สำนักงาน CIQ ช่วยผู้นำเข้าเรียกร้องค่าชดเชย กรณีศึกษาที่ผู้ประกอบการไทยควรรู้
31 Mar 2014เว็บไซต์ข่าวอ่าวเป่ยปู้ : ช่วงหลายปีมานี้ สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคของกว่างซี หรือ CIQ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าไร้มาตรฐานทะลักเข้าสู่ประเทศ
(20 มี.ค.57) ในระหว่างการตรวจสอบสินค้านำเข้า เจ้าหน้าที่สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคเมืองเป๋ยไห่ (Beihai Entry-Exit Inspection and Quarantine: 北海市检验检疫局) พบปัญหาแร่แมงกานีสที่นำเข้าจากประเทศแอฟริกาใต้
กล่าวคือ น้ำหนักเปียกของสินค้าที่วัดได้มีค่าน้อยกว่าน้ำหนักที่แสดงบนหน้าใบตราส่งสินค้า (B/L) 490 กว่าตัน (อัตราส่วนต่างร้อยละ 12.21) เช่นเดียวกับน้ำหนักแห้งของสินค้าที่วัดได้ก็น้อยกว่าน้ำหนักที่แสดงบนหน้า B/L อยู่ 610 กว่าตัน (อัตราส่วนต่างร้อยละ 15.18) โดยน้ำหนักที่ขาดหายไปคิดเป็นมูลค่าสินค้า 1.02 แสนดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจุบัน สำนักงาน CIQ เมืองเป๋ยไห่ได้แจ้งเรื่องกับผู้นำเข้า พร้อมกับออกใบรับรองน้ำหนักสินค้า (Certificate of Weight) ให้ผู้นำเข้านำไปใช้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องค่าชดเชยจากฝ่ายผู้ส่งออกในต่างประเทศ
ท่าเทียบเรือสือปู้หลิ่ง (Shibuling Dock, 石步岭码头) เป็นหนึ่งใน 4 เขตท่าเทียบเรือของเมืองเป๋ยไห่ ใช้สำหรับเทียบเรือสำราญและท่าเรือขนส่งสินค้าเป็นหลัก
ตามรายงาน นับตั้งแต่ต้นปีมานี้ มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สินแร่ผ่านท่าเทียบเรือแห่งนี้แล้วจำนวน 18 ล็อต มูลค่าสินค้า 89.979 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในจำนวนนี้ เป็นสินค้าที่มีปัญหา จำนวน 6 ล็อต (คิดเป็น 1/3 ของล็อตสินค้านำเข้าทั้งหมด)มูลค่าสินค้า 26.944 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลัก ๆ เป็นปัญหาเรื่องสินค้าไม่ครบตามจำนวนและสินค้าไม่ได้คุณภาพตามข้อกำหนด (Specification)
เรื่องฝากจาก BIC –โครงสร้างการค้าระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนมากขึ้นส่งผลให้เกิดประเด็นข้อพิพาททางการค้ามากขึ้นตามไปด้วย
BIC ขอแนะนำว่า ผู้ค้าไทยควรมีการทำสัญญาซื้อขายที่เป็นกิจลักษณะ เพราะหากเกิดกรณีพิพาททางการค้าแล้ว “สัญญาการค้า” ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการฟ้องร้องทางกฎหมายหรือการหาตัวกลางในการระงับข้อพิพาท
นอกจากนี้ ควรมีการตรวจสอบสินค้า ณ ท่าเรือต้นทาง (ซึ่งอาจใช้บริการจากบริษัท Surveyer ในท้องถิ่น) ก่อนการส่ง-รับมอบสินค้าและชำระค่าสินค้าทั้งหมด เพราะหากเกิดกรณีสินค้ามีปัญหา คู่ค้าจีนมักใช้เทคนิคเตะถ่วงหนี้ ทำให้ผู้เสียหายต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี
หากประสบปัญหาฉ้อโกงแล้ว คุณควรทำอย่างไร?
1. แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ณ ด่านศุลกากรทันที เพื่อลงบันทึกปัญหาในชั้นต้น
2. ติดต่อหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้าภาครัฐหรือภาคเอกชนให้ตรงสาขา (เช่น บริษัท C.C.I.C, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สำนักงานมาตฐานสินค้านำเข้าส่งออก) เพื่อเก็บข้อมูลของสินค้าโดยละเอียดสำหรับใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องดำเนินคดี
3. แจ้งความกับสถานีตำรวจท้องถิ่น
4. ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทยและจีน เพื่อขอรับคำแนะนำหรือความช่วยเหลือ อาทิสถานเอกอัคราชทูตหรือสถานกงสุล สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (China Council for the Promotion of International Trade: CCPIT, 中国国际贸易促进委员会)
ลิงค์ที่น่าสนใจ
– เทคนิค 4 "อย่า" ค้าขายกับคนจีนอย่างไรไม่ให้โดนหลอก (27 ก.พ. 2556)