อาเซียนเนื้อหอม – สิ่งทอจีนลุยสร้างโรงงานในต่างประเทศ
15 Aug 2013ปัจจุบัน อุตสาหกรรมสิ่งทอของจีนกำลังพบอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ใหญ่หลวง อาทิ ต้นทุนแรงงานและราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานจากรัฐบาลค่อนข้างยาก เป็นต้น ซึ่งทำให้บริษัทสิ่งทอจีนกำลังหาทางออกเพื่อหลุดออกจากภาวะที่ซบเซาในปัจจุบัน โดยมีบริษัทสิ่งทอหลายแห่งได้ ”ก้าวออกไปต่างประเทศ” เพื่อแสวงหาความได้เปรียบด้านต้นทุนและเลี่ยงปัญหากฎระเบียบที่เข้มงวดของจีน
นายหวัง เทียไข่ นายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอจีนได้ระบุว่า ถ้าเปรียบเทียบกับอาเซียน ปัจจุบันพบว่า ต้นทุนแรงงานของอุตสาหกรรมสิ่งทอในจีนสูงกว่าอาเซียน 1-3 เท่า และต้นทุนด้านวัตถุดิบฝ้ายของจีนก็สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 นอกจากนั้น สิ่งทอจากอาเซียนยังได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษด้านภาษีอากรจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น สินค้าสิ่งทอที่คุณภาพระดับกลางและระดับต่ำที่ผลิตในจีนมีศักยภาพการแข่งขันที่ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างอาเซียน บริษัทสิ่งทอของจีนที่ ”ก้าวออกไปต่างประเทศ” เพื่อปรับกลยุทธ์ ค้นหาฐานผลิตที่มีต้นทุนต่ำ พัฒนาภาพลักษณ์ของแบรนด์เนม ตลอดจนขยายตลาดใหม่นั้น ครอบคลุมธุรกิจผ้าฝ้าย ธุรกิจสิ่งทอที่ถักด้วยเข็ม ธุรกิจสิ่งทอขนสัตว์ ธุรกิจสิ่งทอใยสังเคราะห์ ธุรกิจเสื้อผ้า ธุรกิจสิ่งทอที่ใช้ในบ้าน ธุรกิจเครื่องจักรด้านสิ่งทอ เป็นต้น
บริษัท Hodo ซึ่งเป็นบริษัทสิ่งทอที่มีชื่อเสียงของจีน เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีพื้นที่ทั้งสิ้น 11.13 ตารางกิโลเมตร และเป็นฐานการแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออกของบริษัทสิ่งทอ บริษัทเครื่องจักรและบริษัทเครื่องไฟฟ้าในบ้านของจีน เงินเดือนเฉลี่ยในนิคมอุตสาหกรรมท่าเรือสีหนุวิลล์อยู่ที่ราว 100 ดอลลาร์สรอ. ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับเงินเดือนเฉลี่ยของเซี่ยงไฮ้ที่เท่ากับ 439 ดอลลาร์สรอ.นอกจากนี้ บริษัทที่ก่อสร้างโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวยังได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษด้านราคาโรงงานและราคาที่ดิน รวมทั้งปลดภาษีการใช้ที่ดินด้วย
บริษัท Texhong ซึ่งเป็นบริษัทสิ่งทอเอกชนที่มีชื่อเสียงของจีนอีกแห่งหนึ่งได้วางแผน ”ก้าวออกไปทั่วโลก”ตั้งแต่ปี 2551 โดยได้ลงทุนทั้งสิ้นกว่า 400 ล้านดอลลาร์สรอ.เพื่อก่อสร้างโรงงานสิ่งทอที่ประเทศเวียดนาม ตามนโยบายการสำรองฝ้ายของจีน ซึ่งรัฐบาลจีนได้กำหนดราคาการซื้อฝ้ายสำรอง สูงกว่าราคาฝ้ายในตลาดโลก ในปี 2555 บริษัทสิ่งทอในจีนต่างได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาฝ้ายที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดจีน แต่บริษัท Texhong ได้รับกำไรเพิ่มมากขึ้น 7 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ซึ่งเกิดจากบริษัท Texhong ได้ต้นทุนฝ้ายราคาถูกในตลาดเวียดนาม
ตั้งแต่ปี 2554 EU ได้ดำเนินนโยบาย Generalized System of Preferences (GSP) กับสินค้าสิ่งทอบางส่วนที่นำเข้าจากประเทศอาเซียน โดยปลดภาษีศุลกากร แต่ในขณะเดียวกัน EU ยังเรียกเก็บภาษีอากรร้อยละ 12 จากเสื้อผ้าที่นำเข้าจากจีน
แม้บริษัทสิ่งทอจีนที่ลงทุนในประเทศอาเซียนได้รับความได้เปรียบหลายอย่าง แต่ก็พบปัญหาและอุปสรรคมากมาย อาทิ ผู้บริหารของบริษัท Shenzhou ที่ลงทุนก่อสร้างโรงงานที่ประเทศกัมพูชาระบุว่า สาธารณูปโภคและอุปกรณ์พื้นฐานของประเทศกัมพูชายังต้องพัฒนาอีกมาก ต้นทุนด้านการโทรคมนาคมสูง แรงงานท้องถิ่นขาดประสบการณ์และยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร นอกจากนี้ ผู้บริหารของบริษัทสิ่งทอที่ลงทุนในต่างประเทศต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในท้องถิ่นเพื่อก่อสร้างความสัมพันธ์ทีดีกับรัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทต่างๆ อย่างไรก็ดี การที่บริษัทสิ่งทอจีนมุ่งก่อสร้างโรงงานที่ต่างประเทศจะเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต ซึ่งก็อาจเป็นโอกาสสำหรับไทยที่ดึงดูดการลงทุนจากจีนด้วย