อุตสาหกรรมน้ำตาลจีนเข้าขั้นวิกฤต ทุกฝ่ายเร่งหาทางออก

31 Aug 2013

สำนักข่าวซินหัว : สถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงอยู่ในภาวะ ย่ำแย่ ต่อเนื่อง

ช่วงหน้าร้อนของทุกปี อุณหภูมิที่ร้อนจัดส่งผลให้ความต้องการบริโภคเครื่องดื่มดับกระหายพุ่งสูงขึ้น จึงถูกมองว่าน่าเป็นช่วงที่มีการบริโภคน้ำตาลมากที่สุด ทว่า การบริโภคน้ำตาลของอุตสาหกรรมน้ำตาลปลายน้ำ (ธุรกิจเครื่องดื่ม) กลับไม่ได้พุ่งสูงขึ้นแต่อย่างใด

ขณะนี้ ฤดูร้อนกำลังจะผ่านพ้นไป ทุกฝ่ายต่างคาดหมายว่า ความต้องการสำรองน้ำตาลในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์และช่วงวันชาติจีนกำลังจะมาถึงจะช่วยให้ตลาดน้ำตาลในประเทศฟื้นตัวกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง ทว่า สถานการณ์กลับยังคงซบเซาอยู่อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน ราคาซื้อขายน้ำตาลทันทีในแหล่งผลิตน้ำตาลในประเทศ (Spot Price) อยู่ที่ประมาณตันละ 5,400 หยวน

นายจาน เซียว (Zhan Xiao, 詹啸) นักวิเคราะห์ตลาดซื้อขายล่วงหน้ารายหนึ่ง ชี้ว่า สาเหตุที่ความต้องการบริโภคน้ำตาลสูงสุดในช่วงฤดูร้อนตกอยู่ในภาวะซบเซา สะท้อนให้เห็นว่า การผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำขาดแรงหนุน (ธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศไม่ได้ขยายกำลังการผลิตในช่วงหน้าร้อน) โดยส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงประเด็นความปลอดภัยทางด้านอาหาร

กว่างซีถือเป็นฐานการผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ

สถานการณ์ความต้องการบริโภคน้ำตาลส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตน้ำตาล บริษัท Nanning Sugar (南宁糖业) หนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศจีน รายงานว่า ช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ (ปี 56) บริษัทฯ ขาดทุนจากกำไรสุทธิ 119 หยวน ลดลงสูงถึงร้อยละ 268.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นักวิเคราะห์คาดหมายว่า ช่วงฤดูกาลผลิตปี 55/56 น่าจะมีผู้ผลิตน้ำตาลในกว่างซีกว่าร้อยละ 60 ประสบปัญหาขาดทุน

นายหนง กวาง (Nong Guang, 农光) ประธานสมาคมธุรกิจน้ำตาลกว่างซี (Guangxi Sugar Association, 广西糖业协会) คาดหมายว่า ฤดูกาลผลิตนี้จะธุรกิจน้ำตาลกว่างซีจะมีผลขาดทุนราว ๆ 3,000 ล้านหยวน

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่า ฤดูกาลผลิตปี 55/56 ผู้ผลิตในมณฑลยูนนานกว่า 2/3 ต้องประสบปัญหาขาดทุน ผู้ผลิตในมณฑลไห่หนานและมณฑลเฮยหลงเจียงเองก็หนี้ไม่พ้นผลขาดทุนเช่นเดียวกัน

ระหว่างปี 49-51 อุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศเคยตกอยู่ในภาวะตกต่ำมาแล้วครั้งหนึ่ง ทว่า ทุกฝ่ายต่างคาดหมายว่าตลาดน้ำตาลในอนาคตจะกลับมาสดใสเป็นแน่

ต่อมาระหว่างปี 51-53 สภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลกส่งผลให้รอบเวลาการผลิตน้ำตาลทั้งในและต่างประเทศลดลง ทำให้ปริมาณผลผลิตไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ (อุปสงค์เกินดุล) ราคาน้ำตาลจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ผู้ผลิตจึงได้รับผลกำไรพอควร

จนกระทั่งเมื่อฤดูกาลผลิตก่อนหน้า (ฤดูกาลผลิตปี 54/55) เป็นต้นมา สถานการณ์ราคาน้ำตาลของตลาดในและต่างประเทศเริ่มดิ่งลง ผู้ผลิตในประเทศเริ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความผันผวนอีกครั้ง

นักวิชาการ ชี้ว่า ปัญหาที่อุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศจีนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ การทะลักเข้าของน้ำตาลจากต่างประเทศ เนื่องจากศักยภาพแรงงานในการปลูกอ้อยและการใช้ประโยชน์จากที่ดินอยู่ในเกณฑ์ต่ำ รวมทั้งมูลค่าเพิ่มต่อหน่วยการผลิตไม่สามารถเทียบเคียงกับประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิลและอินเดีย ส่งผลให้ธุรกิจน้ำตาลในประเทศกำลังก้าวเข้าสู่ขั้นวิกฤต

ข้อมูลจากสมาคมธุรกิจน้ำตาลจีน พบว่า ช่วง 2 ปีมานี้ จีนกำลังหลับหูหลับตาขยายศักยภาพการผลิตน้ำตาลดิบ (Raw Sugar) ศักยภาพการแปรรูปน้ำตาลดิบเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านในปี 53 เป็นเกือบ 7 ล้านตัน อีกทั้ง ยังมีผู้ผลิตรายใหม่ที่กำลังวางแผนลงทุนแปรรูปน้ำตาลดิบเพิ่มอีก

นายเซียว หลิง (Xiao Ling, 肖凌) ประธานสมาคมธุรกิจน้ำตาลนครหนานหนิง กล่าวว่า การหันมาเน้นผลิตน้ำตาลดิบมากขึ้นส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลสำเร็จลดลง ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับน้ำตาลนำเข้าที่จะช่วยตอบสนองความต้องการดังกล่าว

นักวิชาการบางส่วน ชี้ว่า สาเหตุที่อุตสาหกรรมน้ำตาลจีนขาดแรงแข่งขันเป็นผลจากการขาดแคลนพันธุ์อ้อยชั้นดี ระบบชลประทานที่ล้าสมัย และปัจจัยข้อจำกัดทางธรรมชาติ ส่งผลให้ต้นทุนการปลูกอ้อยในประเทศสูงกว่าในต่างประเทศอยู่มาก

ต้นทุนอ้อยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของต้นทุนการผลิตน้ำตาล ปัจจุบัน ราคารับซื้ออ้อยในแหล่งผลิตในประเทศอยู่ที่ตันละกว่า 450 หยวน ทว่า ต้นทุนอ้อยในบราซิลและอินเดียอยู่ที่ไม่เกินตันละ 300 หยวนเท่านั้น

นายจาน เซียว (Zhan Xiao, 詹啸) นักวิเคราะห์ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาว่า ภาครัฐจะต้องดำเนินมาตรการให้เงินอุดหนุนสำหรับเกษตรกร ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำลดลงเป็นลูกโซ่ตามไปด้วย

ขณะที่ นักวิชาการบางส่วนเห็นว่า แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน ทุกฝ่ายควรปฏิรูปรระบบริหารจัดการและดำเนินนโยบายการรวมที่ดิน เร่งพัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่ไร่อ้อย ผลักดันการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรภาคการผลิตอ้อย และการวิจัยพัฒนาพันธุ์อ้อย

ยกตัวอย่างเช่น เมืองฉงจั่ว (Chongzuo City, 崇左市) เมืองที่มีการปลูกอ้อยมากที่สุดของกว่างซีและประเทศจีน หลังจากที่ได้ดำเนินนโยบายรวมที่ดินช่วยให้ระบบบริหารจัดการทำได้อย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรเกษตร และมีการปรับปรุงระบบชลประทาน  ทำให้ผลผลิตอ้อยโดยเฉลี่ยต่อหน่วยได้มากกว่า 6.5 ตันต่อหมู่จีน (เพิ่มสูงขึ้นจาก 2 ปีก่อนมากกว่า 2 ตัน) ผลผลิตสูงสุดอาจได้มากถึง 11 ตัน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน