เตือนภัยธุรกิจไทยในจีน : เผยกลลวง Phishing Website!! จริงชัวร์หรือมั่วนิ่ม? (ระวัง.. อย่าตกเป็นเหยื่อเว็บไซต์ส่งออกสินค้าในจีน)
5 Feb 2013
ในโลกยุคไฮเทคอันทันสมัยที่นับวันเทคโนโลยีจะยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโลกของอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงทุกพื้นที่ไว้ด้วยกัน การใช้งานที่ง่ายดายด้วยปลายนิ้วมือ จึงทำให้อินเทอร์เน็ตถูกใช้เป็นเครื่องมื่อสื่อสารที่สำคัญในโลกการค้ายุคใหม่ท่ามกลางความสะดวกสบายของเทคโนโลยี จนอย่าลืมไปว่าอาจมีภัยร้ายแฝงตัวตามมา!!
“Phishing Website” คือ กลลวงทางการค้าผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตที่น่ากลัวและทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน โดยเป็นการจัดทำหน้าเว็บไซต์ปลอมสวมรอยแทนหน้าเว็บไซต์จริง เพื่อล่อให้ผู้ใช้งานเกิดความสนใจแล้วเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกในเว็บไซต์ และกรอกข้อมูลสำคัญ เช่น ข้อมูลส่วนตัว (วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ เลขที่บัตรประชาชน) ข้อมูลทางการเงิน หมายเลขบัตรเครดิต ข้อมูลบัญชีผู้ใช้พร้อมรหัสผ่าน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้ควบคุมเว็บไซต์ปลอมนั้นสามารถนำข้อมูลทั้งหมดไปวางแผนร้ายต่อได้ โดยสิ่งเลวร้ายที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำ คือ ผู้ใช้งานไม่ทันระวังตัวและหลงเชื่อข้อมูลในเว็บไซต์ พร้อมตกลงทำตามทุกขั้นตอนจนเป็นเหตุให้เสียทรัพย์ในที่สุด!!
ความน่ากลัวไม่สิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้ เมื่อรายงานของ Beijing Rising Information Technology บริษัทเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยออนไลน์ ได้เผยตัวเลขเว็บไซต์ในรูปแบบ Phishing Website ของจีนในหนังสือพิมพ์ China Daily ฉบับเดือน ส.ค. 2555 ที่มีมากถึงกว่า 3 ล้านเว็บไซต์!! ซึ่งเป็นตัวเลขที่สร้างความน่าสะพรึงกลัวให้กับผู้นิยมใช้เว็บไซต์เป็นช่องทางในการซื้อสินค้ายิ่งนัก
เป็นที่น่าสลดใจที่นักธุรกิจไทยอาจยังทราบข้อมูลภัยร้ายข้างต้นไม่มากนัก จึงมักจะตกเป็นเหยื่อของ “Phishing Website” และสูญเสียทรัพย์ไปแบบที่จะตามกลับคืนมาได้ยาก เพราะผู้ที่อยู่เบื้องหลังเมื่อหลอกล่อเงินได้สำเร็จก็มักจะพับคอมพิวเตอร์แล้วหนีหายเข้าไปในฝูงชนจีนกว่า 1,300 ล้านคนในทันที ศูนย์ BIC เซี่ยงไฮ้ไม่อยากให้นักธุรกิจไทยรายต่อๆ ไปจะต้องตกเป็นเหยื่อทางการค้าในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลลวงของ “Phishing Website” จึงได้จัดทำบทความเตือนภัยธุรกิจไทยในจีน เรื่อง “เผยกลลวง Phishing Website!! จริงชัวร์หรือมั่วนิ่ม?” ขึ้น เพื่อเป็นข้อสังเกตสำหรับนักธุรกิจไทยที่สนใจทำการค้ากับจีนได้รู้เท่าทันภัยร้ายในปัจจุบัน
โปรดระวัง!! ใครกำลังตกเป็นกลุ่มเป้าหมาย?
จากรายงานของ Beijing Rising Information Technology พบว่า ในจำนวนเว็บไซต์หลอกลวงกว่า 3 ล้านเว็บไซต์ในจีน มีจำนวนคลิกเข้าชมเว็บไซต์เหล่านี้รวมแล้วกว่า 44 ล้านครั้งในช่วงปี 2555 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ไม่หวังดีมีโอกาสหลอกล่อเหยื่อได้อย่างไม่ยาก และในเมื่อโอกาสมีมากถึงขนาดนี้ ความสำเร็จในการหลอกล่อเหยื่อให้ติดกับก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ทั้งนี้ ผู้ตกเป็นกลุ่มเป้าหมายและได้รับความเสียหายส่วนใหญ่มีทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติ แบ่งเป็นผู้ใช้งานอีเมล์ติดต่องานทั่วไป ผู้ใช้บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต ผู้ที่กำลังหางานทำผ่านเว็บไซต์ ผู้ซื้อสินค้าผ่านทางร้านค้าออนไลน์ นักเล่นเกมส์ออนไลน์ (มีโฆษณาหลอกล่อให้ซื้อ Item สำหรับเล่นเกมส์) ชาวต่างชาติผู้ที่กำลังมองหาสินค้าในจีน และหน่วยงานที่ถูกสวมรอยเว็บไซต์ เป็นต้น
เว็บไซต์จำแลง.. สวมรอยดัดแปลงให้เหมือนจริง!!
วิธีการฉ้อโกงยอดฮิตโดยใช้เว็บไซต์เป็นตัวกลางที่เจอกันประจำ คือ “การสวมรอย” โดยการทำเว็บไซต์ปลอมเลียนแบบเว็บไซต์จริง ซึ่งมีหน้าตาเหมือนเว็บไซต์จริงที่ผู้ใช้คุ้นเคย ด้วยการแก้ตัวสะกดชื่อ URL ของเว็บไซต์ให้มีความใกล้เคียงกับเว็บไซต์เดิมมากจนยากที่จะแยกแยะได้หากไม่สังเกตดีๆ เช่น เว็บไซต์จริงชื่อ January.com แต่อาจมีการปลอมชื่อเว็บไซต์ใหม่เป็น Januory.com, January.net, January.org เป็นต้น ซึ่งมีตัวสะกดคล้ายกันหรือมีนามสกุลเว็บไซต์แตกต่างออกไป โดยที่ข้อมูลและเนื้อหาภายในยังคงเหมือนกับเว็บไซต์ต้นฉบับเดิม ทำให้ผู้ใช้มักเข้าใจว่าเป็นเว็บไซต์ของแท้ที่ตนต้องการเข้าใช้ หรือเป็นเว็บไซต์ในบริษัทเครือเดียวกัน หลังจากสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ “การหลอกล่อ” ให้มีผู้เข้าไปในเว็บไซต์ปลอมนั้นผ่านวิธีต่างๆ โดยวิธียอดนิยม คือ การส่งโฆษณาข้อความที่น่าสนใจไปทางอีเมล์เพื่อดึงดูดให้คลิกดูรายละเอียดต่อไปยังเว็บไซต์ เช่น สั่งซื้อสินค้าราคาพิเศษ ร่วมสนุกชิงโชค คลิกกรอกข้อมูลเพื่อรับคูปองส่วนลด เป็นต้น รวมถึงยังมีการใช้เทคนิคทำให้ชื่อเว็บไซต์ปลอมนั้นๆ ปรากฏในผลการค้นหาบนเว็บไซต์ Search Engine ด้วย ซึ่งผู้ใช้งานอินเทอร์เนตบางส่วนอาจไม่ทันสังเกตสิ่งผิดปกติหรือฉุดคิดภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้นตามมา
ขั้นตอนต่อมา คือ “เหยื่อติดกับดัก” โดยผู้ที่หลงเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมนั้นๆ ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังโดนคนร้ายหมายปองไว้แล้ว และก็ได้ทำตามขั้นตอนต่างๆ ที่เว็บไซต์ชี้นำ เช่น การกรอกข้อมูลรายละเอียดส่วนตัว/เลขที่บัตรเครดิตผ่านแบบฟอร์มในหน้าเว็บไซต์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ปลอมได้รับข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ในการหลอกลวงต่อไปได้ ทั้งนี้ เทคนิคดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดหากเป็นการปลอมแปลงเว็บไซต์ของธนาคาร โดยผู้ที่คลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ปลอมก็จะกรอกรหัสใช้งานของบัญชีผู้ใช้เหมือนเช่นที่กรอกในเว็บไซต์จริง ซึ่งทำให้ชื่อบัญชีผู้ใช้ / รหัสผ่านต้องตกอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี และผู้ไม่หวังดีสามารถนำรหัสดังกล่าวไปจัดการธุรกรรมการเงินเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวต่อไป
สร้างเปลือก (เว็บไซต์) ดูสดใส.. แต่ภายใน (บริษัท) กลับเป็นโพรง
อีกหนึ่งวิธีการฉ้อโกงสำหรับกรณี Phishing Website คือ การสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้ดูว่าเหมือนเป็นบริษัทผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกที่มีความน่าเชื่อถือ แต่เบื้องหลังที่แท้จริงแล้วกลับเป็นว่าบริษัทไม่มีตัวตนจริง ซึ่งถือเป็นการใช้ภาพลักษณ์จำแลงของเว็บไซต์เป็นตัวกลางหลอกล่อผลประโยชน์จากผู้ที่หลงเข้ามาติดกับดัก สำหรับในกรณีนี้ มักจะเกิดขึ้นกับวงการธุรกิจนำเข้า – ส่งออก โดยผู้สั่งซื้อ (บริษัทต่างชาติ) มักจะนิยมหาข้อมูลแหล่งผลิตหรือผู้ขาย (บริษัทจีน) ผ่านทางอินเทอร์เน็ต และเข้าไปหาข้อมูลรายละเอียดบริษัทในเว็บไซต์เป็นสำคัญ โดยที่ตนเองไม่สะดวกที่จะเดินทางมาตรวจสอบว่าผู้ขายมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ และใช้อีเมล์ในการติดต่อกับผู้ขาย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีสำหรับกลุ่มผู้ร้ายที่จะหลอกล่อผลประโยชน์จากผู้สั่งซื้อได้ไม่ยาก ด้วยการที่ผู้สั่งซื้อมีข้อจำกัดในเรื่องการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องของผู้ขาย ด้วยเหตุที่เว็บไซต์เหล่านี้ใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อสร้างให้ภาพลักษณ์ดูดี จนยากที่จะแยกแยะได้ว่าจะเป็นเว็บไซต์จริงหรือเว็บไซต์เพื่อหลอกลวง ดังนั้นจึงควรสังเกตส่วนประกอบต่างๆ ในเว็บไซต์อย่างละเอียด เช่น ความสัมพันธ์ของที่ตั้งบริษัทกับรหัสพื้นที่ของหมายเลขโทรศัพท์ ความสัมพันธ์ของอีเมล์ที่ติดต่อกับชื่อบริษัท ความสัมพันธ์ของชื่อเว็บไซต์กับชื่อบริษัท เป็นต้น
วันนี้.. คุณพร้อมที่จะรับมือกลโกง “Phishing Website” แล้วหรือยัง?
ปัจจุบันหลายเว็บไซต์ในจีนมีความเสี่ยงที่จะเป็นเว็บไซต์ปลอม ซึ่งมีนักธุรกิจต่างชาติจำนวนไม่น้อยหลงกลและถูกหลอกทรัพย์สินไปในแบบที่ไม่ควรเกิดขึ้น แม้ว่าขณะนี้จะมีซอฟท์แวร์ป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ที่สามารถคอยเตือนหากเข้าไปยังเว็บไซต์เลียนแบบได้ แต่ก็ยังไม่คลอบคลุมถึงเว็บไซต์หลอกลวงอีกมากมายที่ยากต่อการพิสูจน์ หน่วยงานจีนเองก็ยังให้ความสำคัญ โดยได้ออกมาย้ำเตือนถึงภัยของเว็บไซต์ปลอมนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง แนวทางป้องกันที่ดีที่สุดในเวลานี้ คือ หมั่นสังเกตความผิดปกติ ตรวจสอบข้อมูลคู่ค้าจากหลายๆ แหล่ง และพยายามอย่าอย่าหลงเชื่อคู่ค้ารายใหม่ง่ายดายจนเกินไป หากยังไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ โดยศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคในการสังเกตเว็บไซต์และคู่ค้าปลอม ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้นักธุรกิจไทยห่างไกลจากกลโกง ดังนี้
เทคนิครู้ทันเว็บไซต์ “ปลอม” และ “สวมรอย” เป็นบริษัทที่มีตัวตนอยู่จริง
1. ประมวลข้อมูลโดยพิจารณาตามหลักเหตุผลและตั้งอยู่บนความจริง
เว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นมาในลักษณะหลอกลวงโดยกลุ่มผู้ไม่หวังดี และเว็บไซต์ของบริษัทที่ประกอบกิจการโดยสุจริตทั่วไป มักมีข้อแตกต่างในเรื่องความสมจริงให้สังเกตได้ โดยหากนำข้อมูลต่างๆ ในเว็บไซต์มาวิเคราะห์ตามหลักความเป็นจริงและความสมเหตุสมผล ก็อาจพบความผิดปรกติ ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ที่ระบุว่า บริษัทดำเนินกิจการที่ประกอบด้วยพนักงานมืออาชีพกว่า 500 คน เป็นผู้ส่งออกที่มีประสบการณ์มือออาชีพ มีเครือข่ายความร่วมมือที่ได้รับการยอมรับในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก แต่กลับมีพนักงานขายฝ่ายต่างประเทศเพียง 1 คน เมื่อติดต่อไปที่หมายเลขโทรศัพท์ขององค์กร กลับไม่มีระบบเสียงตอบรับอัตโนมัติหรือมีคู่สายอื่นๆ ภาษาอังกฤษในเว็บไซต์พบการใช้ไวยากรณ์ที่ไม่ถูกต้องหลายจุด ไม่มีหมายเลขโทรสารของบริษัท อีเมล์หลักในการติดต่อกับบริษัทเป็นฟรีอีเมล์ทั่วไปแทนที่จะมีอีเมล์ขององค์กร และที่อยู่ของสำนักงานแสดงให้เห็นว่าตั้งอยู่ในอาคารที่พักอาศัยลักษณะแมนชั่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพของบริษัท ผิดจากข้อมูลที่โฆษณาไว้ในเว็บไซต์ นอกจากนี้ อาจสังเกตระละเอียดปลีกย่อยของเว็บไซต์ เช่น ความสมจริงของภาพถ่ายบริษัท ซึ่งเว็บไซต์ปลอมหลายเว็บใช้ภาพถ่ายที่สามารถดูออกได้ว่าเป็นภาพตัดต่ออย่างชัดเจน หรือใช้ภาพถ่ายโรงงานที่มีเครื่องจักรการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งดูมีความน่าเชื่อถือ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนที่ต้องใช้ในการผลิตสินค้าที่บริษัทระบุว่ามีจำหน่าย เป็นต้น รายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ในเว็บไซต์และสามารถใช้ทักษะการสังเกตและการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อพิจารณาแยกแยะเว็บจริง-เว็บปลอม และป้องกันภัยในเบื้องต้นได้
2. ไตร่ตรองความผิดปรกติในการติดต่อกับคู่ค้า
การติดต่อกับคู่ค้าที่น่าสงสัยว่าไม่มีบริษัทที่ทำการค้าอยู่จริง อาจสามารถสังเกตความผิดปรกติได้ตั้งแต่ช่วงติดต่อทางการค้า ที่ผู้ขายจะต้องทำให้ผู้ซื้อตกลงซื้อสินค้าให้ได้ ก่อนที่จะดำเนินการหลอกลวงต่อไป ซึ่งผู้ขาย(ตัวปลอม) จะมีจุดเด่นที่สำคัญคือ “กลัวหลอกเหยื่อไม่ได้” เช่นกัน ดังนั้น อาจพบความผิดปรกติจากจุดเด่นดังกล่าวได้ตั้งแต่ช่วงการเจรจาการค้า เช่น การที่บริษัทผู้ขายมีการชักจูงให้ซื้อโดยมีข้อเสนอที่น่าดึงดูดกว่าคู่แข่งอื่นๆทั่วไปอย่างมากจนไม่น่าเป็นไปได้ เช่น การเสนอราคาเริ่มต้นที่ต่ำกว่ามาก แต่อ้างคุณภาพที่เท่ากัน การมีสินค้าแทบทุกประเภทที่ต้องการในบริษัทเดียว การพร้อมส่งสินค้าได้ทันทีโดยไม่มีช่วงระยะเวลาการผลิต การลดราคาให้โดยไม่ได้ยืนยันตัวอย่างสินค้าก่อน การเสนอราคาสินค้าโดยไม่มีรายละเอียดอื่นๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ รายละเอียดด้านเทคนิคสินค้า ซึ่งหากเป็นการซื้อขายจริง รายละเอียดดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่ผู้ขาย/ผู้ผลิตจะเป็นต้องได้รับจากลูกค้า เพื่อใช้จัดเตรียมสินค้าให้ถูกต้อง และรายละเอียดดังกล่าวยังเกี่ยวพันกับต้นทุนที่ผันแปรทั้งสิ้น ในขณะที่การซื้อกับผู้ขาย(ตัวปลอม) ที่กลัวจะไม่ได้เหยื่อ ผู้ขายก็มักจะข้ามรายละเอียดสำคัญในข้อนี้ไป โดยในสถานการณ์การเจรจาการค้าจะพุ่งเป้าไปที่การเร่งการตัดสินใจซื้อแทน เช่น การแจ้งจะปรับราคาหากไม่ตัดสินใจสั่งซื้อภายในเวลาที่กำหนด การเร่งให้สั่งซื้อโดยอ้างว่าสายเรือจะเพิ่มค่าระวางเรือในเดือนถัดไปตามราคาน้ำมันโลก เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปผู้ขายสินค้าชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผู้ผลิตรายใหญ่หรือผู้ส่งออกรายย่อย ก็มักจะไม่ยอมลดราคาสินค้าได้ง่ายๆ จนกว่าจะมีการต่อรองกันอย่างตรงไปตรงมาตามปริมาณ คุณภาพและรายละเอียดสินค้าให้ได้ชัดเจนก่อน
3. ถามหาเอกสารเพิ่มเติมเพื่อความมั่นใจ
ควรถามหากเอกสารทางการค้าที่จำเป็นจากผู้ขายหากไม่แน่ใจว่า บริษัทที่ติดต่อด้วยมีตัวตนจริงหรือไม่ เช่น เอกสารการจดทะเบียนบริษัท เอกสารใบอนุญาตการส่งออก เอกสารใบรับรองคุณภาพมาตรฐานการผลิตในโรงงาน ฯลฯ โดยเอกสารดังกล่าวจะต้องให้บริษัทผู้ขายมีการรับรองเอกสารอย่างถูกต้องจากหน่วยงานรัฐบาล เช่น เอกสารทะเบียนบริษัทควรมีฉบับแปลอย่างเป็นทางการเป็นภาษาอังกฤษประกอบกับฉบับจีน และได้รับการรับรองการแปลจากหน่วยงานโนตารี่พับบลิคที่ได้รับอนุญาตของจีน อีกทั้งได้รับการยืนยันเอกสารถูกต้องจากสำนักงานการต่างประเทศในท้องถิ่นจีน (Local Foreign Affair Office) เป็นต้น และควรตั้งข้อสังเกตเสมอถึงความถูกต้องของเอกสารต่างๆ และหากไม่แน่ใจความถูกต้องของเอกสารก็อาจสอบถามไปยังหน่วยงานที่รับรองเอกสารเหล่านั้นได้โดยตรง การถามหากเอกสารดังกล่าวแม้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยื่นประกอบในขั้นตอนการนำเข้าฝั่งไทย แต่ก็จะมีประโยชน์ในด้าน
ความน่าเชื่อถือของบริษัท ซึ่งบริษัทที่ทำการค้าระหว่างประเทศมืออาชีพทั่วไปมีความเข้าใจในข้อนี้เป็นอย่างดีและยินดีจัดส่งเอกสารให้ ขณะที่ผู้ขาย (ตัวปลอม) อาจมีข้ออ้างไม่ส่งเอกสารหรือมีข้อผิดสังเกตในเอกสารปรากฏให้เห็นได้
4. พึ่งตัวช่วยหากจำเป็น
แม้ว่าผู้ซื้ออาจถามหากเอกสารรับรองจากผู้ขายเพื่อให้มั่นใจในความน่าเชื่อถือ แต่เอกสารสำคัญดังกล่าวก็อาจทำปลอมขึ้นมาจนยากที่จะตรวจสอบได้ ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการเข้าไปเยี่ยมโรงงานเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทที่จะทำการค้าด้วยตนเอง แต่หากไม่สะดวกที่จะเดินทางไปตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตด้วยตนเอง ก็สามารถติดต่อบริษัทรับรองและตรวจสอบสินค้าในจีนที่มีความชำนาญได้ โดยบริษัทเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยตรวจสอบรับรองสินค้าที่สั่งซื้อว่าเป็นไปตามมาตรฐานเท่านั้น แต่หลายบริษัทก็ยังมีบริการครอบคลุมถึงการตรวจสอบคู่ค้า (Supplier Audit) อีกด้วย ซึ่งผู้ตรวจสอบจะเดินทางไปยังบริษัทผู้ผลิตโดยตรง เพื่อศึกษารายละเอียด ประเมินความเป็นไปได้ ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เช่น มาตรฐานการผลิตว่าตรงกับข้อมูลที่บริษัทได้อ้างไว้หรือไม่ และจัดทำรายงานผลการตรวจสอบความน่าเชื่อถือเป็นภาษาอังกฤษให้ ปัจจุบันบริษัทตรวจสอบบางแห่งยังมีบริการครอบคลุมถึงข้อมูลความน่าเชื่อถือทางการเงินของคู่ค้าอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานของรัฐ เช่น State Administration for Industry and Commerce (国家工商管理总局) ของรัฐบาลจีน ที่สามารถยื่นเรื่องขอตรวจสอบข้อมูลความน่าเชื่อถือของบริษัทจีน (มีค่าใช้จ่าย) ได้เช่นกัน
แนวทางการป้องกันจากกลลวง Phishing Website
แม้ว่าจะมีเทคนิค “รู้ทันเว็บไซต์และคู่ค้าตัวปลอม” ที่กำลังติดต่ออยู่ด้วย ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะคู่ค้าก็อาจพัฒนาเทคนิคให้สังเกตข้อผิดพลาดในเว็บไซต์ได้ยากขึ้น หรือมีข้อเสนอที่ดึงดูดใจและโน้มน้าวให้หลงกลสั่งซื้อได้ ผู้ที่สนใจซื้อสินค้าจากจีนจึงควรมีภูมิคุ้มกันล่วงหน้า โดยไม่รอให้ภัยมาถึงตัว การซื้อขายกับคู่ค้ารายใหม่ทุกครั้งจึงควรคำนึงถึงข้อควรปฏิบัติที่สำคัญเพื่อห่างไกลจากกลลวง Phishing Website ดังนี้
1. เพิ่มความระมัดระวัง สังเกต รอบคอบในการติดต่อกับลูกค้ารายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าที่รู้จักผ่านอินเทอร์เน็ต พึงตระหนักไว้เสมอว่าโลกบนอินเทอร์เน็ตสามารถสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นได้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับโลกแห่งความจริง ควรใช้ความระมัดระวัง และตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน ตรวจสอบให้แน่ชัด หาข้อมูลเพื่อเพิ่มความมั่นใจก่อนสั่งซื้อ อย่าเชื่อข้อมูลเพียงด้านเดียว และข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์อาจไม่เป็นความจริงเสมอไป
2. เลือกผู้ผลิตชาวจีนจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น งานแสดงสินค้าต่างๆในจีน รายชื่อผู้ผลิตสินค้าที่ลงทะเบียบกับสมาคมการค้าที่น่าเชื่อถือ หรือค้นหารายชื่อจากเว็บไซต์ของหน่วยงานพาณิชย์ของรัฐบาลจีน พยายามหลีกเลี่ยงเว็บไซต์ไดเร็กทอรี่ฟรีต่างๆ ที่ประกาศขายสินค้า หรือเว็บไซต์ Free Online Marketplace ที่รวมรายชื่อธุรกิจ ซึ่งใครก็สามารถสมัครสมาชิกเพิ่มข้อมูลของตัวเองลงไปได้ และเมื่อได้คู้ค้าแล้ว ควรพยายามสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมของคู่ค้าจากหลายๆ ช่องทาง เช่น การค้นหาจากเว็บไซต์ค้นหาข้อมูล (Search engine) การตรวจสอบจากหน่วยงานพาณิชย์ของจีน เป็นต้น
3. ติดตั้งซอฟท์แวร์ป้องกันเว็บไซต์ประเภท Anti-Phishing Service ที่คอยตรวจจับเว็บไซต์ปลอมและเว็บไซต์สวมรอยโดยจะเช็คจากรายชื่อ Black list ของเว็บในลักษณะดังกล่าวที่มีการร้องเรียน ซึ่งอาจจะช่วยเพิ่ม
ความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง แต่หากเป็นเว็บปลอมที่ไม่อยู่ในรายชื่อ Black list ก่อนแล้ว โปรแกรมก็จะไม่สามารถ ตรวจสอบได้ ดังนั้นการตรวจสอบที่ดีที่สุด คือ การใช้วิจารญาณสังเกตอย่างรอบคอบ ประมวลผลข้อมูลจากหลายๆ ด้าน ตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อนสั่งซื้อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ซอฟท์แวร์ไม่สามารถทำได้
4. อย่าเห็นแก่ของถูก การตัดสินใจซื้อสินค้าหรือไม่นั้น ท้ายที่สุดก็มาจากการตัดสินใจของตัวเราเอง กลลวงทางการค้าที่เกิดขึ้นมักเกิดจากจุดอ่อนของผู้ซื้อ ที่หลงเชื่อผู้ขายซึ่งเสนอราคาถูก ผู้ซื้อควรตระหนักว่า จีนในปัจจุบันไม่ใช่ประเทศที่ผลิตสินค้าคุณภาพในราคาที่ถูกอีกต่อไป แต่จีนกำลังเข้าสู่ยุคต้นทุนแพงจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี และกฎระเบียบด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น การได้รับเสนอราคาที่ถูกกว่าต้นทุนที่ควรจะเป็นอาจต้องแลกมาด้วยบทเรียนราคาแพงก็เป็นได้
ลิงค์บทความที่เกี่ยวข้อง
1. เตือนภัยธุรกิจในจีน : เผยกลลวง “ฤๅษีแปลงสาส์น”.. สูญเงินเป็นล้านเพราะไม่ทันระวังตัว
4. เตือนภัยธุรกิจในจีน (เซี่ยงไฮ้)…. เมื่อสินค้าตนถูกฟ้องว่าไปทำปลอม และสินค้าปลอมถูกอ้างว่าเป็นของจริง
————————————