อาเซียนครองแชมป์คู่ค้าสำคัญของฝูเจี้ยนต่อเนื่อง
9 Aug 20139 ส.ค. 56 (www.ce.cn) – รายงานข่าวอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานศุลกากร เมืองเซี่ยเหมิน ระบุว่า อาเซียนยังเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของมณฑลฝูเจี้ยน เป็นโดยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 การค้าต่างประเทศระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนและอาเซียนมีมูลค่ารวม 12,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 23.8 แบ่งเป็นมณฑลฝูเจี้ยนส่งออก 8,310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 นำเข้า 3,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ทั้งนี้ ในบรรดาประเทศในอาเซียน มาเลเซียเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของฝูเจี้ยน โดยมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกรวม 2,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51
เมื่อแยกกลุ่มประเภทผู้นำเข้าและส่งออกดังกล่าว พบว่า ผู้ประกอบการเอกชนจีนทำยอดการนำเข้าและส่งออกสินค้าเป็นมูลค่าถึง 6,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.6 บริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในฝูเจี้ยนทำมูลค่าการค้าได้ 3,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และรัฐวิสาหกิจจีน 2,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1
ประเภทสินค้าสำคัญที่มณฑลฝูเจี้ยนนำเข้าจากอาเซียน ได้แก่
– สินค้าเครื่องจักรกลไฟฟ้า นำเข้าเป็นมูลค่า 980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.4
– ถ่านหิน นำเข้าเป็นมูลค่า 610 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1
– สินค้าเกษตร นำเข้าเป็นมูลค่า 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34
ประเภทสินค้าสำคัญที่มณฑลฝูเจี้ยนส่งออกไปอาเซียน ได้แก่
– สินค้าเครื่องจักรกลไฟฟ้า ส่งออกเป็นมูลค่า 2,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12
– สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่งออกเป็นมูลค่า 1,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.4
– สินค้าเกษตร ส่งออกเป็นมูลค่า 1,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7
การค้าระหว่างประเทศระหว่างจีนกับอาเซียนได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการลงนามความร่วมมือการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement) ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยปัจจุบันมีการเปิดเสรีการค้าสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เริ่มต้นด้วยการลดภาษีผักผลไม้ระหว่างกันตั้งแต่ตุลาคม 2546 และทยอยเปิดเสรีสินค้าอื่น ๆ เพิ่มเติมตามลำดับ โดยนับตั้งแต่ปี 2553 อาเซียนกับจีนได้ยกเลิกภาษีระหว่างกันกว่าร้อยละ 90 ของประเภทรายการสินค้าทั้งหมด
ทั้งนี้ หากผู้นำเข้าและส่งออกต้องการใช้สิทธิประโยชน์จากความร่วมมือเขตการค้าเสรีดังกล่าวจะต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด (Certificate of Origin) “Form E” ซึ่งออกเพื่อรับรองว่าสินค้านั้นมีกำเนิดหรือผ่านกระบวนการผลิตในประเทศของตน ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน และประเทศจีน โดยหนังสือนี้จะใช้เพื่อขอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร ในการนำเข้าสินค้า เช่น ขอลดภาษี จาก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็น 15, 10, 5 หรือ 0% เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขึ้นอยูกับข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้กับหน่วยงานศุลกากรของจีน ซึ่งจะลดภาษีนำเข้าให้กับสินค้าที่มาจากอาเซียนและไทย ตามกรอบ ACFTA หากมี “เอกสาร Form E” แนบมากับสินค้าด้วย
เอกสาร Form E จึงนับเป็นเครื่องชี้วัดสำคัญในการประเมินการใช้สิทธิขอลดภาษีฯ ภายใต้กรอบ FTA ฉบับนี้ กรณีของไทยมีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบในการออก Form E โดยจะคิดค่าธรรมเนียมการออก Form E ใบละ 30 บาท ส่วนหน่วยงานจีนที่รับผิดชอบในการออก Form E คือ General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantineซึ่งมีสำนักงานในสังกัดที่เรียกว่า China Inspection and Quarantine Bureau ซึ่งตั้งอยู่ตามมณฑลต่าง ๆ เป็นหน่วยงานปฏิบัติ และจะคิดค่าธรรมเนียมการออก Form E ใบละ 40 หยวน