เทคนิคปลูก ‘แก้วมังกร’ ของกว่างซี ให้ผลผลิตสูง ทำเงินตลอดปี
30 Jun 2017บริษัทท้องถิ่นรายหนึ่งในนครหนานหนิงนำเทคนิค ‘ชดเชยแสง(แดด)’ มาใช้สำหรับการปลูกแก้วมังกร ซึ่งช่วยให้แก้วมังกรมีอัตราการติดดอกออกผลที่สูง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วขึ้น ผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น และเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น
รัฐบาลกว่างซีกำหนดให้ ‘แก้วมังกร‘ เป็นหนึ่งในผลไม้สำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 (ระหว่างปี 2559-2563) ปัจจุบัน กว่างซีเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกแก้วมังกรมากที่สุดของประเทศจีน ประมาณ 1.6 แสนหมู่จีน (ราว 6.66 หมื่นไร่) แซงหน้ามณฑลกวางตุ้ง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลยูนนาน และมณฑลฝูเจี้ยน
เฉพาะที่ ‘นครหนานหนิง‘ มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 7 หมื่นหมู่จีน (ราว 2.9 หมื่นไร่) โดยเฉพาะในอำเภออู่หมิง (Wuming District, 武鸣区) นับเป็นแหล่งผลิตแก้วมังกรที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งของกว่างซี
เขตสาธิตเทคโนโลยีการเพาะปลูกแก้วมังกรอีหลิ่ง (武鸣伊岭火龙果科技示范园) ในอำเภออู่หมิงเป็นแหล่งปลูกแก้วมังกรที่กำลังมีชื่อเสียงเป็นรู้จักในวงกว้าง เพราะนอกจากจะเป็นสวนแก้วมังกรที่ได้มาตรฐานและเป็นระบบอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเก็บภาพสำหรับคนชอบถ่ายรูปอีกด้วย
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า….เมื่อปี 2557 บริษัท Guangxi Jianian Agricultural (广西佳年农业有限公司) ได้ตั้งฐานสาธิตการเพาะปลูกแก้วมังกรแบบมาตรฐานด้วยเงินลงทุนจำนวน 200 ล้านหยวน โดยมีการนำสายพันธุ์แก้วมังกรพันธุ์ Ruan ji da hong (软枝大红) จากไต้หวัน รวมถึงเทคนิคการชดเชยแสง(แดด)ด้วยหลอดไฟมาใช้เพื่อการเพาะปลูกแก้วมังกร และในเวลาต่อมาบริษัทฯ ได้มีการปรับปรุงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอด LED
การที่แก้วมังกรเป็นผลไม้ที่ชอบแสงแดดและเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีแสงแดดเพียงพอ ดังนั้น การหลอกต้นแก้วมังกรด้วยการใช้เทคนิคชดเชยแสง(แดด)ด้วยหลอดไฟแสงสีเหลืองและหลอดไฟแสงสีแดงม่วงเสมือนช่วงแสงของดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้ได้ผลผลิตกว่าการปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ
จุดแข็งของการใช้เทคนิคชดเชยแสง(แดด)ด้วยหลอดไฟ คือ
• อัตราติดดอกสูง ติดดอกเฉลี่ยแปลงละ 200 ดอก การปลูกแบบเดิมติดดอกแปลงละ 70 ดอก
• การติดผลได้ระยะยาวขึ้นถึงเดือน ก.พ.ของปีถัดไป ปกติจะออกดอกปีละ 12-15 ครั้ง ออกผลระหว่างเดือน เมษายน–พฤศจิกายน ของทุกปี
• ช่วยให้สามารถเก็บผลผลิตได้เร็วกว่าปกติ 10 วัน
• สามารถกำหนดให้แก้วมังกรออกผลได้ตามสถานการณ์ตลาด
• มีขนาดผลและค่าความหวานสูงกว่าปกติ
• ได้ผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 20%
"ปีนี้ เขตสาธิตฯ คาดว่าจะได้ผลิตแก้วมังกรราว 7 พันตัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการของตลาด" นายจง หลิน (Zhong Lin, 钟林) ผู้จัดการใหญ่ของบริษัท Jianian ให้ข้อมูล
ตามรายงาน เขตสาธิตแห่งนี้ดำเนินการในรูปแบบ ‘อุตสาหกรรมการเกษตร‘ เน้นกระบวนการผลิตแบบเป็นมาตรฐาน การปฏิรูปโครงสร้างการเกษตรฝั่งอุปทาน การรวมพื้นที่แปลงเพาะปลูกรายย่อย 3,326 แปลงให้เป็นแปลงมาตรฐาน 195 แปลง การใช้เทคนิคให้น้ำผสมปุ๋ยด้วยระบบสปริงเกอร์น้ำหยด การคลุมแปลงปลูกเพื่อป้องกันอากาศหนาว การบรรจุหีบห่อและการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ที่ได้มาตรฐาน ทำให้เขตสาธิตแห่งนี้ได้กำหนดให้เป็น "เขตสาธิตการผลิตพืชเมืองร้อนแบบมาตรฐาน" จากกระทรวงเกษตรแห่งชาติจีน และเป็นสวนแก้วมังกรแห่งแรกของกว่างซีที่ได้มาตรฐานการส่งออก
นอกจากนี้ ทุกปี เขตสาธิตยังมีการจัดฝึกอบรมกว่า 20 ครั้ง มีเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมมากกว่า1,500 คน ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียง 50 รายหันมาปลูกแก้วมังกรรวมเนื้อที่ 3,000 หมู่จีน (ราว 1,250 ไร่) สร้างงานให้กับชาวชนบทในพื้นที่กว่า 2,000 คน ส่งเสริมการจ้างงานจากพื้นที่ข้างเคียงสูงสุดถึงวันละ 600 คนครั้ง และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงปีละ 25,000 หยวน
บีไอซี ขอให้ข้อมูลว่า แก้วมังกร เป็นผลไม้มงคลที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน แม้ว่าประเทศจีนจะมีพื้นที่ปลูกแก้วมังกรจำนวนมาก แต่ศักยภาพการผลิตยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่
ข้อมูลจากศุลกากรนครหนานหนิงพบว่า ปีที่แล้ว (ปี 2559) แก้วมังกรเป็นผลไม้ที่กว่างซีมีการนำเข้ามากที่สุด รวมน้ำหนัก 2.45 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า1,031 ล้านหยวน โดยส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม
ในส่วนของประเทศไทย พบว่า หลายปีมานี้ การปลูกแก้วมังกรเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายในประเทศไทย เทคนิคการชดเชยแสง(แดด)นับเป็นเทคนิคทางการเกษตรที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรชาวไทยไม่น้อย เพื่อช่วยบริหารจัดการผลผลิต(ตามสถานการณ์ตลาด)และเพิ่มผลผลิตสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น
ลิงค์ข่าว