อุตสาหกรรมไหม : “ช่องว่าง” สำหรับผู้ประกอบการไทยรุกตลาดกว่างซี

21 Nov 2013

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : กว่างซีกำลังรอ ผู้พร้อม(ที่มีศักยภาพ) เข้ามาผลักดันและปฏิรูปโครงสร้างในอุตสาหกรรมหม่อนไหม เติมเต็ม ช่องว่าง ในอุตสาหกรรมปลายน้ำ

กว่างซีเริ่มต้นอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเมื่อ 13 ปีก่อน (ปี 43) จนถึงปัจจุบัน กว่างซีได้ก้าวขึ้นเป็น ฐานอุตสาหกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ที่ใหญ่สุดของประเทศจีนแทนที่มณฑลเจ้อเจียงแล้ว

พื้นที่ที่มีศักยภาพในกว่างซีกระจายตัวอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ของมณฑล (เมืองเหอฉือ นครหนานหนิง เมืองหลายปิน เมืองหลิ่วโจ เมืองกุ้ยก่าง และเมืองไป่เซ่อ) มีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมรวม 853,400 คน

ปีที่ผ่านมา (ปี 55) อุตสาหกรรมไหมของกว่างซีสร้างสถิติอันดับ 1 ของประเทศ รวม 7 รายการ ได้แก่ พื้นที่ปลูกหม่อน ผลผลิตรังไหม ปริมาณการเลี้ยงตัวไหม ผลผลิตรังไหมต่อหนึ่งหน่วยผลิต รายได้เกษตรกร ผลผลิตไหมดิบ และผลผลิตเห็ดซึ่งเป็นผลิตผลพลอยได้จากกิ่งหม่อน

จากข้อมูล พบว่า กว่างซีมีพื้นที่ปลูกหม่อน 2.627 ล้านหมู่จีน (ราว ๆ 1.09 ล้านไร่) ได้ผลผลิตรังไหม 315,700 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 45 ของทั้งประเทศ) และได้ผลผลิตเส้นไหม 28,800 ตัน

นายปี้ ลี่ จวิน (Bi Li Jun, 闭立辉) หัวหน้าฝ่ายงานวิจัยวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์เผยแพร่เทคโนโลยีอุตสาหกรรมไหมาเขตฯ กว่างซีจ้วง กล่าวว่า กว่างซีประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาผลผลิต รังไหมสี จากตัวไหม

งานวิจัย รังไหมสี ของกว่างซีเริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 จนถึงปัจจุบัน กว่างซีประสบความสำเร็จในการผลิตรังไหมหลากหลายสีสัน (เช่น เหลืองทอง ชมพู เขียว ฯลฯ) โดยเฉพาะรังไหมสีเหลืองทองได้ผ่านการรับรองในระดับมณฑล และมีการพัฒนาจาก ห้องทดลอง สู่ สายการผลิต เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รังไหมสี เป็นสีธรรมชาติซึ่งผลิตได้จากตัวไหม โดยที่ไม่ต้องผ่านกรรมวิธีการย้อมด้วยฝีมือแรงงาน โดยใช้เทคนิคการพัฒนาคุณลักษณะพิเศษของตัวไหม (การทำปฏิกิริยาของลูทีน (Lutein) ทำให้ไหมเปลี่ยนสี) ซึ่งผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากรังไหมสียังดีต่อสุขภาพ (ปลอดสารเคมีจากการย้อมสี) และมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นายปี้ฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน กว่างซีกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดลองจอห์น (Thermal Underwear) ด้วยเส้นไหมสีธรรมชาติ แต่ต้องหาทางแก้ไขอุปสรรคในเรื่องของต้นทุนการผลิตเสียก่อน เนื่องจากต้นทุนอยู่ที่ชุดละประมาณหนึ่งพันหยวน

กว่างซียังมีการส่งเสริมพัฒนาเทคนิค รังผึ้ง สำหรับเลี้ยงไหม เปรียบเสมือนการสร้างคอนโดมิเนียม ห้องสตูดิโอ สำหรับตัวไหม เทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน (ลดการสิ้นเปลืองแรงงาน) อีกทั้ง รังไหมที่ได้ยังมีคุณภาพดีเยี่ยม

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ ผลิตผลพลอยได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เช่น การเพาะเห็ดจากกิ่งหม่อน ปี 55 กว่างซีเพาะเห็ดจากกิ่งหม่อน 100 ล้านท่อน ได้ผลผลิตเห็ดกว่า 40,000 ตัน สร้างมูลค่าการผลิตราว 440 ล้านหยวน

แม้ว่าการใช้ประโยชน์จากกิ่งหม่อนเพื่อเพาะเห็ดคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 ของปริมาณกิ่งหม่อนทั้งหมดก็ตาม (ปีหนึ่งๆ กว่างซีมีปริมาณผลผลิตกิ่งหม่อน 2.5 ล้านตัน (เท่ากับพื้นที่ป่าไม้ 1.04 แสนไร่)

นอกจากนี้ ยังมีผลิตผลพลอยได้ในรูปของพลังงานไฟฟ้า (จากการเผากิ่งหม่อน) และการผลิตปุ๋ยจากมูลไหมและเศษขี้เถ้าของกิ่งหม่อนที่ใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

จึงกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนตัวจริงเสียงจริง

BIC เห็นว่า กว่างซียังมี จุดอ่อน ในอุตสาหกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตลอดระยะเวลา 13 ปีของการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว ดูเหมือนกว่างซียังก้าวไปไม่ไกลเท่าไหร่นัก สะท้อนให้เห็นจากโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ยังเป็น อุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่เน้นการผลิตเชิงวัตถุดิบเป็นหลัก (การผลิตเส้นใย และการปั่นด้าย)

โครงสร้างดังกล่าวส่งผลให้เกิดช่องว่างด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงลึก ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ (Economic Value Added) ที่สูงกว่า

BIC เห็นว่า ประเด็นที่นำเสนอข้างต้นอาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจไทยที่มีความศักยภาพความพร้อมที่จะเข้ามาเติมเต็มส่วนขาดดังกล่าว

ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีความสนใจจะต้องศึกษาข้อมูล รู้จักปรับตัว วางกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด  คิดต่างสร้างมูลค่า และอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยสำคัญ เพื่อสร้างแรงแข่งขันให้กับธุรกิจของตนเอง

นักลงทุนต้องปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะจีนในวันนี้ สิ้นยุคของถูกค่าแรงถูก ไปนานแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ยักษ์ใหญ่ด้านเสื้อผ้ากีฬาอย่าง Nike และ Adidas ต่างก็ถอยทัพออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อแสวงหาประเทศค่าแรงถูกอื่น ๆ

อีกประเด็น คือ การลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่นักลงทุนต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทรัพยากรในท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำตาลหรืออุตสาหกรรมไหมในกว่างซี เนื่องจากกว่างซีเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อยและการปลูกหม่อนไหมรายใหญ่ของประเทศจีน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน