เมืองฉงจั่วของกว่างซี ย้ำจุดยืน “เปิดประตูสู่อาเซียน”
25 Feb 2014สำนักข่าวซินหัวเขตฯ กว่างซีจ้วง : ทางการเมืองฉงจั่วจัดประชุมการทำงานประจำปี เพื่อวางแนวปฏิบัติสำหรับทุกภาคส่วน ซึ่งยังคงเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) กับอาเซียน
เมืองฉงจั่ว (Chongzuo City, 崇左市) เป็นเมืองชายแดนสำคัญที่เชื่อมต่อจีน(กว่างซี)กับเวียดนาม รวมทั้งสามารถเชื่อมกับประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ได้ผ่านเส้นทางอาร์ต่าง ๆ (R8 R9 และ R12)
สาระสำคัญในการประชุมผู้แทนสภาประชาชนเมืองฉงจั่ว สมัยที่ 3 ครั้งที่ 5 มีดังนี้
นายหวาง เค่อ (Huang Ke, 黄克) เลขาธิการพรรคฯ ประจำเมืองฉงจั่ว ให้ข้อมูลว่า ปีที่ผ่านมา (ปี56) จีนและเวียดนามได้ดำเนินความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดนร่วมกัน โดยมีรถบรรทุกสินค้าและผู้โดยสารที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว 45 คัน (ฝั่งจีน 26 คัน และฝั่งเวียดนาม 19 คัน)
นอกจากนี้ ทางหลวงพิเศษเชื่อมระหว่างเมืองฉงจั่วกับเมืองชินโจว (เมืองท่าสำคัญรอบอ่าวเป่ยปู้) ก็เปิดใช้บริการแล้ว (กำลังสร้างทางหลวงพิเศษเชื่อมพื้นที่ชายแดนเมืองไป่เซ่อ) ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานบริเวณด่านพรมแดน 7 แห่ง และจุดผ่อนปรนตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดน 14 แห่งของเมืองก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ในปีนี้ (ปี 57) เมืองฉงจั่วมุ่งเป้าพัฒนาระบบโลจิสติกส์เชื่อมกับอาเซียน ผลักดันการดำเนินความตกลงด้านการขนส่งแบบรอบด้านระหว่างจีนกับเวียดนาม (โดยเฉพาะรถบรรทุกสินค้าและผู้โดยสาร) รวมทั้งการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกบนเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศ
การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการขยายขอบเขตการดำเนินงานเปิดสู่ภายนอกของด่านพรมแดน (เขตสาธิตการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอก พื้นที่เขตสาธิตการค้าเสรีบนเส้นแนวพรมแดน) และการพัฒนางานท่องเที่ยววัฒนธรรมและการสร้างศูนย์การค้าตลาดชาวชายแดน (Border Trade Center for Inhabitants in Border Area, 边民互市贸易中心) ในเขตการค้าชายแดนผู่จ้าย
นายซุน ต้า กวาง (Sun Da Guang, 孙大光) นายกเทศมนตรีเมืองฉงจั่ว กล่าวว่า เมืองฉงจั่วจะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากจุดแข็งด้านเส้นทางบกเชื่อมจีนกับอาเซียน รวมทั้งโอกาสจากกลไกความร่วมมือเปิดสู่ภายนอกระหว่างจีนกับเวียดนาม (เขตความร่วมมือระหว่างสองประเทศ) และนโยบายส่งเสริมพิเศษต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความเจริญให้กับเมืองฉงจั่วและการค้าชายแดน
ตามรายงาน ปี 56 เมืองฉงจั่วมีมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งสิ้น 10,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 44.1 นำโด่งเป็นอันดับหนึ่ง (จากทั้งหมด 14 เมือง) ของเขตฯ กว่างซีจ้วง 5 ปีติดต่อกัน (มูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับหนึ่งของกว่งซี 7 ปีติดต่อกัน) และเป็นเมืองแรกของกว่างซีที่มูลค่าการค้าต่างประเทศทะลุหลักหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
BIC ขอแสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความตกลงด้านการขนส่งระหว่างจีนกับเวียดนามของผู้ประกอบการไทย
กล่าวคือ สถานการณ์ปัจจุบัน จากบริบทที่ความตกลง CBTA ภายใต้กรอบ GMS ขาดความชัดเจนในทางปฏิบัติ กอปรกับความตกลงฯ ระหว่างจีนและเวียดนามมีผลในทางปฏิบัติแล้วนั้น ประเทศไทยอาจใช้ประโยชน์จาก “เวียดนาม” ในด้านการขนส่งสินค้า เนื่องจากรถบรรทุกเวียดนาม(ที่มีใบอนุญาต) สามารถวิ่งสัญจรเข้าประเทศลาวและจีนได้แล้ว
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– กว่างซีปฏิรูปกรอบเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ ดึง 2 เมืองเสริมทัพเศรษฐกิจ (14 ก.พ. 2557)
– กว่างซีมุ่งสร้าง “ความเชื่อมโยง” เร่งบูรณาการโครงข่ายทางบกเชื่อมอาเซียน (14 ก.พ. 2557)
– ธุรกิจไทยได้หรือเสีย?? กว่างซี-เวียดนามรวมพลังขับเคลื่อนความร่วมมือ “ชายแดน” แบบรอบด้าน (26 ธ.ค. 2556)
– กว่างซีตามรอยเซี่ยงไฮ้ แย้มแผนจัดตั้ง “เขตการค้าเสรี” (FTZ) บนเส้นแนวชายแดน (18 ธ.ค. 2556)