หนานหนิงเปิด “ศูนย์พิเศษ” ดูแลนักลงทุนฮ่องกง มาเก๊า สถานกงสุลไทยดัน “อาเซียน แพกเกจ” สนับสนุนนักลงทุนไทย

10 Apr 2013

เว็บไซต์ข่าวอ่าวเป่ยปู้ : นครหนานหนิงเปิด ศูนย์บริการวิสาหกิจ(ฮ่องกง มาเก๊า) CEPA” เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและพัฒนาความร่วมมือเชิงลึกด้านการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ฝ่าย

เมื่อเดือนเมษายน 2554 กระทรวงพาณิชย์จีนอนุมัติให้นครหนานหนิงเป็นเมืองนำร่อง ชุดที่ 2ภายใต้กรอบข้อตกลง CEPA (Closer Economic Partnership Arrangement) หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจจีน-ฮ่องกง

นโยบายดังกล่าวช่วยดึงดูดให้นักธุรกิจจากฮ่องกงและมาเก๊าเดินทางเข้ามาลงทุนในนครหนานหนิงคิดเป็นเม็ดเงินมหาศาล

ศูนย์บริการดังกล่าว เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมการลงทุนนครหนานหนิง (Nanning Investment Promotion Bureau, 南宁市投资促进局) และสำนักงานพาณิชย์นครหนานหนิง มีหน้าที่หลัก ดังนี้

1)
เจรจาและผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของวิสาหกิจฮ่องกงมาเก๊า

2)
ไกล่เกลี่ยและแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าโครงการลงทุนต่างๆ

3)
ให้คำปรึกษาด้านนโยบายพิเศษสำหรับนักลงทุนฮ่องกงมาเก๊า

4)
ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ และสนับสนุนบริการที่มีความกระชับรวดเร็ว (ลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ)

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ระหว่างปี 2552-2555 นครหนานหนิงมีนักลงทุนนอกแผ่นดินใหญ่เข้ามาลงทุน 223 ราย มูลค่าเงินลงทุนตามสัญญา 1,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเม็ดเงินลงทุนจริง 1,594 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในจำนวนข้างต้น เป็นวิสาหกิจจากฮ่องกง 124 ราย (สัดส่วนร้อยละ 55.6) มูลค่าเงินลงทุนตามสัญญา 1,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 74.2) มูลค่าเงินลงทุนจริง 840 ล้านดอลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 56.7)

จึงกล่าวได้ว่า ฮ่องกง เป็นแหล่งเงินทุนนอกแผ่นดินใหญ่รายใหญ่ที่สุดของนครหนานหนิง รวมถึงเขตฯ กว่างซีจ้วง (อันดับรองลงมา คือ นักลงทุนจากไต้หวัน)

สาขาธุรกิจที่ชาวฮ่องกงนิยมลงทุนในนครหนานหนิง ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคการผลิต ภาคโลจิสติกส์ ภาคที่อยู่อาศัย และร้านอาหารเครื่องดื่ม

ทั้งนี้ คาดว่า การพัฒนากรอบความร่วมมือ CEPA ด้านการจัดงานนิทรรศการ การแพทย์ การท่องเที่ยว และการศึกษา จะทำให้นักธุรกิจฮ่องกงขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ปีนี้ นครหนานหนิง จะเน้นสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจฮ่องกงในภาคอุตสาหกรรม 3 สาขา ได้แก่

1) อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป : แปรรูปอาหาร อิเล็กทรอนิกส์

2) อุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ : ธุรกิจการค้า โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว วิจัย และบริการให้คำปรึกษา

3) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ : ข้อมูล IT การผลิตยาชีวภาพ พลังงานใหม่ และวัสดุใหม่

BIC ขอเรียนว่า ตลอดหลายเดือนมานี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ได้เสนอกับหน่วยงานภาครัฐของกว่างซีในโอกาสต่างๆ ให้ออก แพกเกจพิเศษสำหรับผู้ประกอบการอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอาเซียน รวมถึงไทย มาทำธุรกิจในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น

มาตรการที่อยู่ในแพกเกจควรเป็นไปอย่างหลากหลายและครอบคลุมในทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ อาทิ การมีหน่วยงานเฉพาะในการช่วยเหลือเรื่องการจดทะเบียน/ทุนจดทะเบียน การผ่อนคลายกฎระเบียบว่าด้วยใบอนุญาตทำงาน การให้สินเชื่อ และการเปิดบัญชี/โอนเงินกลับประเทศ ตลอดจนการจัดตั้งเลนสินค้าอาเซียน (ASEAN Lane) เพื่ออำนวยความสะดวกการผ่านแดนของสินค้าอาเซียน ณ ด่านต่างๆ ของกว่างซี

การเสนอให้ทางการจีนออกแพกเกจข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อลด ต้นทุน และ ความเสี่ยง ในการมาทำธุรกิจในกว่างซีของผู้ประกอบการไทย ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่มาตรการสนับสนุนธุรกิจต่างชาติที่กว่างซีมีอยู่แล้วเป็นไปในลักษณะแยกส่วนกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ

ในเบื้องต้น ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐของกว่างซีที่กงสุลใหญ่ฯ หยิบยกข้อเสนอว่าด้วยแพกเกจฯ ขึ้นหารือด้วย เห็นประโยชน์ของการมีแพกเกจดังกล่าว และรับจะผลักดันตามขอบเขตอำนาจที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ รวมถึงการจัดทำข้อเสนอพร้อมความเห็นให้รัฐบาลกว่างซี ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่า การพิจารณาคงต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากมีหลายหน่วยงานของจีน ทั้งในระดับรัฐบาลกลาง มณฑล และระดับเมือง เกี่ยวข้องกับมาตรการที่ระบุไว้ในแพกเกจฯ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน