เจาะลึกข้อมูลเศรษฐีชาวจีน “กระเป๋าหนัก” ประจำปี 2556

4 Sep 2013

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงหลังจะไม่ได้โตแบบก้าวกระโดดอย่างในอดีต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจที่โตวันโตคืนได้ช่วยให้ชาวจีนจำนวนไม้น้อยสามารถผลักดันตัวเองให้หลุดพ้นจากสภาพความยากจน จนกระทั่งกลายเป็นผู้มีรายได้สูงระดับเศรษฐี” หรือ “มหาเศรษฐี” ได้ในพริบตา สิ่งนี้เองทำให้เราเห็น “อำนาจซื้อ” ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้ เราสามารถเห็นชาวจีนเดินซื้อสินค้าแบรนด์ดังจากทั่วโลกในห้างสรรพสินค้า สินค้าเหล่านั้นได้กลายเป็น “ของเล่น” ให้คนจีนซื้อหามาใช้และเป็นของฝากกันอย่างมากมาย

นอกจากนี้ยังรวมถึงแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ระดับไฮเอนด์ ที่มีลูกค้าชาวจีนมาแวะเวียนมาใช้บริการมากมาย ดังนั้น บทความในวันนี้เราจะนำผู้อ่านเจาะลึกว่า ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับจำนวนและพฤติกรรมของ “เศรษฐี” ชาวจีนเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร

ล่าสุด สถาบันวิจัยหูยุ่น (Hurun) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยอิสระของจีนและกรุ๊ปเอ็ม โนว์เลดจ์ (Group M Knowledge) บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ ได้ศึกษาและสำรวจ จำนวน การกระจายตัวของเศรษฐจีน รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ โดยการสำรวจดังกล่าวใช้การทำแบบสอบถามกับเศรษฐีจีน (ผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 10 ล้านหยวน) จำนวน 551 ราย ผลสำรวจล่าสุด พบว่าจำนวนเศรษฐีชาวจีนที่มีฐานะ “ร่ำรวย” ด้วยทรัพย์สินมากกว่า 10 ล้านหยวน มีจำนวน 1.05 ล้านคน ในขณะที่มหาเศรษฐีผู้ที่มีฐานะ "ร่ำรวยอย่างมาก" ด้วยสินทรัพย์ส่วนตัวที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านหยวน อยู่ที่ 64,500 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 3 และ 2 ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่าจีนมีอภิมหาเศรษฐีระดับ 1,000 ล้านหยวน 8,100 คน และผู้ที่มีสินทรัพย์ 10,000 ล้านหยวน ประมาณ 280 คน

เศรษฐีจีนเป็นใคร มาจากไหน?

1. เศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากกว่า 10 ล้านหยวน

ผลสำรวจครั้งนี้พบว่า บรรดาผู้มีฐานะร่ำรวยดังกล่าวมีทรัพย์สินโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 59 ล้านหยวน มียอดการใช้จ่ายต่อปี 1.77 ล้านหยวน โดยมีอัตราส่วนระหว่างเพศชายและหญิงอยู่ที่ 7 : 3 อายุโดยเฉลี่ยคือ 38 ปี โดยพบว่าอายุระหว่าง 31 – 45 ปี มักเป็นเพศชาย และร้อยละ 43 มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทหรือสูงกว่า อาชีพที่มาของรายได้แบ่งเป็นประกอบธุรกิจส่วนตัวคิดเป็นร้อยละ 50 ผู้บริหารระดับสูง ร้อยละ 20 นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ร้อยละ 15 และนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 15

โดยเฉลี่ยแล้วเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากกว่า 10 ล้านหยวนจะมีรถยนต์อย่างน้อยเฉลี่ย 3 คัน และนาฬิกาข้อมือ 4 เรือน พวกเขาจะเดินทางออกนอกประเทศ 2.8 ครั้งต่อปี และเดินทางออกไปยังพื้นที่อื่นในจีนเพื่อเจรจาเรื่องธุรกิจเฉลี่ย 7.5 วันต่อเดือน

สำหรับการพักผ่อน เศรษฐีจีนจะมีวันหยุดพักผ่อนเฉลี่ย 20 วันต่อปี โดยมักใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ การอ่านหนังสือ การดื่มชาคุณภาพดี การออกกำลังกาย (โดยเฉพาะกีฬาว่ายน้ำและกอล์ฟ)

ในด้านสุขภาพ กลุ่มตัวอย่างเศรษฐีจีนร้อยละ 70 มักเข้าโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ โดยร้อยละ 10 มีแพทย์ประจำตัว บรรดาเศรษฐีเหล่านี้นอนพักผ่อนในช่วงวันทำงานเฉลี่ย 6.6 ชม. และ 7.2 ชม. ในช่วงสุดสัปดาห์นอกจากนี้ ยังพบว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐีจีนไม่สูบบุหรี่ แต่มีถึงร้อยละ 70 ที่มีพฤติกรรมดื่มสุรา รวมทั้งกว่าร้อยละ 50 ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์แดง

ด้านการลงทุน การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ของเศรษฐีจีน โดยที่มีการลงทุนในตลาดหุ้นตามมาเป็นตัวเลือกลำดับที่ 2 สำหรับในด้านการสะสมของมีค่า จำนวน 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นนักสะสมของเก่า โดยเลือกที่จะสะสมภาพวาด นาฬิกา และภาพเขียนอักษรจีน นอกจากนี้ ยังพบว่า เศรษฐีชาวจีนจะรับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต และจำนวน 3 ใน 10 ของกลุ่มตัวอย่างเลือกที่จะส่งบุตรหลานของตนไปเรียนต่อยังต่างประเทศ



2. เศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านหยวน

จากการสำรวจอายุเฉลี่ยของเศรษฐที่มีทรัพย์สินมากกว่า 10 ล้านหยวนอยู่ที่ 40 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุมากกว่า 45 ปี และร้อยละ 60 ของจำนวนดังกล่าวมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทหรือสูงกว่า อาชีพที่มาของรายได้แบ่งเป็นประกอบธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 80 นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 15 นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ร้อยละ 5

จากการสำรวจยังพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านหยวน มีรถยนต์ในครอบครองเฉลี่ย 4 คัน และมีนาฬิกาข้อมือ 5 เรือน พวกเขาจะเดินทางออกนอกประเทศ 3.4 ครั้งต่อปี และเดินทางออกไปยังพื้นที่อื่นในจีนเพื่อเจรจาเรื่องธุรกิจเฉลี่ย 9.2 วันต่อเดือน

สำหรับการพักผ่อน มหาเศรษฐีจีนจะมีวันหยุดพักผ่อนเฉลี่ย 21 วันต่อปี โดยมักใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ การอ่านหนังสือ การชิมชาคุณภาพดี และเล่นกอล์ฟ

ในด้านสุขภาพ กลุ่มตัวอย่างมหาเศรษฐีดังกล่าวให้ความสำคัญต่อสุขภาพของตนเองอย่างมาก โดยร้อยละ 14 มีแพทย์ประจำตัว และมีร้อยละ 70 เป็นผู้ไม่สูบบุหรี่ ทั้งนี้พวกเขาเหล่านี้นอนพักผ่อนในช่วงวันทำงานเฉลี่ย 6.6 ชม. (แต่มีร้อยละ 30 ที่นอนน้อยกว่า 6 ชม.ในช่วงวันทำงาน) และนอนพักผ่อนในช่วงสุดสัปดาห์เฉลี่ย 7.4 ชม.

วิถีชีวิตแบบ “คนรวย”

1. มุมมองต่อเศรษฐกิจในอนาคตและช่องทางการลงทุน

ผลสำรวจเผยว่ามีเพียง 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างเศรษฐีจีนที่มีความเชื่อมั่นอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ ลดลงร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และยังมีร้อยละ 9 ของกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าเป็นกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก

หากพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่า ความกังวลดังกล่าวเป็นผลจากเศรษฐกิจจีนทีมีอัตราการเจริญเติบโตตกลงไปอยู่ที่ร้อยละ 7.8 เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำสุดในรอบ 13 ปี นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของปีนี้ยังโตเพียงร้อยละ 7.7 และโตร้อยละ 7.5 ในไตรมาสสอง ต่อประเด็นด้านการเลือกลงทุน การลงทุนถือเป็นสิ่งสำคัญของเศรษฐีที่จะทำอย่างไรจึงจะให้เงินที่สะสมไว้เพิ่มพูนค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เป็นอีกแหล่งที่มาของเงินที่จะเพิ่มขึ้น ผลการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างเศรษฐีจีนเลือกที่จะลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น โดยมีการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ตลาดซื้อขายทองคำและผลงานศิลปะตามมาในลำดับต่อมา

2. พฤติกรรมการใช้เงิน

ผลสำรวจระบุชัดเจนว่า พฤติกรรมการบริโภคและการจัดสรรเงินที่หาได้มาแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ การท่องเที่ยว การใช้สินค้าหรูหรา การศึกษาของบุตร กิจกรรมบันเทิง ของสะสม และการซื้อของขวัญ ทั้งนี้ ยังระบุอย่างชัดเจนด้วยว่า เศรษฐีชาวจีนผู้หญิงจะมีพฤติกรรมชอบซื้อสินค้าหรูหราเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ผู้ชายจะเน้นการหาความสุขจากกิจกรรมบันเทิงหลากหลายประเภท การสะสมของมีค่า และมอบของขวัญให้แก่ผู้อื่น

2.1 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม

จากที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า การท่องเที่ยวเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งที่เศรษฐีชาวจีนเลือกใช้เงินมากที่สุด เมื่อเจาะลึกถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เป้าหมายการเดินทางภายในประเทศจีน คือ เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน และสถานที่ท่องเที่ยวในต่างประเทศ คือ ประเทศฝรั่งเศส โดยหากต้องเดินทางด้วยสายการบินภายในประเทศ สายการบินที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สายการบินแอร์ไชน่า (Air China) สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ คือ สายการบินสิงคโปร์ (Singapore Airlines) และ และนิยมเลือกที่จะเข้าพักโรงแรมแชงกรี-ล่า (Shangri-La) มากที่สุด

2.2 ของสะสมคนรวย

เศรษฐีจีนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเลือกสะสมของมีค่า จากการสำรวจพบว่า เศรษฐีชาวจีนเพศชายนิยมสะสมของมีค่ามากกว่าเพศหญิง โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนการสะสมนาฬิกาข้อมือและรถยนต์มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ เริ่มนิยมสะสมผลงานศิลปะจีน (รูปภาพและการวาดตัวอักษรจากพู่กันจีน) สุรา เครื่องลายคราม ผลงานศิลปะร่วมสมัย รวมถึงบ้านโบราณทั้งสไตล์จีนและตะวันตก

ยี่ห้อนาฬิกาข้อมือที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย

  1. Patek Phillipe
  2. Cartier
  3. Vacheron Constantin
  4. Rolex
  5. Plaget

ยี่ห้อสุรานำเข้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 อันดับแรก

  1. Loius XIII
  2. Hennessy
  3. Royal Salute
  4. Jonnie Walker
  5. Martell

ยี่ห้อสุราขาวจีนที่ดีที่สุด คือ Moutai

ยี่ห้อเหล้าแชมเปญที่ดีที่สุด คือ Perrier-Jouet

ยี่ห้อไวน์ที่ดีที่สุด คือ Chateau Lafite Rothschild

2.3 ทำบุญ ตอบแทนสังคม

ผลการวิจัยพบว่า เหล่าเศรษฐีจีนไม่เพียงแต่จะใช้เงินในทางหรูหราฟุ่มเฟือยเท่านั้น พวกเขายังได้แบ่งเงินบางส่วนคืนแก่สังคม ผ่านหลากหลายช่องทาง โดยกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการจ่ายภาษีให้รัฐเป็นวิธีการที่ดีที่สุดอันจะแสดงว่าบริษัทที่พวกเขาทำธุรกิจอยู่นั้นมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตามมาด้วยการบริจาคในงานการกุศล และส่งเสริมกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การวิจัยยังพบว่า เศรษฐีเพศชายที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี จะเป็นกังวลต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างมาก อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่บรรดาเศรษฐีจะบริจาคเงินที่ได้จากการทำธุรกิจบริจาคไปยังสถาบันการศึกษาที่พวกเขาจบมาอีกด้วย

เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากอ่านผลการวิจัยข้างต้นแล้ว คงมีผู้อ่านไม่น้อยเห็นว่า ปัจจุบันชาวจีนมีกำลังซื้อมหาศาลเพียงใด ดังนั้น การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มจะทำให้สามารถสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภคและความสามารถในการค้นหาทางแก้ไข พฤติกรรมในการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคในสังคมได้ถูกต้องและสอดคล้องกับความสามารถในการตอบสนองของธุรกิจมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะช่วยในการพัฒนาตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตรงตามกลุ่มเป้าหมาย บีไอซีเชื่อว่าบทความในวันนี้คงจะเป็นหน้าต่างเล็ก ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเห็นถึง “โอกาส” ทางธุรกิจ ในตลาดจีนที่ใหญ่และพร้อมจะจ่ายซื้อสินค้าและบริการแบบ “ไม่อั้น”

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน