สำรวจความนิยมสินค้าข้าวในนครซีอาน
5 Feb 2013หลายท่านกล่าวว่า ประเทศจีนมีประชากรจำนวนมาก จึงจัดเป็นโอกาสสำหรับการขายสินค้าข้าวของไทย ดังเช่นสินค้าการเกษตรอื่นๆของประเทศเรา ในวันนี้ บีไอซี ณ นครซีอาน จึงได้ทำการเก็บข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความนิยมสินค้าข้าว รวมทั้งข้าวไทยและสินค้าอื่นๆ ที่สามารถบริโภคแทนสินค้าข้าวได้ ในพื้นที่ห้างสรรพสินค้าในเมืองของนครซีอาน เพื่อเล่าสู่ท่านผู้สนใจและผู้ประกอบการทราบประกอบการพิจารณาต่อไป
1. ประเพณีการการบริโภคแป้งและข้าวของชาวส่านซี
1.1 ประเพณีการรับประทานสินค้ากลุ่มแป้งในมณฑลส่านซีและนครซีอาน
ชาวซีอานนั้น ตามประเพณีแล้วนิยมทานอาหารที่ทำจากแป้งสาลี อาทิ ขนมปังต่างๆ มีลักษณะแข็งซึ่งวางขายตามร้านอาหารมุสลิม และใช้ประกอบอาหารจานเด่นของส่านซี คือ โร่วเจียโม๋ หรือแฮมเบอร์เกอร์เนื้อแพะ (คล้ายคีบาร์บ แต่ไม่มีซ๊อส) นอกจากนี้ ชาวส่านซียังนิยมบริโภคบะหมี่หลายประเภท มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เส้นบะหมี่จะหนา หรือกว้างกว่าบะหมี่ในปักกิ่ง เป็นต้น
ภาพที่ 1 ตัวอย่างอาหารพื้นเมืองของส่านซี
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน นครซีอานมีร้านอาหารนานาประเภท นอกเหนือจากร้านอาหารท้องถิ่นซึ่งเน้นแป้งและก๋วยเตี๋ยวแล้ว ก็มีร้านอาหารตะวันกตก (พาสต้าและพิซซ่า) ร้านอาหารจีน อาหารกวางตุ้ง ฮ่องกง และอาหารจีนตะวันออก (เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่รับประทานข้าวประเภทกลม Japonica)
1.2 มองตัวเลขการปลูกข้าวของส่านซี
รายงานภาพรวมการเกษตรของส่านซีระบุข้าวในท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักดีคือ ข้าวดำ (Black rice) มักจะปลูกในพื้นที่ทางตอนใต้ของมณฑล ได้แก่ พื้นที่ราบฮ่านฉุ่ยและพื้นที่ใกล้เคียง (โดยทำนาขั้นบันได) ตรงเทือกเขาฉินหลิ่งและเทือกเขาต้าปา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวและต้นเรพซีดของส่านซี และพบอาหารพื้นเมืองบางจานทำจากข้าวเหนียวในท้องถิ่น (ข้าวเหนียวกับพุทราแดง อาหารเช้าของชาวส่านซี) พร้อมกันนี้ปัจจุบันพบการตั้งอุตสาหกรรมทำเส้นก๋วยเตี๋ยวจากข้าวอยู่บ้าง (ซึ่งคุณภาพแตกต่างจากข้าวหอมมะลิไทย) และมีการสนับสนุนการปลูกข้าวแบบออแกนิกบ้าง แต่ในภาพรวมยังคงมีปริมาณน้อย
โดยที่ส่านซีมีประเพณีการปลูกข้าวน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ และเป็นสัดส่วนน้อยกว่าธัญพืชชนิดอื่นๆ สินค้าส่วนใหญ่ได้แก่ แป้งสาลี ข้าวโพด รองมาคือข้าวและถั่วเหลือง (ดูภาพที่ 2 ) จึงเป็นที่น่าศึกษาโอกาสการตลาดของข้าว โดยเฉพาะข้าวไทย ซึ่งมีลักษณะที่พิเศษ มีความหอม และรสชาติที่อร่อย
ภาพที่ 2 ผลผลิตธัญพืชของส่านซี:ที่มา MIN Ancheng & HAN Qinfang (2008)
2. ชาวซีอานตอบรับกระแสข้าวอย่างไรบ้างแล้ว
2.1 ตามดูข้าวไทยในหิ้งซุปเปอร์กลางเมืองซีอาน: ข้าว บะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว ห้างในซีอานขายอะไร?
บีไอซีได้เลือกสำรวจสินค้าข้าวและแป้งประเภทอื่นๆ ที่วางขายในห้าง Metro, Wal-Mart และ Vanguard ซึ่งล้วนเป็นไฮเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนในท้องถิ่น โดยสุ่มสำรวจห้างดังกล่าวในพื้นที่ใจกลางเมือง (หอระฆัง) และเขตฉวี่เจียง (เขตที่อยู่อาศัยระดับสูงในซีอาน) ผลสำรวจมีดังนี้
สินค้าประเภทข้าวสาร มีขายคละกับอาหารประเภทแป้ง หมั่นโถว บะหมี่ ฯลฯ ประมาณร้อยละ 40-50 สินค้าข้าวที่ปะป้ายว่าเป็นข้าวไทย (ส่วนใหญ่จะระบุว่าข้าวหอมไทย หรือข้าวหอมมะลิไทย) เริ่มมีประปราย โดยมียี่ห้อที่มีตรารับรองเป็นข้าวหอมมะลิจากกระทรวงพาณิชย์แล้วบ้าง และมีบางยี่ห้อมีลักษณะบรรจุภัณฑ์ภายในประเทศ หรือในท้องถิ่น ลักษณะข้าวเม็กยาวรี คุณภาพที่สังเกตจากภายนอกแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับราคาด้วย (ดูรูปภาพที่ 3 เฉลี่ยราคาสินค้าข้าว แปะป้ายเป็นข้าวไทยที่พบในนครซีอาน)
ตามข้อมูลประมวลตลาดสินค้าธัญพืชของจีนโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐ (2012) ระบุข้าวในประเทศจีนมีทั้งลักษณะเมล็กกลม (Japonica) และเมล็ดยาวเรียว (Indica ประเภทเดียวกันกับข้าวหอมมะลิและบาสมาติ) แม้ว่าในอดีตการปลูกข้าวในประเทศจะดำเนินได้ดีในข้าว Indica ตอนใต้ของประเทศ แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มของการปลูกและรับประทานข้าว Japonica เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สินค้าข้าวที่วางขายในนครซีอานส่วนใหญ่เป็นข้าวในจีน ส่วนใหญ่เป็นข้าว Japonica โดยระบุแหล่งผลิตจากหลายๆ แห่งในประเทศจีน อาทิ เจียงซู เฮยหลงเจียง พร้อมกันนี้ยังพบข้าวจากมณฑลอื่นๆ อาทิ หูหนาน หนิงเซี่ย เหลียวหนิง เป็นต้น
ราคาของสินค้าพวกแป้ง ข้าว และก๋วยเตี๋ยวมีความแตกต่างกัน โดยเทียบราคาต่อห้ากิโลกรัมได้ดังนี้
ราคาสินค้ากลุ่มแป้งและข้าว
– ข้าวที่แปะป้ายว่าเป็นข้าวไทย อยู่ระหว่าง 55-112 หยวน (ต่อห้ากิโลกรัม)
– ข้าวออแกนิคส์จีน อยู่ที่ราคา 85-100 หยวน (ต่อห้ากิโลกรัม)
– ข้าวอื่นๆ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 20 จนถึง 80 หยวน (ต่อห้ากิโลกรัม)
Range ราคาสินค้า (หยวน) กลุ่มแป้ง ข้าว และก๋วยเตี๋ยวในห้างสรรพสินค้ากลางเมืองนครซีอาน
ราคาต่อ 5 กิโลกรัม (สำรวจเมื่อ ม.ค 2556)
2.2 มาตรฐาน คุณภาพข้าว อีกประเด็นที่ผู้บริโภคใส่ใจ
กระแสมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าอาหารในประเทศจีน เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นประจำ และสม่ำเสมอ ในกรณีของบซีอาน เมื่อปี 2553 พบการรายงานข่าวว่า มีบริษัทในนครซีอานที่ทำการปลอมปนข้าว Wuchang ซึ่งเป็นข้าวหอมมีชื่อ ราคาค่อนข้างสูงของจีน ส่วนใหญ่เพาะปลูกในเจียงซูและหูเป่ย ด้วยการผสมข้าวประเภทอื่นๆ และสารปรุงแต่งลงในข้าวเพื่อจำหน่าย เพื่อให้ข้าวมีความหอม ส่งผลให้มีกระแสความกังวลในการเลือกซื้อข้าวตามมา ปัจจุบัน หน่วยงานในพื้นที่และผู้บริโภคทั้งหลายต่างสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และพยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่ได้คุณภาพ ปลอดภัย และมีมาตรฐานที่ไว้วางใจได้
3. ผลักดันข้าวไทย สู่ตลาดจีนตะวันตกเฉียงเหนือ
3.1 ตรารับรองข้าวหอมมะลิไทย อีกก้าว เพื่อข้าวไทยคุณภาพ
ปัจจุบัน กรมการค้าต่างประเทศได้ทำเครื่องหมายตรารวงข้าว รับรองตราข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคในพื้นที่รู้จักตรารับรองดังกล่าว อันเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการส่งเสริมความมั่นใจของผู้บริโภคในพื้นที่
3.2 ส่งเสริมการรู้จักข้าวไทยในนครซีอาน
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการรู้จักข้าวไทย การบริโภคข้าวไทยเป็นประจำมาโดยตลอดเป็นระยะเวลา 1 ปีกว่าแล้ว โดยร่วมกับห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในนครซีอาน จัดการสาธิตอาหารไทย โดยเน้นการชิมข้าวไทย ซึ่งเสียงตอบรับส่วนใหญ่คือ ข้าวไทยมีความเอร็ดอร่อย และมีผู้บริโภคไม่น้อยที่นิยมทานข้าวเปล่าๆ ไม่ต้องมีกับข้าวรับประทานพร้อมด้วย พร้อมกับเป็นโอกาสแนะนำถึงวิธีการเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ข้าวไทยและตรารับรองข้าวหอมมะลิของไทย
อนึ่ง การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้จักสินค้าข้าวไทย ซึ่งปัจจุบันยังมีศักยภาพในตลาดในจีนตะวันตกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะนครซีอาน ซึ่งนับวันกำลังซื้อของชาวซีอานจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แหล่งข้อมูล
– MIN Ancheng & HAN Qinfang (2008) Situation Analysis of Shaanxi Province: China Climate Change Partnership Framework – Enhanced strategies for climate-proofed and environmentally sound agricultural production in the Yellow River Basin (C-PESAP),Northwest Agriculture and Forestry University Yangling, Shaanxi.
– Zhu Defeng (2000) Bridging The Rice Yield Gap In China.
– Joshua Emmanuel Lagos and Jiang Junyang (2012) Prople’s Republic of China: Grain and Feed Annual 2012, USDA Foreign Service
– Global Times (2010) Fake high quality rice allegedly produced using additives.
– การสำรวจห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาเก็ตโดยบีไอซีซีอาน เมื่อ มกราคม 2556
บทความที่เกี่ยวข้อง
เจาะหนิงเซี่ย:ทิศทางของข้าวหนิงเซี่ยในวันนี้
************
ศูนย์บีไอซี ณ นครซีอาน
นายวีรยศ รุ่งอุดมสินสกุล (บีไอซี) เก็บข้อมูล/ร่าง
น.ส. ธนียา ศรีพัฒนาวัฒน์ เรียบเรียง/แก้