เซี่ยเหมินเตรียมพร้อม สินค้านำเข้าไต้หวันกว่า 30 รายการ ปลอดภาษี
2 Jan 20132 ม.ค. 56 (นสพ. ไห่ซีเฉินเป้า, 海西晨报) – รายงานข่าวระบุว่า ตามกรอบข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน – ไต้หวัน (Economic Cooperation Framework Agreement: ECFA) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นไป สินค้านำร่องบางรายการซึ่งนำเข้าจากไต้หวันมายังจีนแผ่นดินใหญ่ อาทิ แก้วมังกร เตารีดไฟฟ้า เครื่องปิ้งขนมปัง ยางล้อรถจักรยาน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ รวมทั้งสิ้น 31 รายการ จะได้รับการยกเว้นภาษี
กรอบข้อตกลง ECFA ได้เชื่อมความร่วมมือทางการค้าของทั้งสองฝ่ายให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้นมาโดยตลอด จนถึง ณ ปัจจุบัน มีจำนวนสินค้ากว่า 800 รายการ ที่ในอนาคตอันใกล้จะถูกยกเว้นภาษี โดยทางจีนได้เล็งอนุมัติสินค้านำเข้าจากไต้หวันเป็นจำนวน 539 รายการ และทางไต้หวันจะยกเว้นภาษีแก่จีนเป็นจำนวน 267 รายการ
รายงานข่าวระบุว่า ในบรรดาเมืองท่าต่าง ๆ ของจีน เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนจะได้รับอานิสงค์โดยตรงจากกรอบข้อตกลง กล่าวคือ เซี่ยเหมินเป็นเส้นทางสำคัญที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างจีนและไต้หวัน อีกทั้ง เซี่ยเหมินยังเป็นเมืองที่นำเข้าผลไม้จากไต้หวันเป็นปริมาณมากที่สุด โดยมีผู้ประกอบการนำเข้าผลไม้กว่า 10 บริษัท ปริมาณการนำเข้าร้อยละ 60 จะถูกกระจายต่อไปยังหัวเมืองสำคัญกว่า 12 เมือง เช่น กรุงปักกิ่ง นครฉงชิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครฉางชุน และนครฮาร์บิน เป็นต้น
นายเวินเหยินเต๋อ (温仁得) ผู้ส่งออกผลไม้ชาวไต้หวัน กล่าวว่า ข้อตกลง ECFA ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วส่งผลดีต่อการกระตุ้นการค้าระหว่างจีนและไต้หวันเป็นอย่างมาก โดยช่วยลดต้นทุนของสินค้า อีกทั้งยังหวังว่าในอนาคตอันใกล้จะมีการเพิ่มประเภทของสินค้าที่จะได้รับการลดภาษีให้มีมากขึ้นด้วย
จากข้อมูลสถิติระบุว่า ช่วง 11 เดือนแรกของปี 2555 สำนักงานตรวจสอบและรับรองสินค้าเมืองเซี่ยเหมิน (厦门检验检疫局) ได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) เป็นจำนวน 865 เล่ม คิดเป็นมูลค่าสินค้าถึง 19,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กรอบข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน – ไต้หวัน หรือ ECFA ได้มีการลงนามตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ในส่วนของการลดภาษีสินค้านำเข้า ได้มีการแบ่งระยะการลดการจัดเก็บภาษีเป็นสามระยะ เริ่มตั้งแต่ปี 2554, 2555 และจนกระทั้งปี 2556 สินค้าบางประเภทได้ถูกลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0
ข้อมูลเพิ่มเติม หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) เป็นเอกสารที่แสดงว่าสินค้ามีแหล่งกำเนิดจากประเทศใด เพื่อให้ผู้ส่งออกใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ของประเทศผู้นำเข้าก่อนการนำเข้าสินค้าตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนด นอกจากนี้ หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้ายังเป็นเอกสารเพื่อประกอบการขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากประเทศผู้นำเข้าอีกด้วย (ข้อมูลจาก www.ryt9.com)