เครือข่ายเส้นทางรถไฟขนส่งข้ามชาติ – กุญแจไขตลาดต่างชาติใหม่ของจีน
15 Aug 2013ช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังจากที่ทางการจีนเริ่มดำเนินนโยบาย “เร่งพัฒนาภาคตะวันตก” และ “สนับสนุนการผงาดขึ้นของภาคกลาง” ภาคตะวันตกและภาคกลางของจีนได้พัฒนาความสามารถในการรองรับอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตมาจากภาคตะวันออกมากขึ้น แต่เนื่องจากภาคตะวันตกและภาคกลางห่างไกลจากท่าเรือฝั่งภาคตะวันออกค่อนข้างมาก ทำให้มีข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะแถบทวีปยุโรป ทั้งนี้ เมืองที่เป็นศูนย์กลางประจำเขตต่างๆ ในภาคตะวันตกของจีนอย่างนครฉงชิ่ง นครเจิ้นโจว จึงต้องแสวงหาช่องทางอื่น นี่คือที่มาที่ไปของเส้นทางรถไฟฉงชิ่ง-ยุโรป และ เจิ้นโจว – ฮัมบูร์กซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ในการขนส่งคาร์โกจากภาคตะวันตกและภาคกลางจีนไปยังยุโรปโดยตรง
เปิดแล้ว!! เส้นทางรถไฟขนส่งข้ามชาติ ฉงชิ่ง -ซินเจียง-ยุโรป และ เจิ้นโจว – ฮัมบูร์ก
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ในฟอรั่ม “โอกาสการพัฒนาของมณฑล/นครภายใต้ความร่วมมือระหว่างจีน-ยุโรป” จัดขึ้น ณ นครฉงชิ่ง ผู้นำจีน-ยุโรปได้พบปะหารือและย้ำความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์จีน-ยุโรปผ่านเส้นทางรถไฟขนส่งข้ามชาติฉงชิ่ง -ซินเจียง-ยุโรป และต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 จีนได้เปิดเส้นทางรถไฟขนส่งข้ามชาติเจิ้นโจว – ฮัมบูร์กอีกเส้นหนึ่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับว่าทั้งสองเส้นทางดังกล่าวเป็นทางเลือกใหม่ในการขนส่งสินค้าไปยังยุโรปจากภาคตะวันตกและภาคกลางจีน
“เส้นทางสายไหมเส้นใหม่” 16 วันถึงยุโรป ร่นเวลา 15-20 วัน ประหยัดต้นทุนด้วย
เส้นทางรถไฟสายฉงชิ่ง -ซินเจียง-ยุโรปมีความยาวทั้งสิ้น 11,179 กม. เชื่อมโยงนครฉงชิ่งกับเมืองดุยซ์บวร์ก เยอรมัน โดยผ่านคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุสและโปแลนด์ เริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญ โดยตลอดระยะทางใช้เวลาเพียง 16 วัน ร่นระยะเวลาเดินทางกว่า 20 วันเมื่อเทียบกับเส้นทางทางทะเล และประหยัดค่าใช้จ่ายถึง 4 ใน 5 เมื่อเทียบกับเส้นทางทางอากาศ ในปี 2555 เส้นทางรถไฟฉงชิ่ง-ซินเจียง-ยุโรปขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับยุโรปรวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3,000 ล้านหยวน
สำหรับเส้นทางรถไฟขนส่งข้ามชาติเจิ้นโจว – ฮัมบูร์ก ในอดีตหากเมืองในภาคกลางของจีนต้องการส่งสินค้าไปยังยุโรป จำเป็นต้องส่งผ่านท่าเรือที่เมืองชิงเต่า (青岛) หรือท่าเรือเมืองเหลียนหยุนกัง (连云港) ซึ่งนอกจากจะมีความไม่สะดวกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการส่งสินค้าแล้ว ยังต้องใช้เวลาในการขนส่งค่อนข้างยาวนานแรมเดือนด้วย หลังจากเส้นทางเจิ้นโจว – ฮัมบูร์กเริ่มเปิดใช้บริการ จากภาคกลางจีนสามารถส่งสินค้าไปยังยุโรปโดยตรงได้ ซึ่งเส้นทางรถไฟเจิ้นโจว – ฮัมบูร์เปรียบเสมือน “เส้นทางสายไหมเส้นใหม่” โดยรถไฟเส้นทางรถไฟขนส่งคาร์โกข้ามชาติเจิ้นโจว – ฮัมบูร์กมีความยาวทั้งสิ้น 10,214 กม. เชื่อมโยงนครเจิ้นโจว มณฑลเหอหนาน กับเมืองฮัมบูร์ก เยอรมัน โดยผ่านคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุสและโปแลนด์ เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าโดยตลอดระยะทางใช้เวลาเพียง 16 – 18 วัน ซึ่งได้ร่นระยะเวลากว่า 15 – 20 วันเมื่อเทียบกับเส้นทางทางทะเล และยังประหยัดค่าใช้จ่ายถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับเส้นทางทางอากาศ หรือลดต้นทุน 2,000 – 3,000 หยวนต่อ 1 ตู้คอนเทนเนอร์เมื่อเทียบกับการขนส่งทางด่วน นอกจากนี้ การขนส่งทางรถไฟยังมีความปลอดภัยมากกว่าการขนส่งทางเรือและอากาศ เนื่องจากมีผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรงน้อยกว่า
ส่งสินค้า “Made in China” ไป ขน “Made in EU” กลับ
ในฐานะมณฑลเหอหนานเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ของภาคกลางจีน เส้นทางรถไฟเจิ้นโจว – ฮัมบูร์กไม่เพียงแต่ขนส่งสินค้าจากมณฑลเหอหนานเพียงมณฑลเดียว โดยรถไฟเจิ้นโจว – ฮัมบูร์กเที่ยวแรกบรรทุกสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ อะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์ สายไหม เสื้อผ้ารองเท้าชั้นดี สิ่งทอผ้าฝ้ายคุณภาพสูง ที่มาจากมณฑลต่างๆ อาทิ มณฑลเหอหนาน มณฑลเจ้อเจียง มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลเจียงซี เป็นต้น ซึ่งบรรจุเต็มทั้ง 41 คอนเทนเนอร์โดยมีน้ำหนักทั้งสิ้น 614 ตัน และมีมูลค่าสินค้าทั้งสิ้น 14.3 ล้านหยวน
ขณะเดียวกัน ในฐานะยุโรปเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน และเพื่อไม่ให้รถไฟวิ่งเปล่าตอนขากลับ รถไฟเจิ้นโจว – ฮัมบูร์กจะขนส่งผลิตภัณฑ์ high-end ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงจากยุโรป อาทิ เครื่องกลไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์สำเร็จรูป อุปกรณ์วิศวกรรม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปยังภาคกลางจีน ซึ่งนักวิเคราะห์เห็นว่า สินค้าที่จีนส่งไปยังยุโรปกับสินค้าที่ยุโรปส่งกลับมาเป็นสินค้าประเภทไม่เหมือนกัน จึงไม่เป็นการแข่งขันโดยตรงทางการค้า และเป็นการส่งออกเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน สินค้าจากภาคตะวันออกที่จีนส่งออกไปยุโรปยังใช้เส้นทางการขนส่งทางทะเลเป็นหลัก โดยขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือรอตเทอร์ดามก่อนแล้วค่อยกระจายไปทั่วยุโรป นอกจากนี้ นักธุรกิจยุโรปใช้เส้นทางฉงชิ่ง-ซินเจียง-ยุโรปน้อยมากเมื่อเทียบกับนักธุรกิจจีน เนื่องจากสินค้าที่จีนนำเข้าจากเยอรมันครองสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของสินค้าที่จีนนำเข้าจากยุโรป ส่วนใหญ่แล้วเป็นรถยนต์ และสินค้าเทคโนโลยีที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งใช้วิธีการขนส่งทางทะเลเป็นหลัก
ผ่านด่านสะดวก เปิด “ไฟเขียว” ตลอดทาง
จากรัฐบาลเจิ้นโจวเริ่มทำการวิจัยและประสานงานกับประเทศต่างๆ จนถึงการเปิดเส้นทางรถไฟเจิ้นโจว – ฮัมบูร์กอย่างเป็นทางการ ใช้ระยะเวลาเพียงครึ่งปี และเพื่อลดขั้นตอนในการผ่านด่านและการตรวจสอบสินค้า สินค้าจะถูกตรวจสอบจากต้นทางที่นครเจิ้นโจวเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นจะไม่มีการตรวจสอบระหว่างทางใดๆ (ยกเว้นกรณีมีสินค้าประเภทพิเศษหรือมีการเกิดโรคระบาด) แล้วจะมีการตรวจสอบผ่านด่านอีกครั้งหลังจากถึงเมืองฮัมบูร์ก
แผนพัฒนาเครือข่ายเส้นทางรถไฟขนส่งข้ามชาติในอนาคต
ช่วง 4 -5 ปีที่ผ่านมา จีนได้เร่งการดำเนินการก่อสร้างระบบรางรถไฟอย่างต่อเนื่อง นอกจากโครงการระบบรางภายในประเทศ และเส้นทางรถไฟข้ามชาติอย่างเช่นรถไฟสายฉงชิ่ง – ซินเจียง – ยุโรปและเจิ้นโจว – ฮัมบูร์กข้างต้นแล้ว ยังรวมถึงเส้นทางรถไฟสายแพนเอเชีย (Pan – Asia Railway) ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟข้ามชาติอีกสายหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่จับตา
สำหรับเส้นทางรถไฟเจิ้นโจว – ฮัมบูร์กดังกล่าวนั้น ภายในปีนี้จะมีการเปิดให้บริการ 6 เที่ยว และตั้งเป้าส่งออกและนำเข้าสินค้ามูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อถึงปี 2557 จะเพิ่มเที่ยวรถไฟถึง 50 เที่ยว เพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งออกและนำเข้าสินค้ามูลค่ามาก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ นครเจิ้นโจวกำลังพิจารณาเปิดเส้นทางรถไฟขนส่งคาร์โกเจิ้นโจว – อัลมาตี เจิ้นโจว – มอสโก และเจิ้นโจว – ไคลเปดาในเวลาที่เหมาะสม
ส่วนโครงข่ายรถไฟสายแพนเอเชียแบ่งได้เป็น 3 สาย ได้แก่
1) สายตะวันออก เริ่มต้นที่นครคุนหมิง ผ่านเมือง เหมิงจื้อ เมืองเหอโขว่ของมณฑลยูนนาน เข้ากรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม แล้วเข้าสู่กรุงพนมเปญของกัมพูชา กรุงเทพฯ ของไทย กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียและปลายทางที่สิงคโปร์
2) สายตะวันตก เริ่มต้นที่นครคุนหมิง ผ่านเมืองต้าหลี่ และเมืองรุ่ยลี่ แล้วเข้าเมืองย่างกุ้งของเมียนมาร์ ต่อไปยังกรุงเทพฯ ของไทย โดยช่วงนครคุนหมิง – เมืองต้าหลี่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
3 )สายกลาง เริ่มต้นที่นครคุนหมิง ผ่านเมืองจิ่งหง มณฑลยูนนาน แล้วเข้าสู่เวียงจันทน์ของลาว และกรุงเทพฯ ของไทย
ปัจจุบัน กรมรถไฟนครคุนหมิงกำลังเร่งการดำเนินการก่อสร้างเส้นทางรถไฟแพนเอเชียสายตะวันตก สำหรับช่วงเหมิงจื้อ – เหอโขว่ของสายตะวันออกซึ่งสร้างเสร็จแล้วร้อยละ 64 และคาดว่าจะสามารถก่อสร้างเสร็จสิ้นได้ภายในปลายปีหน้า เมื่อเหมิงจื้อ – เหอโขว่สร้างเสร็จสิ้น จะสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายระบบรางของเวียดนาม ส่งผลให้ช่วยเพิ่มขีดความสารถการขนส่งสินค้าระหว่างจีน – เวียดนาม ตลอดจนเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศอาเซียนอื่น ๆ ไปด้วย
ในอนาคต ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยเฉพาะมณฑลยูนหนาน จะอาศัยเส้นทางรถไฟแพนเอเชียนี้ก้าวเข้าสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดในประเทศอาเซียน