เมืองฝอซานพร้อมก้าวสู่การเป็นแหล่ง “ห่วงโซ่อุตสาหกรรม” เต็มรูปแบบ
6 Jan 2014การแข่งขันของภาคการผลิตทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ขณะที่บริษัทเอกชนต่างงัดเอากลยุทธ์ในการค้นคว้าวิจัยด้านนวัตกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาสู้กัน ภาครัฐในระดับเมืองของจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อแรงกดดันต่อภาคการผลิตในเวทีการค้าโลก ยกตัวอย่างเมืองฝอซานหนึ่งในเมืองแห่งอุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลกวางตุ้งก็ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะการแข่งขันดังกล่าว รัฐบาลท้องถิ่นได้เริ่มดำเนินยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมืองฝอซานเป็นแหล่ง “ห่วงโซ่อุตสาหกรรม” เต็มรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2556ทำให้เมืองฝอซานเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำหรับผู้ที่กำลังมองหาแหล่งเพื่อลงทุนในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงในจีน
ยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมได้รับการบรรจุไว้ในแผนการส่งเสริมและพัฒนาการลงทุนของเมืองฝอซาน มีระยะเวลา 3 ปี (2556-2558) โดยมุ่งให้ฝอซานกลายเป็นศูนย์กลางภาคการผลิตที่สำคัญของมณฑลกวางตุ้งและจีนตอนใต้ แผนยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมของเมืองฝอซานครอบคลุมอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นหลายในเวทีโลก อาทิ สารสนเทศยุคใหม่ พลังงานใหม่ ยาชีวภาพการผลิตสารกึ่งตัวนำของหลอดไฟ การผลิตจอแบน การผลิตโทรศัพท์มือถือ เครื่องมือที่ใช้ในภาคการผลิต รวมถึงเครื่องใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุใหม่ แผนดังกล่าวได้ดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ซึ่ง 23 โครงการได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในปี 2556 อีก 71 โครงการเพิ่งจะมีการเซ็นสัญญาและพร้อมที่จะดำเนินโครงการ ขณะที่อีก 97 โครงการกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นโครงการที่ดำเนินกิจการโดยชาวต่างชาติถึง 31 โครงการ แต่ละโครงการมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ยาชีวภาพ วัสดุใหม่ อาหารและเครื่องดื่ม
ยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมที่ดำเนินควบคู่ไปกับโครงการขยายพื้นที่เขตธุรกิจการค้าและเขตอุตสาหกรรมทำให้เมืองฝอซานกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่น่าลงทุนที่สุดในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง เมืองฝอซานได้ก่อสร้างโครงการเขตอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงเมืองฝอซาน (Foshan High-Tech Industries Development Zone)มีขอบเขตของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานใหม่ วัสดุและอุปกรณ์ขั้นสูง วัสดุใหม่รวมถึงยานยนต์ โดยรัฐบาลฝอซานมุ่งหวังให้เขตนี้เป็นเขตมหาอำนาจด้านนวัตกรรมในอนาคต
นอกเหนือจากเขตพัฒนาที่เน้นในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว ฝอซานก็ยังมีเขตพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ กว่า 20 โครงการอาทิ เขตบริการเทคโนโลยีขั้นสูงกวางตุ้ง(Foshan High-tech Industrial Development Zone) เขตบริการสถาบันทางการเงิน(Guangdong High Tech Service Zone for Financial Institutions) เขตอุตสาหกรรมการบริการจีน-เยอรมนี (Foshan Sino-German Industrial Services Zone)รวมถึงเขตอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ตามเขตต่าง ๆ เช่นเขตชานเฉิง เขตหนานไห่เขตซุ่นเต๋อ เขตซานสุ่ย และเขตเกาหมิง เป็นต้น นอกเหนือจากความพร้อมทางด้านพื้นที่การลงทุนแล้ว เมืองฝอซานยังตั้งอยู่ในทำเลที่สามารถเชื่อมต่อกับการคมนาคมขนส่งของนครกว่างโจว ฮ่องกง และมาเก๊าได้โดยสะดวกและหลากหลายทั้งทางเรือ รถไฟ สนามบินนานาชาติ และรถไฟฟ้าระหว่างเมือง
ขณะที่เมืองฝอซานเน้นการเตรียมความพร้อมในพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวของห่วงโซ่การผลิตอย่างเต็มรูปแบบบนพื้นฐานของความเชื่อมโยงกับเมืองข้างเคียงที่มีอยู่เพียบพร้อมแล้ว ประเทศไทยเลือกเดินบนเส้นทางที่ต่างออกไปโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นลำดับต้น หนึ่งในแผนงานเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทยคือ การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกแผนเตรียมพร้อมเพื่อรองรับจุดมุ่งหมายดังกล่าวทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพโลจิสติกส์ในภาคการผลิตการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศและโทรคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อการเชื่อมโยงโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียนห่วงโซ่การผลิตของหลายสาขาอุตสาหกรรมในไทย ในอนาคตจึงอาจไม่ได้เริ่มตั้งแต่ต้นจนจบเบ็ดเสร็จอย่างเช่นเมืองฝอซาน แต่เชื่อว่า ความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนตามแผนที่วางเอาไว้น่าจะทำให้ห่วงโซ่การผลิตภายในภูมิภาคอาเซียนหมุนไปอย่างไม่มีสะดุด
อย่างไรก็ดี การพัฒนาความเชื่อมโยงดังกล่าวคงยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง หากท่านใดอดใจรอไม่ไหว อาจพิจารณาเลือกไปลงหลักปักฐานการผลิตในแหล่ง “ห่วงโซ่อุตสาหกรรม” เต็มรูปแบบอย่างเมืองฝอซาน
จัดทำ: นายสรศักดิ์ บุญรอด
เรียบเรียง: นางสาวรัชดา สุเทพากุล
แหล่งข้อมูล: นสพ. China Daily ฉบับวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2556 และเว็บไซต์ http://www.chinadaily.com.cn