดัชนีดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 659.61 เปอร์เซนต์ นำเป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่อง

นายหลิวฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ลำดับต่อไป เมืองฝางเฉิงก่างจะเร่งยกระดับอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประเภทส่งเสริมที่มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 1 แสนล้านหยวน จำนวน 14 ประเภท[*] พร้อมทั้งสร้างนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน

 



คำอธิบายเพิ่มเติม

ทางการกว่างซีได้กำหนดยุทธศาตร์การพัฒนาภาคอุตสหากรรม ภายใต้รหัส “14+10ซึ่งหมายถึง สาขาอุตสาหกรรมที่ทางการกว่างซีเห็นว่า มีศักยภาพภาพ เนื่องจากจะช่วยทำให้กว่างซีมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น พื้นฐานอุตสาหกรรม ความได้เปรียบเชิงทรัพยากร นโยบายพิเศษของรัฐบาลกลางที่ให้กับภาคตะวันตกของจีน และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยตัวอุตสาหกรรมเอง

ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ อุตสาหกรรมจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ อุตสาหกรรม (ดั้งเดิม) 14 สาขา ที่ปัจจุบัน หลายสาขามีมูลค่าการผลิตเกินแสนล้านหยวนแล้ว และประเภทที่สอง คือ อุตสาหกรรมเกิดใหม่ 10 สาขา ที่ทางการตั้งเป้าว่าจะผลักดันให้มีมูลค่าการผลิตเกิน 1 แสนล้านหยวนให้ได้

อุตสาหกรรมดั้งเดิม 14 ประเภท

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใหม่

(Emerging Industry) 10 ประเภท

(1) อุตสาหกรรมอาหาร

(2) อุตสาหกรรมยานยนต์

(3) อุตสาหกรรมปิโตรเลียม

(4) อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า

(5) อุตสาหกรรมโลหะมีสี

(6) อุตสาหกรรมถลุงโลหะ

(7) อุตสาหกรรมเครื่องจักร

(8) อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง

(9) อุตสาหกรรมผลิตกระดาษและแปรรูปวัสดุไม้

(10) อุตสาหกรรมสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์

(11) อุตสาหกรรมเภสัชกรรม

(12) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องหนัง

(13) อุตสาหกรรมชีวภาพ

(14) อุตสาหกรรมต่อ/ซ่อมแซมเรือและเครื่องกลวิศวกรรมหาสมุทร

(1) อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุทางเลือก

(2) อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก

(3) อุตสาหกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานและรักษ์สิ่งแวดล้อม

(4) อุตสาหกรรมมหาสมุทร

(5) อุตสาหกรรมยาชีวภาพ

(6) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่

(7) อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานทางเลือก

(8) อุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพ

(9) อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรสมัยใหม่

(10) อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ

 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน