ส่องเทรนด์กว่างซี : หุ่นยนต์อุตสาหกรรม โอกาสตลาดบนสังเวียนธุรกิจจีน
17 Aug 2018รัฐบาลกว่างซีมุ่งพัฒนาให้ “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์” เป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (Emerging Industry) ที่สำคัญของมณฑลภายใน 5 ปี โดยมี “นครหนานหนิง” เป็นพื้นที่การพัฒนาหลัก
ไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศ “แผนพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 ระยะ 5 ปี (ปี 2559-2563)” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในมณฑล
ความน่าสนใจของแผนพัฒนาฯ มีดังนี้
- นครหนานหนิง มีเขตไฮเทคนครหนานหนิง (Nanning New & Hi-tech Industrial Development Zone/南宁高新区) และเขตนิคมอุตสาหกรรมเจียงหนาน (Jiangnan Industrial Zone/江南工业园区) เป็นแกนหลัก (core zone)
- มุ่งพัฒนา “โซ่อุปทานหุ่นยนต์” แบบครบวงจร ตั้งแต่เทคโนโลยีแกนหลัก (Core Technology) ที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเอง อะไหล่ชิ้นส่วนสำคัญ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปชั้นนำ และโซลูชันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (System Solutions) เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของภาคธุรกิจ
- มุ่งพัฒนา “ศูนย์วิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม” (แพลตฟอร์มบริการสาธารณะ) โดยอาศัยภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยหุ่นยนต์ ดำเนินการวิจัยพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ การพิสูจน์รับรอง การบ่มเพาะและพัฒนาผลงานวิจัย รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากร
- ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจที่มีพื้นฐานอุตสาหกรรมแข็งแกร่งในมณฑลเป็น “ตัวนำร่อง” การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะในโรงงานน้ำตาล สิ่งทอ เครื่องจักรกล อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อัลลอยด์และอลูมิเนียมขั้นสูง และวัสดุก่อสร้างและเทคโนโลยีเพื่องานวิศกรรมขั้นสูง
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ เขตฯ กว่างซีจ้วงมีพื้นฐานเป็นมณฑลเกษตรกรรม ภาครัฐกว่างซีกำลังเร่งผลักดันให้มีการนำหุ่นยนต์เครื่องจักรมาใช้ในการเกษตร เพื่อสร้างขนาดและเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยเฉพาะอ้อย มันสำปะหลัง และหม่อนไหม พร้อมกรุยทางเพื่อต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมเกษตรประเภทอื่น
นอกจากนี้ กว่างซีจะพัฒนาโซลูชันสำหรับโรงงานและโกดังสินค้าอัจฉริยะ โดยการพัฒนาระบบหุ่นยนต์เคลื่อนที่ระบุพิกัดอัตโนมัติที่ใช้ในงานโลจิสติกส์ รวมถึงระบบการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในทุกวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) และการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มคลาวด์ ซึ่งมีหุ่นยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์และประเมินผลด้วยตนเองเป็นตัววิเคราะห์และจัดการระยะไกลผ่านระบบออนไลน์
BIC เห็นว่า แนวทางการพัฒนาของกว่างซีข้างต้นมีความคล้ายคลึงกับแนวทางการพัฒนาของประเทศไทยในปัจจุบัน ดังนั้น ไทยและกว่างซีสามารถเรียนรู้กันและกัน รวมทั้งสามารถต่อยอดและขยายความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสหากรรมการผลิต
ลิงก์ข่าว
– หนานหนิงโปรโมท “จงกวนชุน” แพลตฟอร์มธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรมจีน-อาเซียน (08 มิ.ย. 2561)
– ‘Made in China 2025’ พลิกโฉมอุตสาหกรรมจีน จาก “โรงงานโลก” สู่ “ชาตินวัตกรรมระดับโลก” (09 พ.ค. 2561)
– ฉงชิ่ง เดินเครื่องเต็มสูบ สานฝัน “เมืองผลิตหุ่นยนต์เบอร์ 1 ของจีน” (25 ธ.ค. 2560)
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
แหล่งที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (广西中新社) ประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2561
ภาพประกอบ www.pixel.com