หนานหนิงโปรโมท “จงกวนชุน” แพลตฟอร์มธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรมจีน-อาเซียน

11 Jun 2018

      นครหนานหนิงเร่งประชาสัมพันธ์ “ฐานสาธิตธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรมจงกวนชุนนครหนานหนิง” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านตัวแทนสื่อมวลชนอาเซียน โดยฐานสาธิตแห่งนี้ได้รับการวางยุทธศาสตร์ (positioning) ให้เป็นแพลตฟอร์มที่จีนใช้พัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรมกับอาเซียน

      เมื่อวันที่ 2527 พฤษภาคม 2561 นครหนานหนิง จัดให้ทีมผู้สื่อข่าวจากอาเซียน (รวมถึง MCOT ไทย) เดินทางเยี่ยมชมฐานสาธิตธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรมจงกวนชุนนครหนานหนิง (Nanning – Zhongguancun Mass Entrepreneurship & Innovation Demonstration Base/南宁中关村双创示范基地) และพบปะกับธุรกิจหลายรายในฐานสาธิตฯ โดยตัวแทนสื่อต่างชื่นชมความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

      จุดเด่นทางภูมิศาสตร์ของนครหนานหนิง ในฐานะเมืองเอก (ของมณฑล) ที่ตั้งอยู่ใกล้อาเซียนมากที่สุด และเป็นเมืองข้อต่อสำคัญบนยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) หลายปีมานี้ นครหนานหนิงมุ่งดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาให้นครหนานหนิงเป็นพื้นที่นวัตกรรมมุ่งสู่อาเซียน และส่งเสริมความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

      ทางการหนานหนิงได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรมของนครหนานหนิงในปี 2560 ดังนี้

  •   นครหนานหนิงมีธุรกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูง 451 ราย คิดเป็น 1/3 ของทั้งกว่างซี คาดว่าการผลิตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงจะมีมูลค่า 76,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15%
  •   บริษัท Alanan (南南铝) ผู้ผลิตวัสดุอลูมิเนียมท้องถิ่นในนครหนานหนิงได้ก้าวสู่แวดวงธุรกิจแปรรูปวัสดุอลูมิเนียมขั้นสูงของโลก (วัสดุอลูมิเนียมที่ใช้ในอากาศยานและอวกาศ รวมถึงรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟความเร็วสูง)
  •   จัดตั้งฐานความร่วมด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนานาชาติเพิ่มใหม่อีก 15 แห่ง (สถานที่ที่ได้รับการรับรองจากเทศบาลนครหนานหนิงให้เป็นแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับต่างประเทศ)
  •   วิทยาลัยหนานหนิง (Nanning University/南宁学院) และบริษัท iFLYTEK (科大讯飞公司) ได้ร่วมกันจัดตั้ง “วิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์ (AI)” เป็นที่แรกในกว่างซี
  •   จัดตั้งโครงการอบรมศูนย์บ่มเพาะ (Incubator)[1] สำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีระดับชาติเพิ่มใหม่อีก 2 แห่ง และพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีระดับชาติ (Makerspace)[2] 3 แห่ง
  •   จัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดผลงานทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจีน-อิสราเอล (中国以色列科技成果(南宁)交流转化中心) ในจงกวนชุนนครหนานหนิง
  •   เขตไฮเทคนครหนานหนิง (Nanning New & Hi-tech Industrial Development Zone/南宁高新区) เป็นฐานสาธิตธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรมระดับชาติที่แรกของกว่างซี

          ฐานสาธิตฯ จงกวนชุนนครหนานหนิง เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นพื้นที่รวมตัวของธุรกิจ/อุตสาหกรม 4 สาขา คือ การผลิตอัจฉริยะ เทคโนโลยีสารสนเทศรุ่นใหม่ สุขภาพ และการบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีธุรกิจเข้าจัดตั้งกิจการแล้ว 45 ราย ผู้รับการบ่มเพาะด้านนวัตกรรม 66 ทีม ธุรกิจประเภทซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ (OTC Bulletin Board) 1 ราย  ธุรกิจกว่างซีที่ธนาคารประเมินว่าเป็นธุรกิจไฮเทคที่มีศักยภาพการพัฒนาแบบก้าวกระโดด 1 ราย และธุรกิจไฮเทค 6 ราย

          ทั้งนี้ ธุรกิจที่เข้ามาจัดตั้งในฐานสาธิตแห่งนี้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวม 265 รายการ

            นอกจากนี้ ธุรกิจหลายรายในฐานสาธิตฯ มีความร่วมมือทางธุรกิจกับชาติอาเซียน ทั้งในไทยและ สปป. ลาว อาทิ บริษัท Shanghai MJ Intelligent System (上海名匠智能系统有限公司) ผู้พัฒนาระบบอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์อัจฉริยะกับบริษัท TTC Group ย่านนนทบุรีของไทย และบริษัท JJR (广西捷佳润科技有限公司) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีการเกษตรได้ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีใน สปป. ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

นายฟู่ รุ่ยปิน (Fu Ruibin/傅瑞彬) รองผู้จัดการใหญ่บริษัท Guangxi Shengyao Aviation Technology (广西圣尧航空科技有限公司) ให้ข้อมูลว่า ตนเพิ่งมีโอกาสไปเข้าร่วมงาน Startup Thailand 2018 และได้ตัดสินใจร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทย (BOI) โดยวางแผนจะจัดตั้งสาขาในประเทศไทย และนำเทคโนโลยี “โดรน” หรืออากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่มีความทันสมัยไปเจาะตลาดอาเซียน

เจ้าหน้าที่ฐานสาธิตฯ กล่าวว่า เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ฐานสาธิตแห่งนี้เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมที่สำคัญระหว่างจีน-อาเซียน คาดหมายว่า ภายในเวลา 5 ปี จะสามารถดึงดูดและบ่มเพาะธุรกิจได้ราว 300 ราย มีสมรรถนะการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจนเพิ่มขึ้น เป็นพื้นที่นำร่องสำคัญด้านนวัตกรรมของพื้นที่จีนตอนล่างและจีนตะวันตก และพื้นที่นำร่องด้านนวัตกรรมที่มุ่งสู่อาเซียน

ผู้สื่อข่าว MCOT ไทย กล่าวว่า นครหนานหนิงเป็นเมืองหน้าด่านและเมืองศูนย์กลางที่จีนใช้เพื่อพัฒนาความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกกับอาเซียน จึงมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ หลายปีที่ผ่านมา นครหนานหนิงมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ และเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งนี้ หวังว่า นครหนานหนิงกับประเทศไทยจะพัฒนาโครงการความร่วมมือร่วมกันระหว่างมากขึ้น

 

คำอธิบายเพิ่มเติม

      [1] อินคิวเบเตอร์ (Incubator) โครงการอบรม/ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพคล้ายกับ Boost Camp ที่มีพี่เลี้ยงคอยช่วยกลุ่มสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการสร้างธุรกิจตั้งแต่ระยะตั้งต้น เช่น พัฒนาไอเดียดีๆ ให้เป็นธุรกิจที่เติบโตได้ บางรายจะจัด Coworking Space ให้กับโครงการบ่มเพาะให้ชาวสตาร์ทอัพเข้าแลกเปลี่ยน ทำงาน และพัฒนาธุรกิจร่วมกัน (ที่มา https://themomentum.co)

       [2] เมกเกอร์สเปซ (Makerspace) คือ พื้นที่ของคนสร้างสรรค์ในการสร้างชิ้นงานต้นแบบ ภายใน Makerspace จะเต็มไปด้วยเครื่องมือ และอุปกรณ์มากมายที่นักประดิษฐ์สามารถหยิบใช้ได้ รวมถึงหากคุณเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่สานฝันให้เป็นจริงไม่ได้ Makerspace ก็มีผู้เชี่ยวชาญช่วยแนะนำ หรือสร้างชิ้นงานให้คุณ (ที่มา www.smartsme.co.th)

 

 

 

ลิงก์ข่าว

สวนวิทยาศาสตร์จงกวนชุนนครหนานหนิง” จุดเริ่มต้นของกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรม (9 พ.ค 2561)

-นครหนานหนิงนำร่องเทคโนโลยี 5G ของประเทศจีน (2 .. 2561)

หนานหนิง เป๋ยไห่ กุ้ยหลิน เมืองยุทธศาสตร์การลงทุนในอุตสาหกรรมไอที (8 .. 2560)

 

จัดทำโดย นายชิว เจียเหว่ย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

แหล่งที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2561

ภาพประกอบ https://www.pexels.com/

จงกวนชุนธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรมจีน-อาเซียน

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน